องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

โรคพืชผักที่ควรรู้ต้องระวังในฤดูฝน

การปลูกพืชในฤดูฝน เป็นระยะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราศัตรูพืชต่างๆ การจัดการแปลงปลูก การดูแลพืชผักในฤดูฝนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรมีการวางแผนที่ดี เพื่อสกัดและป้องกันโรคที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่มีแสงแดดจำกัด (ฟ้าปิด) ทำให้พืชสังเคราะห์แสงหรือสร้างอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้พืชอ่อนแอและโรคเข้าทำลายได้ง่าย หากฝนตกหนักติดต่อกันเกินกว่า 2-3 วัน พืชผักสามารถเกิดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายและมีการระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยโรคที่สำคัญในฤดูฝน ได้แก่ โรคใบจุดตากบ โรคใบจุด โรคราน้ำค้างและโรคเน่าคอดิน เป็นต้น ดังนั้นควรรู้จักลักษณะและวิธีการป้องกันโรคที่พบในช่วงฤดูฝนเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพืชได้

1.โรคใบจุดตากบ (Cercospora Leaf Spot)  เกิดจากเชื้อราชั้นสูง Cercospora sp. เข้าทำลายพืชทุกระยะการเจริญเติบโต ในสภาวะอากาศอบอุ่นชื้น ซึ่งเป็นปัญหากับเกษตรกรที่ปลูกพืชผักหลายชนิด เช่น พืชในตระกูลสลัด ได้แก่ คอส เบบี้คอส บัตเตอร์เฮด ผักกาดหอมห่อ เป็นต้น 

ลักษณะอาการ แผลเป็นจุดจุดฉ่ำน้ำสีน้ำตาลอ่อนบนใบพืชจะมีรูปร่างค่อนข้างกลม ขนาด 1-5 มิลลิเมตร เนื้อเยื้อกลางแผลจะมีสีขาวหรือเทา กลางแผลจะมีเชื้อราสีเทาดำ ใบจะเหลืองทั้งใบ แผลที่ลำต้นและกิ่งมีลักษณะเป็นแผลยาวสีน้ำตาลเข้ม-ดำ

วิธีการป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดและปลอดโรค หรือกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดด้วยการแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา

2. ปลูกพืชหมุนเวียน และกำจัดวัชพืชและเศษซากพืชที่เป็นโรคหลังการเก็บเกี่ยว

3. ไถตากดิน และควรไถพลิกหน้าดิน 2-3 ครั้ง ช่วยลดการสะสมของโรค

5. จัดการแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรมีอากาศถ่ายเท

5. ใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่น เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (พีพี-ไตรโค) หรือเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทีลีส

(พีพี-บีเค 33, ลาร์มิน่า)

6. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบการระบาดของโรคใช้สารเคมี เช่น คลอโรธาโลนิลหรือ โพรคลอราช พ่นสลับ กับไดฟีโนโคนาโซล หรือ ไพราโคลสโตรบิน หรือ เบโนมิล หรือสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์

2.โรคใบจุด (Alternaria leaf spot) มีสาเหตุมาจากเชื้อรา Alternaria brassicae. มักทำให้เกิดความเสียหายให้กับพืชตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ คะน้า ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี เป็นต้น สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงหรือสภาพอากาศร้อนชื้น ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อสาเหตุ

ลักษณะอาการที่ใบเกิดเป็นจุดเล็กและขยายเป็นวงกลมสีน้ำตาลทับซ้อนกันในเวลาต่อมา บริเวณเนื้อเยื่อขอบแผลมีสีเหลืองอ่อน แผลมีทั้งเล็กและใหญ่ ต่อมาแผลขยายชั้นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ

วิธีการป้องกันกำจัด

1. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดและปลอดโรค หรือกำจัดเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดด้วยการแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา

2. เมื่อพบต้นพืชที่เกิดโรคให้ถอนทิ้งนอกแปลง และกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกช่วยลดการสะสมของโรค

3. ปลูกพืชหมุนเวียนกับพืชตระกูลอื่นๆ

4. ใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่น เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (พีพี-ไตรโค) หรือเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทีลีส

(พีพี-บีเค 33, ลาร์มิน่า)

5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอหากพบการระบาดของโรคใช้สารเคมี เช่น คลอโรธาโลนิลหรือ โพรคลอราช พ่นสลับ กับไดฟีโนโคนาโซล หรือ ไพราโคลสโตรบิน หรือ เบโนมิล

3.  โรคเน่าคอดิน (Damping off) สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Pythium sp. หรือ Phytophthora sp. สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ (Brassicaceae) เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหามักเกิดขึ้นในระยะต้นกล้าในแปลงปลูกหากมีน้ำขังจะเกิดอาการฉ่ำน้ำสีน้ำตาลบริเวณโคนต้นที่ติดกับผิวดิน ทำให้เน่าตายและหัก ล้มก่อนจะแตกใบจริง ถ้าในแปลงมีเชื้อโรคแล้ว

ลักษณะอาการ ต้นกล้าจะเกิดอาการเป็นแผลช้าที่โคนต้นระดับดิน เนื้อเยื่อตรงแผลจะเน่าและแห้ง ถ้าถูกแสงแดดทำให้ต้นกล้าหักพับ ต้นเหี่ยวแห้งตายในเวลารวดเร็ว

วิธีการป้องกันกำจัด

1. ใช้วัสดุเพาะกล้าที่ปลอดเชื้อ

2. เตรียมดินสำหรับปลูกอย่างดี ขุดดินตากแดด ใช้เชื้อเชื้อราไตรโคเดอร์มารองก้นหลุมก่อนปลูก

2. เตรียมแปลงให้มีการระบายน้ำดี อย่าให้น้ำขังแฉะในแปลง ไม่ควรให้น้ำมากเกินไปในช่วงอากาศชื้น

มีฝนตก

3. สำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบต้นกล้าที่เป็นโรคให้ถอนและนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที

3. ฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นประจำ เพื่อป้องกันโรคน็นปรปำ

4. หากพบการระบาดใช้สารเคมี เช่น คาร์เบนดาซิม หรือ เบโนมิล หรือ อีทริไดอะโซล หรือ อีทรีไดอะโซล+ควินโทซีน หรือไทโอฟาเนต-เมทิล เลือกใช้อย่างหนึ่งอย่างใด สลับกับ แคปแทน

4. โรคราน้ำค้าง (Downy mildew) มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Peronospora parasitica เข้าทำลายพืชทุกระยะการเจริญเติบโตในสภาวะอากาศเย็นชื้น

ลักษณะอาการ ใบจะเป็นจุดละเอียดสีดำอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ด้านใต้ใบ ตรงจุดเหล่านี้จะมีราสีขาวอมเทาอ่อนคล้ายผงแป้งขึ้นเป็นกลุ่มๆ กระจายทั่วไป ใบที่อยู่ตอนล่างๆ จะมีแผลเกิดก่อนแล้วลุกลามขึ้นไปยังใบที่อยู่สูงกว่า ใบที่มีเชื้อราขึ้นเป็นกลุ่มกระจายเต็มใบจะมีลักษณะเหลืองและใบจะร่วงหรือแห้ง ในเวลาที่อากาศไม่ชื้นจะไม่พบผงแป้งและแผลแห้งเป็นสีเทาดำ ระบาดได้ทั้งแต่ระยะที่เป็นต้นกล้าจนเจริญเติบโตเต็มที่ ซึ่งจะทำความเสียหายมากเพราะทำให้ใบเสียมาก ทำให้ใบสังเคราะห์แสงได้น้อยลง และเจริญเติบโตช้า โรคนี้ไม่ทำให้ต้นตาย แต่ทำให้น้ำหนักผลผลิตลดลง เพราะต้องตัดใบที่เป็นโรคทิ้ง

วิธีการป้องกันกำจัด

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดและปลอดโรค หรือคลุกเมล็ดด้วยเมทาแลกซิล-เอ็ม ก่อนปลูก หรือการแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา

2. ควรปลูกพืชให้มีระยะห่างพอสมควรอย่าให้แน่นเกินไป

3. กำจัดต้นหรือส่วนของพืชที่เป็นโรคออกจากแปลง แล้วนำไป เผาทำลาย

ฉีดพ่นด้วยสารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา สลับกับ บีเค 33 ซึ่งใช้ได้ระยะที่ยังเป็นต้นกล้าถึงระยะการเติบโต

4. ใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่น เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (พีพี-ไตรโค) หรือเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ซับทีลีส (พีพี-บีเค 33, ลาร์มิน่า) เป็นประจำ

5. หากพบการระบาดใช้สารเคมี เช่น ไดเมทโธมอร์ฟ หรือ ฟอสอิทิล อะลูมิเนียม หรือ เมทาแลกซิล- พืชทุกระ เอ็ม+แมนโคเซบ หรือ ไซมอกซานิล+ฟามอกซาโดน หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท อีทาบ็อกแซม สลับกับสารเคมีประเภทสัมผัส เช่น โพรปิเนบ หรือ แมนโคเซบ

เอกสารอ้างอิง

  • ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยมูลนิธิโครงการหลวง ได้แก่ พีพี-ไตรโค พีพี-บีเค 33 ผลิตโดย โรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง
  • ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง. 2561. คลินิกพืช. ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 349 น.
  • ศูนย์อารักขาพืช มูลนิธิโครงการหลวง. 2566. เอกสารวิชาการเกษตร คำแนะนำการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในมูลนิธิโครงการหลวง ปี พ.ศ. 2566 (PPC01-14). แผนกอารักขาพืช ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา มูลนิธิโครงการหลวง. 90 น.
  • เพชรดา อยู่สุข. 2566. คู่มือการปลูกผักอินทรีย์. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน). 95 น.
  • พรพิมล อธิปัญญาคม. 2552. คู่มือโรคผัก. สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร

 

เขียน/ เรียบเรียงเรื่อง โดย นายณัฐพล กามล นางสาวกฤติยาณี วรรณภิระ และนางสาววรัญญา บุญเรือง

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์ โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน