องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

โลกร้อนแรง แมลงวันแตงพร้อมบิน

โลกยุคปัจจุบัน....เปลี่ยนไป หลายคนเรียกว่า “โลกเดือด” ปรากฏการณ์นี้พบบ่อยและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ฤดูหนาวสั้นลงและฤดูร้อนยาวนานกว่าเดิมซึ่งเอื้อต่อการระบาดของแมลงศัตรูพืชทุกชนิด ไม่เว้นแม้กระทั่ง “แมลงวันแตง” สืบเนื่องจากอุณหภูมิสูงช่วยเร่งอัตราการเผาพลาญอาหาร เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและการผสมพันธุ์ รวมถึงเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดระหว่างช่วงฤดูหนาว หากเกษตรกรไม่สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ทันเวลา ผลผลิตอาจได้รับความเสียหายถึงระดับเศรษฐกิจ สิ่งที่ตามมาคือ ความเสี่ยงที่จะขาดทุน และเป็นหนี้สิน

แมลงวันแตง (Melon fly) Bactrocera cucurbitae (Coquillet) จัดอยู่ในกลุ่มแมลงศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับผลไม้มากกว่า 125 ชนิด มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่พบการระบาดมากในทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทยพบได้ทุกภาคที่มีการปลูกพืชตระกูลแตง (Cucurbitaceae) เช่น แตงโม แตงกวา แคนตาลูป เมลอน ฟักทอง มะระ และบวบ ลักษณะเฉพาะของแมลงวันแตงที่สังเกตได้ง่ายและแตกต่างกับแมลงวันผลไม้ชนิดอื่น คือ บริเวณปลายปีกมีจุดสีเข้ม 2 จุด สำหรับรูปแบบการเข้าทำลาย เพศเมียจะแทงอวัยวะวางไข่ (ovipositor) ตำแหน่งปลายส่วนท้องซึ่งมีลักษณะแหลมและแข็งแรงเพื่อวางไข่บนผิวเนื้อเยื่อพืช ไข่ฟักตัวเป็นหนอนภายใน 1-2 วัน จากนั้นหนอนกินเนื้อผลภายในเป็นอาหาร ระยะตัวหนอนใช้เวลา 4-17 วัน เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะดีดตัวออกจากผลพืชที่อาศัยและทิ้งตัวลงดินเพื่อพัฒนาเป็นดักแด้ ระยะดักแด้ใช้เวลา 7-13 วัน ก่อนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 5 เดือน และเริ่มผสมพันธุ์หลังออกจากดักแด้ 10-12 วัน ซึ่งเพศเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วตลอดอายุขัยสามารถวางไข่ได้มากกว่า 1,000 ฟอง จากข้อมูลข้างต้นหลายประเทศจึงมีมาตรการกักกันพืชและการส่งออกผลผลิตอย่างเข้มงวด เช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา กล่าวได้ว่าแมลงวันแตงเป็นศัตรูพืชที่เกษตรกรต้องระมัดระวังอย่างมาก ขณะเดียวกันจำเป็นต้องเลือกวิธีป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย

กำจัดตัวแม่ เป็นระยะที่ให้ผลดีที่สุดสำหรับจัดการกับแมลงวันแตง ศัตรูตัวฉกาจของพืชตระกูลแตงช่วงฤดูร้อน เนื่องจากระยะหนอนเจริญเติบโตอยู่ภายในผลและระยะดักแด้อยู่ในดินซึ่งยากที่จะกำจัดได้ ขั้นตอนประกอบด้วย

1.   ดูแลรักษาแปลงปลูกให้สะอาด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และเก็บผลผลิตที่ถูกเข้าทำลายไปฝังกลบในดินลึกอย่างน้อย 15 ซม. เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์

2.   ห่อผลป้องกันการวางไข่ด้วยถุงที่ทำจากกระดาษ ผ้าสปันบอนด์ หรือพลาสติก โดยเริ่มห่อตั้งแต่ผลยังมีขนาดเล็ก

3.   ตรวจสอบตัวเต็มวัยภายในแปลงปลูกด้วยการติดตั้งกับดักสารล่อแมลง คิวลัว (cue-lure) ที่ผสมสารเคมีมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 1 : 1 โดยปริมาตร ซึ่งใช้ก้อนสำลีชุบสารและแขวนในกล่องดักแมลงวันผลไม้ 8 กับดักต่อพื้นที่ 1 ไร่ นับจำนวนแมลงวันแตงทุก 7 วัน (ปริมาณเฉลี่ย/กับดัก/วัน) และดำเนินการ ดังนี้

1)   พ่นสารเคมีช่วงเช้าและใช้หัวพ่นฝอยละเอียด ตัวอย่างสารเคมี เช่น มาลาไทออน 57% และ 83% อีซี หรือไดเมโทเอต 40% ดับบลิวเอสซี หรือพ่นเหยื่อพิษ (ผสมยีสต์โปรตีน 200 มิลลิลิตร และสารเคมี 57% อีซี มาลาไทออน 40 มิลลิลิตร ในน้ำ 5 ลิตร) แบ่งเป็น (1) จำนวนมากกว่า 10 ตัว พ่นทุก 3 วัน (2) จำนวน 4-9 ตัว พ่นทุก 5 วัน และ (3) จำนวนไม่เกิน 3 ตัว พ่นทุก 7 วัน

2) ฉีดพ่นชีวภัณฑ์ เช่น ราบิวเวอเรีย ราเมตาไรเซียม ไส้เดือนฝอยกำจัดหนอนในดิน รวมถึงน้ำมันปิโตรเลียมหรือสารสกัดสมุนไพรไล่แมลงวันแตง เช่น สะเดา ตะไคร้หอม หากพบแมลงวันแตงเท่ากับ 1 ตัว

ท้าให้ลอง “ฟีโรแมลงวันแตง” ผลิตภัณฑ์ใหม่จากผลงานวิจัยที่มีกลิ่นดึงดูดแมลงวันแตง แมลงวันทอง และแมลงวันฝรั่ง แต่ต้องใช้ร่วมกับกับดักแมลงวันผลไม้สำเร็จรูปที่จำหน่ายทั่วไป แผ่นกาวเหนียวดักแมลง หรือกับดักขวดพลาสติกอย่างง่าย วิธีใช้ฟีโรโมนนี้ คือ หยดสารล่อดึงดูดลงในไส้ยาดม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ยาว 2 เซนติเมตร จากนั้นนำไส้ยาดมไปแขวนในกับดักที่ติดตั้งบริเวณแปลงปลูกพืช ระยะห่างต่อกับดัก 8 เมตร หรือไม่เกิน 12 เมตร ซึ่งสารล่อดึงดูดออกฤทธิ์ได้นาน 5 สัปดาห์ (35 วัน) โดยแมลงวันแตงจะเข้าทางช่องด้านล่างของขวดและบินเข้าไปติดอยู่ภายใน ออกมาไม่ได้ สนใจสินค้าติดต่อโรงชีวภัณฑ์ มูลนิธิโครงการหลวง 243/8 หมู่ 3 ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50100 เบอร์โทรศัพท์และโทรสาร 0 5311 4218 หรือร้านค้าออนไลน์ เช่น Lazada Shopee Line shopping เริ่มวางจำหน่ายภายในเดือนมิถุนายน 2567 เป็นต้นไป


แหล่งที่มาของเนื้อหา (ถ้ามี) :

1. รายงานฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กับดักสารล่อเพื่อควบคุมแมลงวันแตง Bactrocera cucurbitae บนพื้นที่สูง จิราพร กุลสาริน อภิวัฒน์ ธีรวุฒิกุลรักษ์ และ รัชณีภรณ์ อิ่นคำ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) 2558

2. https://trat.doae.go.th/web/data/warn/warn361.pdf?filename=index

3. https://kjna.ubru.ac.th/j_files/document/J1706497486.pdf

4. https://ph02.tci-thaijo.org/index.php/tsujournal/article/view/68439/55719

5. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/874979

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.sansfly.com/2019/07/


องค์ความรู้งานวิจัยโดย นางสาวสุมาลี เม่นสิน และนายกวีวัฒน์ บุญคาน นักวิจัย สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน