องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ไส้เดือนฝอยรากปมศัตรูร้ายของผลผลิตเมล่อนบนพื้นที่สูง

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้มีการส่งเสริมการปลูกเมล่อนในระบบบโรงเรือน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ โดยเกษตรกรได้ปลูกเมล่อนพันธุ์บารมี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีความทนต่อสภาพอากาศในเขตร้อนได้ดี ให้ผลตอบแทนสูง ใช้ระยะเวลาในการปลูกสั้น และคุ้มค่าต่อการลงทุน ปัจจุบันเกษตรกรปลูกทั้งที่ปลูกใน substrate culture และลงปลูกลงดินโดยตรง ในช่วงปี พ.ศ. 2564 เกษตรกรที่ปลูกเมล่อนลงดินนั้น เริ่มพบปัญหาการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne spp.) โดยเมล่อนแสดงอาการเหี่ยวกระทันหัน ช่วงทำหวาน และใกล้เก็บเกี่ยว ซึ่งเกษตรกรจะงดการใช้สารเคมี 10-15 วัน เมล่อนบริเวณลำต้นและใบยังคงเขียว เมื่อถอนต้นทิ้งจึงพบไส้เดือนฝอยอาศัยอยู่บริเวณราก (Plant Parasitic Nematodes) โดยไส้เดือนฝอยจะดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชบริเวณท่อน้ำ – ท่ออาหาร ทำให้เซลล์พืชบริเวณที่ถูกทำลายมีการแบ่งตัวผิดปกติ เกิดเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ (Giant cell) เกิดเป็นปุ่มปมจำนวนมากที่รากพืช โดยไปปิดกั้นทางเดินน้ำและธาตุอาหาร ส่งผลให้พืชแสดงอาการเหี่ยว แคระแกรน เหลืองโทรม และแห้งตาย (ภาพที่ 1)  

เกษตรกรประสบปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงของของไส้เดือนฝอยรากปมช่วงติดผลแก่-ใกล้เก็บเกี่ยว ทำให้ต้นเมล่อนมีอัตราการตายสูงถึง 40% บางต้นไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เนื่องจากร่วงหล่นก่อนการทำหวาน ในการจัดการเบื้องต้นได้ทำการถอนต้นทิ้ง และใช้สารเคมีกลุ่ม Neonicotinoid (สตาร์เกิ้ล-จี®) โรยบริเวณหลุมที่ขุดต้นออก ในอัตรา 1 กรัม/ต้น หรือใช้โดโลไมท์ผสมปุ๋ยยูเรียในอัตรา 100 กรัม : 1 กรัม (สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช, 2561) ซึ่งเป็นการแก้ไขสถาณการณ์เบื้องต้นเท่านั้น 

เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี Neonothopanus nambi (Speg.) R.H. Petersen & Krisai ค้นพบครั้งแรกในประเทศไทย โดย ดร.วีระศักดิ์ และคณะ ในปี 2544 ในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่โคกภูตากา อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น มีลักษณะคล้ายเห็ดนางรมแต่จัดเป็นเห็ดพิษ ในสภาพกลางวัน ก้าน ครีบและดอกมีสีขาว แต่เมื่อสภาพกลางคืน ดอกเห็ดจะเปล่งแสงสีเขียวอมเหลือง เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุ ดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานโครงการ อพ.สธ. ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเห็ดเรืองแสงชนิดนี้ว่ “สิรินรัศมี” เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ได้มีการสำรวจพบ และมีการศึกษาวิจัยถึงการบ่งชี้และการนำไปใช้ประโชยน์ โดยเฉพาะด้านการเกษตร และการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการสนองพระราชดำริโครงการ อพ.สธ. ในด้านปกปักพันธุกรรมพืชและการใช้ประโยชน์ (กรมวิชาการเกษตร, 2563)

คุณสมบัติของเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี โดยได้พบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ที่มีผลต่อการตายของไส้เดือนฝอยรากปม มีผลต่อการตายของตัวอ่อนระยะที่ 2 (J2) ของไส้เดือนฝอยรากม ซึ่งถือว่าเป็นระยะที่สำคัญที่ก่อให้พืชเป็นโรค ที่ระดับความเข้มข้น 500 มิลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร โดยสารออกฤทธิ์ดังกล่าวคือสาร aurisin A โดยสารนี้จะไปมีผลต่อระบบประสาทของไส้เดือนฝอยทำให้ไส้เดือนฝอยไม่สามารถเคลื่อนที่ และตายไปในที่สุด นอกจากนี้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ไอโซเลต PW2 มีคุณสมบัติในการกระตุ้นความต้านทานของพืชต่อโรครากปม และยังมีสารบางชนิดมีผลร่วมกันในการทำลายผนังของไข่ หรือผนังของลำตัวของตัวอ่อนและตัวเต็มวัยได้อีกด้วย (สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช, 2561)

ดังนั้นเพื่อป้องกันการระบาดลุกลามไปยังแปลงหรือพื้นที่อื่นในการปลูกระยะต่อไป จึงได้ทดสอบหาวิธีการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม โดยปลูกเมล่อนพันธุ์บารมี ภายใต้ระบบโรงเรือน smart farming ของโครงการฯ ห้วยเป้า จำนวน 1 โรงเรือน ขนาดโรงเรือน 10 x 24 เมตร จำนวน 400 ต้น โดยได้วางแผนการทดสอบวิธีการจัดการโดยคัดเลือกสารเคมี ชีวภัณฑ์ อัตราและวิธีการใช้ รวมทั้งการจัดการดินที่ดี เพื่อให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม โดยผลการผลการทดสอบ พบว่า การใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงรัศมีผสมในวัสดุเพาะกล้า ในอัตรา 500 กรัม (1 ก้อนเชื้อเห็ดสด) ต่อวัสดุเพาะกล้า 2 กิโลกรัม นำไปเพาะกล้าก่อนการย้ายปลูกลงดิน มีผลทำให้มีประสิทธิภาพการป้องกันไส้เดือนผอยรากปมมากที่สุด 98.74 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาได้แก่ การใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสง รัศมี และชีวภัณฑ์เชื้อ Paecilomyces lilacinus ชีวภัณฑ์ทางการค้า ไลซินัส® โดยทั้ง 2 ชีวภัณฑ์ ใช้รองก้นหลุม อัตรา 30 กรัม/ต้น และใส่ตามช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืช หรือทุกๆ 30 วัน มีประสิทธิภาพเท่ากับ 94.85 และ 95.11 ตามลำดับ 

ข้อแนะนำ

1. นำพืชที่เป็นโรคออกจากแปลงให้ทำลาย หรือ การกำจัดวัชพืชทิ้ง

2. ฆ่าเชื้อในดินด้วยวิธี Anaerobic soil disinfestation (ASD) ซึ่งจะทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 10-20 C มีผลทำให้แมลงในดินตายได้ (อรอุมา และคณะ, 2567)

3. เพิ่มอินทรียวัตถุในดินเพื่อเพิ่มศัตรูธรรมชาติของไส้เดือนฝอย ปรับ PH ของดินให้เหมาะสม เท่ากับ 6.6

4. การควบคุมโดยชีววิธี เช่น เชื้อราปฏิปักษ์ Paecilomyces lilacinus (Thom.)

5. การใช้เชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี อัตรา 30 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก และใส่เพิ่มในแต่ละระยะการเจริญเติบโตของพืช

6. สารเคมี เช่น abamectin 1.8% EC อัตรา 30มล. / น้ำ 20 ลิตร, carbosulfan 20 % EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร และ fipronil 5% SC อัตรา 40 มล. / น้ำ 20 ลิตร


เอกสารอ้างอิง

กรมวิชาการเกษตร. 2563. การผลิตและการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในการควบคุมโรคพืชในพื้นที่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง. กลุ่มวิชาการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 กรมวิชาการเกษตร. 28 หน้า

สุรีย์พร บัวอาจ, บุษราคัม อดุมศักดิ์, ไตรเดช ข่ายทอง, รุ่งนภา คงสุวรรณ์ และพเยาว์ พรหมพันธุ์ใจ. 2560. การใช้ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง Neonothopanus nambi ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปม Meloidogyne incognita Chitwood ในพริก. กลุ่มวิจัยโรคพืช สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชและสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4. กรมวิชาการเกษตร.กทม.

สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร.2561. ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเพื่อเกษตรที่ยั่งยืน. สํานักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กทม. 54 หน้า


องค์ความรู้งานวิจัยโดย ธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล1* พิชญา สล่าเหน่2 พรพรรณ ทองสุทธิศิริพร หัสสรังสี4 สุทธินี ลิขิตตระกูลรุ่ง4

เขียนและเรียบเรียงโดย ธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล 

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน

 

1 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เลขที่ 65 หมู่ 1 ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200

2 โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

3 ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ (เกษตรที่สูง) เลขที่ 118/1 หมู่ 5 ถ.เชียงใหม่-หางดง ต.แม่เหียะ

 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100

4 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 เลขที่ 225 หมู่ 3 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50100