องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

S-ABA ฮอร์โมนเปลี่ยนสีและเพิ่มการสะสมน้ำตาลในองุ่น

S-ABA (S-abscisic acid) คือ ฮอร์โมนพืชที่เป็นกรดแอบไซซิกรูปแบบหนึ่ง มีบทบาทในการควบคุมการเจริญเติบโต การพัฒนา และการตอบสนองต่อความเครียดของพืช ดังนี้

1. ยับยั้งการเจริญเติบโต: S-ABA สามารถยับยั้งการยืดและขยายขนาดของผนังเซลล์ และยับยั้งการแบ่งเซลล์ จึงมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่นการยับยั้งการแตกใบอ่อนของไม้ผลในช่วงออกดอกและติดผล

2. การตอบสนองต่อความเครียด: S-ABA ก็เหมือนกับกรดแอบไซซิกรูปแบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของพืชต่อความเครียดจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ เช่น ความแห้งแล้ง ความเค็ม อุณหภูมิที่สูงมาก และการเข้าทำลายของโรค ช่วยให้พืชปรับตัวเข้ากับสภาวะที่ไม่เอื้ออำนวยโดยการปิดปากใบ

3. การพักตัวของเมล็ดและตา: S-ABA มีบทบาทในการกระตุ้นการสะสมโปรตีนของเอมบริโอ ยับยั้งการทำงานของจิบเบอเรลลินเพื่อป้องกันการงอกของเมล็ดก่อนเวลาที่เหมาะสม และชักนำการพักตัวของตาในพืชเขตหนาว

4. การหลุดร่วงของพืชและการสุกของผลไม้: S-ABA มีบทบาทในการกระตุ้นให้พืชสร้างเอทิลีนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการหลุดร่วงของใบ ดอก และกระบวนการสุกแก่ของผล โดยในระหว่างการพัฒนาของผลพบการเพิ่มขึ้นของ ABA ก่อนผลไม้สุก S-ABA ส่งเสริมการย่อยสลายคลอโรฟิลล์ กระตุ้นการสะสมแอนโทไซยานิน ฟลาโวนอย และยังช่วยส่งเสริมการสะสมน้ำตาลอีกด้วย 

จะเห็นได้ว่า S-ABA มีบทบาทสำคัญต่อพืชเป็นอย่างมากจึงมีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อปรับการตอบสนองของพืชต่อความเครียดและเพิ่มผลผลิตพืชภายใต้สภาวะที่ท้าทาย อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ S-ABA จะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ระยะการพัฒนา สภาพแวดล้อม และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาให้ครอบคลุมมากขึ้น

S-ABA กับการผลิตองุ่นคุณภาพ

การปลูกองุ่นในประเทศไทยโดยเฉพาะพันธุ์องุ่นที่มีสีแดงและสีดำมักพบปัญหาสีผิวผลไม่สม่ำเสมอทั้งช่อ และความหวานไม่ได้มาตรฐานตรงตามพันธุ์ ซึ่งในต่างประเทศมีการใช้ S-ABA เพื่อเพิ่มสีของผิวผลองุ่น และยังช่วยส่งเสริมการสะสมน้ำตาล ปริมาณแอนโธไซยานินและฟลาโวนอยของผิวผลองุ่นเพิ่มขึ้นด้วย โดยใช้อัตรา 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ในระยะหลังผลเริ่มเปลี่ยนสี 1-4 สัปดาห์ สำหรับประเทศไทยมีรายงานการใช้ S-ABA ความเข้มข้น 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ฉีดพ่นที่ช่อผล ในระยะผลเริ่มเปลี่ยนสี 10 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 2 ครั้งห่างกัน 10 วัน ทดลองกับองุ่นพันธุ์สกาล๊อตต้าซีดเลส (ผิวผลสีแดง) พบว่าองุ่นพันธุ์สกาล๊อตต้าซีดเลสมีค่า C* (ค่าความเข้มของสี) ค่า h◦ (เข้าใกล้ 0 เป็นสีแดง) และปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) แตกต่างกันทางสถิติ โดยการใช้ S-ABA มีค่า C* (13.03) และค่า h◦ (60.67) น้อยกว่าการไม่ใช้ S-ABA แต่มีปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) (20.50 เปอร์เซ็นต์บริกซ์) มากกว่าการไม่ใช้ S-ABA (ตารางที่ 1) นอกจากนี้ยังมีการฉีดพ่น S-ABA ที่กิ่งและใบองุ่นในระยะสะสมอาหารหรือหลังเก็บผลผลิตเพื่อยับยั้งการแตกยอดใหม่อีกด้วย 

อ้างอิง

ปัณชพัฒน์ แจ่มเกิด, อัจฉรา ภาวศุทธิ์, ธีรนาฎ ศักดิ์ปรีชากุล, สุชาดา ธิชูโต, คมสันต์ อุตมา และ ณิชากร จันเสวี. 2565. รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยย่อยที่ 2 การวิจัยพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจแบบประณีตบนพื้นที่สูง โครงการย่อยภายใต้โครงการวิจัยการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าที่เหมาะสมกับภาพแวดล้อมของพื้นที่สูง. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน), เชียงใหม่. 71 หน้า.

Ferrara, G., A. Mazzeo, A.M.S. Matarrese, C. Pacucci, A. Pacifico,, G. Gambacorta, M. Faccia, A. Trani, V. Gallo, I. Cafagna and P. Mastrorilli. 2013. Application of abscisic acid (S-ABA) to 'Crimson Seedless' grape berries in a Mediterranean climate: Effects on color, Chemical Characteristics, Metabolic Profile and S-ABA Concentration. J. Plant Growth Regul. 32:491-505

Gupta K, Wani SH, Razzaq A, Skalicky M, Samantara K, Gupta S, Pandita D, Goel S, Grewal S, Hejnak V, Shiv A, El-Sabrout AM, Elansary HO, Alaklabi A, Brestic M. Abscisic Acid: Role in Fruit Development and Ripening. Front Plant Sci. 2022 May 10;13:817500. doi: 10.3389/fpls.2022.817500. PMID: 35620694; PMCID: PMC9127668.

Sandhu, A. K., D. J. Gray, J. Lu and L. Gu. 2011. Effects of exogenous abscisic acid on antioxidant capacities, anthocyanins and flavonol contents of muscadine grape (Vitis rotundifolia) skins. Food Chem. 126:982-988


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : นางสาวปัณชพัฒน์ แจ่มเกิด สำนักวิจัย สวพส.

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน