องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

นวัตกรรมเกษตร...ก้าวกระโดดของเกษตรโลก

หากพูดถึงเทรนด์ของโลกในช่วง 3-4 ปี มานี้ “เทคโนโลยีดิจิตัล” และ “นวัตกรรมเกษตร” เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เกษตรกรสมัยใหม่เรียนรู้การนำเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ นวัตกรรมเกษตรไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ช่วยลดต้นทุนและลดการสูญเสียเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาอาชีพภาคเกษตรของชุมชนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จึงเป็นอีกแนวทางที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรได้ ตัวอย่างนวัตกรรมเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ 

  • เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร เป็นการนำความรู้วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพืช สัตว์ และจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้ลักษณะตามต้องการ เช่น ทนโรคแมลงศัตรูพืช มีผลผลิตสูงขึ้น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อผลิตต้นพืชปริมาณมากในระยะเวลาสั้น การผลิตวัคซีนป้องกันโรคและการผสมเทียมสัตว์ การผลิตสารชีวภาพป้องกันกำจัดศัตรูพืชและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงทำให้พืชทนต่อโรค วัชพืช หรือสภาวะดินที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
  • การจัดการฟาร์มรูปแบบใหม่ เป็นการจัดการระบบปลูกพืชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดโอกาสการเกิดความเสียหายด้วยเทคโนโลยี ได้แก่ การปลูกพืชระบบปิดแบบแม่นยำ (Plant factory) ที่สามารถควบคุมปัจจัยแวดล้อม เช่น น้ำ แสง อุณหภูมิ ความชื้น และยังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี การปลูกพืชแนวตั้ง (vertical farm) ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัด การปลูกพืชระบบปิดโดยใช้แสงเทียมจากหลอดไฟ LED
  • การเกษตรแม่นยำ เป็นรูปแบบการเกษตรที่นำเทคโนโลยีและข้อมูลมาจัดการแปลงหรือโรงเรือน ได้แก่ การใช้เซนเซอร์และไอโอที (IOT) ที่เป็นเครือข่ายสำหรับเก็บข้อมูล ถ่ายโอน และประมวลผลแบบทันที (Real time) ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนของเกษตรกร เช่น เพื่อควบคุมการเปิดปิดน้ำแบบอัตโนมัติโดยตรวจจับการระเหยและการคายน้ำของพืช การติดตั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลความเป็นกรดด่าง อุณหภูมิ และความชื้นของดิน อุณหภูมิอากาศ ความเข้มแสง และสภาพแวดล้อมอื่นที่เกี่ยวข้องกับพืชมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโต การให้ผลผลิต การเกิดโรคแมลงศัตรูพืช และใช้พยากรณ์ (Predict) เพื่อตัดสินใจ (Decide) เลือกวิธีบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง ถูกเวลาและมีประสิทธิภาพ 
  • อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ปัจจุบันการทำเกษตรยุค 5G กำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก ซึ่งโดรนเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกนำมาใช้ทางการเกษตร เช่น พ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลง กำจัดวัชพืช หว่านเมล็ดพันธุ์ หว่านปุ๋ย ในแปลงขนาดใหญ่หรือช่วยผสมเกสรในโรงเรือน นอกจากนี้โดรนยังสามารถติดตั้งกล้องเพื่อถ่ายภาพทางอากาศขณะบินสำรวจพื้นที่ทั้งระยะใกล้และไกล หรือโดรนที่มีระบบดาวเทียมนำทาง GPS ที่สามารถระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลรายแปลงที่แม่นยำขึ้น 
  • บริการทางธุรกิจเกษตร เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อนวัตกรรมมาเป็นของตนเองได้เนื่องจากมีต้นทุนสูง จึงเกิดธุรกิจให้บริการรูปแบบต่างๆ เช่น การให้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่นยาหรือปุ๋ยในแปลงปลูกพืชขนาดใหญ่ การจองรถแทรกเตอร์เตรียมพื้นที่ปลูกหรือรถเกี่ยวข้าว แพลตฟอร์มพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชน ยกระดับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์ท้องถิ่น สินค้าชุมชน ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการแปลงจนถึงจำหน่ายผลผลิต หรือรวบรวมผลผลิตและส่งมอบให้กับกลุ่มลูกค้า เช่น ผู้บริโภค ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม เป็นต้น
  • การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขนส่ง เนื่องจากสินค้าเกษตรมีความหลากหลาย จึงเกิดนวัตกรรมกระบวนการที่ตรวจสอบและติดตามคุณภาพผลผลิตอัจฉริยะซึ่งมีความเฉพาะเจาะจง รวดเร็ว ไม่ทำลายผลผลิต รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรือการใช้สารเคลือบผิวที่สามารถยืดอายุ ลดการสูญเสียของผลผลิต ร่วมกับการบริหารจัดการการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผลผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยยังคงคุณภาพที่ดี
  • ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ประเทศไทยตื่นตัวกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจเกษตรหรือลดความเสี่ยง โดยชุดข้อมูลพื้นที่ปลูก ปริมาณผลผลิต ช้อมูลภูมิสารสนเทศ รายงานอุตุนิยมวิทยา จะถูกนำมาวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ประมวลผลเป็นสถิติของพื้นที่เพาะปลูก การผลิตพืชผล การเตือนภัยการระบาดโรคและศัตรูพืช การพยากรณ์ราคาสินค้าเกษตร การใช้ที่ดิน การบริหารจัดการน้ำชลประทาน และพยากรณ์อากาศ ซึ่งสามารถนำมาใช้วางแผนการเพาะปลูก การจัดพื้นที่ปลูกพืช (zoning) การติดตามผลผลิตทางการเกษตร การเลือกกิจกรรมทางการเกษตรของเกษตรกร รวมถึงการบริหารจัดการของผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรม

กล่าวได้ว่า “เทคโนโลยีดิจิตัล” และ “นวัตกรรมเกษตร” เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่ระบบเกษตรที่แม่นยำ เกษตรกรได้ผลผลิตดีขึ้น ลดต้นทุน ลดแรงงาน สร้างตลาด อย่างไรก็ตามการเลือกใช้องค์ความรู้ใดนั้น เกษตรกรต้องตั้งเป้าหมาย เรียนรู้ วิเคราะห์ และวางแผนที่สอดคล้องกับพื้นที่ สภาพแวดล้อม วิถีชีวิต ศักยภาพ กำลังความสามารถ และความพร้อมของตนเอง โดยเน้นความพอเพียง ความสมดุล และการเกื้อกูลกันของระบบนิเวศ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจ คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้สามารถเกษตรกรปรับตัว และเติบโตได้อย่างยั่งยืน



เอกสารอ้างอิง

https://www.salika.co/2020/12/26/7-smart-agricultural-for-new-gen-post-covid/ วิถี ‘เกษตรนวัตกรรม’ รับคนไทยกลับถิ่นฐานสร้างอาชีพใหม่ ยุค Post-covid

https://www.nia.or.th/AgTech-Trends-2023

อัปเดต 6 เทรนด์นวัตกรรมเกษตร พร้อมจับตา 12 สตาร์ทอัพเกษตรหน้าใหม่ดาวรุ่ง ปี 2023


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : อัจฉรา ภาวศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัย

ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน

แหล่งที่มาของภาพ : นายจุฑาธิป สิโรรส นักวิจัย สวพส.