องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ปลูกพืชให้ปลอดภัยในดินที่ปนเปื้อนสารหนู (Arsenic) และแคดเมียม (Cadmium)

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า โลหะหนัก (Heavy Metals) ก่อน โดยโลหะหนัก หมายถึงธาตุที่มีค่าความถ่วงจำเพาะมากกว่าน้ำ 5 เท่า ขึ้นไป ซึ่งโลหะหนักบางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แมงกานีส (Mn) เหล็ก (Fe) ทองแดง (Cu) และสังกะสี (Zn) เป็นต้น แต่โลหะหนักบางชนิดมีความเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ปรอท (Hg) ตะกั่ว (Pb) แคดเมียม (Cd) และสารหนู (As) โลหะหนักเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เองในธรรมชาติ โดยอาจมาจากวัตถุต้นกำเนิดดิน การทำเหมืองแร่ โรงงานผลิตไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหิน การทำแบตเตอรี่ การใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการเกษตร เป็นต้น

การปนเปื้อนโลหะหนักของดินในประเทศไทย มีสาเหตุมาจากกิจกรรมทางการเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น การทิ้งของเสียโดยไม่มีการจัดการอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการตกค้างและสะสมโลหะหนักในดิน เช่น สารหนู แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท และทองแดง ซึ่งธาตุเหล่านี้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสลายตัวในธรรมชาติได้ยาก มีการสะสมในสิ่งมีชีวิต และถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารได้ เป็นพิษต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต

ในบทความนี้จะกล่าวถึงความเป็นพิษของโลหะหนัก 2 ชนิด คือ สารหนูและแคดเมียม โดยความเป็นพิษของสารหนูเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายมากเกินไปจะเป็นพิษต่อตับและไต เกิดอาการตับอักเสบ ทำลายตับ และทำลายระบบสมอง ส่วนแคดเมียมก่อให้เกิด โรคไต กระดูกผุ ปวดบริเวณเอวและหลัง เป็นสารก่อมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมากและไต พิษจากสารแคดเมียม ที่รู้จักกันดี คือ โรคอิไต อิไต

หากมีความจำเป็นต้องปลูกพืชในพื้นที่ที่พบการปนเปื้อนสารหนูและแคดเมียมในดินที่เกินค่ามาตรฐาน ในที่นี้หมายถึง ดินที่มีการปนเปื้อนสารหนู มากกว่า 30 mg/kg และแคดเมียม มากกว่า 0.15 mg/kg จำเป็นต้องมีการวางแผนการปลูกพืชโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ ได้ศึกษาถึงชนิดพืชที่มีความเสี่ยงในการดูดซับสารหนูและแคดเมียม ในกรณีพืชผัก โดยเฉพาะผักผลและผักหัว โดยปลูกทดสอบพืช 18 ชนิด พบว่า พืชที่มีความเสี่ยงในการดูดซับสารหนูและแคดเมียม มี 4 ชนิด คือ กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักชี มะเขือเจ้าพระยา และมันฝรั่ง เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในผลิตผลของพืชที่นำมาบริโภค

จากการศึกษา พบว่ากะหล่ำปลี กวางตุ้ง และมะเขือเจ้าพระยา มีความปลอดภัยจากสารหนูและแคดเมียมในส่วนที่นำไปบริโภค ในส่วนของผักชีและมันฝรั่งมีความเสี่ยงในการดูดซับแคดเมียมในส่วนที่นำมาบริโภค เนื่องจากมีปริมาณแคดเมียมในส่วนของราก/หัวและลำต้นเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ส่วนพืชอีก 14 ชนิด ได้แก่ ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ ผักกาดหวาน ฟินเลย์ ปวยเล้ง หอมญี่ปุ่น แครอท เบบี้แครอท แรดิช บีทรูท หัวไชเท้า มะเขือเทศ ถั่วแขก และแตงกวาญี่ปุ่น ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่ามีความปลอดภัยจากการปนเปื้อนสารหนูและแคดเมียม จากผลิตผลเหล่านี้

เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย : ดารากร อัคฮาดศรี จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และอาผู่ เบเช


ออกแบบ และเผยแพร่สื่อออนไลน์โดย...เนตรชนก สายคง สำนักยุทธศาสตร์และแผน