องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“หน่อไม้น้ำ”...พืชปลูกง่าย รายได้ดี แถมมีประโยชน์ด้วย

เมื่อได้ยินคำว่า “หน่อไม้” หลายคนคงคิดถึงหน่อของต้นไผ่ที่เรานิยมนำมารับประทานกัน แต่รู้หรือไม่ว่า หน่อไม้น้ำ ก็มีความอร่อยไม่แพ้กันเลยนะ ปัจจุบันหน่อไม้น้ำกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากหน่อไม้น้ำเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวาน กรอบ อร่อยตามธรรมชาติ สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู ถ้าหากใครได้ลองเพียงซักครั้งก็มักจะติดใจ อีกทั้งยังมีสรรพคุณและประโยชน์ต่อร่างกายมากมายอีกด้วย นอกจากนี้ ช่วงหลายปีมานี้เกษตรกรบนพื้นที่สูงหันมาให้ความสนใจกับการปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมีไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้น อย่ารอช้า เรามาทำความรู้จักกับ “หน่อไม้น้ำ...พืชทางเลือกใหม่ของเกษตรกรบนพื้นที่สูง” กันเลยดีกว่า....

หน่อไม้น้ำ (Manchurian wild rice หรือ Water bamboo) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zizania latifolia Turcz เช่นเดียวกับข้าวและข้าวโพด มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เกาเปกสุน กาแปะซุง กะเป็ก ข้าวเป็ก ฯลฯ มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของประเทศจีน และแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไซบีเรีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซียตอนใต้ พม่า อินเดียตอนเหนือ และปากีสถาน สำหรับประเทศไทยพบพื้นที่ปลูกทางภาคเหนือตอนบน (เชียงราย เชียงใหม่) และภาคใต้ (ภูเก็ต)


ลักษณะทั่วไป

หน่อไม้น้ำมีลักษณะมีลำต้นทั่วไปคล้ายกับต้นข้าวแต่มีขนาดใหญ่กว่า และสูงกว่า ลำต้นสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ส่วนโคนต้นจะมีลักษณะอวบใหญ่คล้ายหัวตะไคร้ เนื้อลำต้นบริเวณโคนต้นมีสีขาว ลำต้นหน่อไม้น้ำสามารถแตกหน่อลำต้นใหม่รวมกันเป็นกอใหญ่คล้ายกับกอข้าว ใบมีลักษณะเรียวยาวคล้ายกับใบกกหรือใบธูปฤาษี ไม่มีก้านใบ กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ขอบใบเรียบและคม หน่อไม้น้ำออกดอกเป็นช่อแขนงคล้ายช่อดอกของข้าว แทงขึ้นตรงกลางลำต้นที่ปลายยอด ก้านดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปถ้วยติดอยู่ ดอกย่อยแต่ละดอกมีลักษณะยาวรี เป็นดอกแยกเพศแต่อยู่บนก้านช่อดอกเดียวกัน โดยดอกตัวผู้จะอยู่ด้านล่างของก้านช่อดอก มีลักษณะบอบบางและขนาดเล็กกว่าดอกตัวเมีย ส่วนดอกตัวเมียจะอยู่ช่วงบนของดอกตัวผู้ กิ่งที่มีดอกตัวเมียมักจะตั้งตรง มีก้านเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก ด้านล่างก้านเกสรเป็นรังไข่ มียอดเกสรเป็นเส้นยาวแผ่ออกด้านข้างคล้ายขนนก

พันธุ์ของหน่อไม้น้ำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. พันธุ์หัวเขียว จะมีหัวเป็นสีเขียวจัด ส่วนมากจะโป่งเป็นหัวอยู่ตามข้างลำต้นและเกิดอยู่บริเวณผิวน้ำ พันธุ์นี้ไม่เป็นที่นิยมของตลาด จึงไม่ค่อยพบเห็นกันบ่อยนัก

2. พันธุ์หัวขาว เป็นพันธ์ที่มีลำต้นโป่งออกเป็นหัว เมื่อแกะกาบชั้นนอกออกแล้วจะมีสีขาวและมักจะเกิดหัวตรงโคนของลำต้นอยู่ใต้ผิวน้ำ เนื้อกรอบแต่ถ้าหัวแก่เกินไปจะแข็ง พันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากและสามารถจำหน่ายได้ราคาดี


การปลูก ดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยว

1. การปลูกหน่อไม้น้ำ

หน่อไม้น้ำสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปีถ้าพื้นที่ปลูกมีน้ำ ซึ่งนอกจากจะปลูกในนาข้าว ร่องน้ำ ร่องสวนแล้ว ยังสามารถปลูกในกระถางหรือภาชนะที่มีน้ำขังก็ได้ ส่วนใหญ่มักเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน การปลูกหน่อไม้น้ำเชิงการค้าเพื่อขายหน่อนั้นจะปลูกในพื้นที่นา ซึ่งการเตรียมดินก็เหมือนกับการเตรียมแปลงปักดำข้าว โดยทำการไถ กำจัดวัชพืช คราดทำเทือก และปล่อยน้ำเข้าขังให้ระดับน้ำลึกประมาณ 15-25 เซนติเมตร การปลูกหน่อไม้น้ำจะใช้ต้นกล้าปักดำ อายุกล้าที่ใช้ประมาณ 40-50 วัน โดยก่อนปักดำจะตัดใบออกให้ต้นกล้ามีความสูงประมาณ 50-80 เซนติเมตร เพื่อป้องกันลมพัดต้นล้ม ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 1×1 เมตร (พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 1,500 ต้น) ดำลึก 5-7 เซนติเมตร 


2. การดูแลรักษา

- ระดับน้ำในแปลงเป็นสิ่งสำคัญ ควรรักษาระดับน้ำให้สูงสม่ำเสมอ ประมาณ 15-30 เซนติเมตร ไม่ปล่อยให้ระดับน้ำต่ำกว่า 5-10 เซนติเมตร เพราะหากน้ำแห้ง ลำต้นจะหยุดการเจริญเติบโต

- การใส่ปุ๋ย หลังการปลูกเมื่อต้นตั้งตัวได้หรือเริ่มแทงใบใหม่ 10-15 วัน ให้หว่านด้วยปุ๋ยสูตร 16-8-8 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่อีกรอบประมาณ 2-3 เดือน หลังใส่ครั้งแรก หรือจะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างเดียว อัตรา 1-2 ตันต่อไร่ ก็ได้

- การจัดแต่งกอ/สางกอ หลังจากปักดำ 2 เดือน ควรทำการตกแต่งสางกอโดยการตัดแต่งใบที่แห้งหรือใบที่หักล้มออกให้หมด ถ้าหากมีต้นที่ไม่แข็งแรงควรตัดทิ้งให้เหลือ 10-12 ต้นต่อกอ เพื่อให้หน่อไม้น้ำเจริญเติบโตเต็มที่

- ศัตรูที่สำคัญของหน่อไม้น้ำ ได้แก่ หนู ซึ่งมักกัดกินหน่อ ทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหาย นอกจากนี้อาจพบตั๊กแตนกัดกินใบและหนอนม้วนใบด้วย หากปลูกนอกฤดู มักพบปัญหาเกี่ยวกับสาหร่ายไฟ ทำให้หน่อไม้มีใบเหลือง ลำต้นแคระแกรน และไม่แตกกอ ซึ่งการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือ การระบายน้ำออกจากแปลงเป็นบางช่วงเพื่อกำจัดสาหร่ายไฟก่อน เมื่อสาหร่ายแห้งจึงทำการปล่อยน้ำเข้าแปลงอีกครั้ง

3. การเก็บเกี่ยว

หลังการปลูกแล้วประมาณ 5-6 เดือน หน่อไม้น้ำจะมีการแตกต้นประมาณ 25-30 ต้นต่อกอ สำหรับการเก็บเกี่ยวหน่อไม้น้ำนั้นจะเลือกเก็บหน่อที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหน่อประมาณ 2.0-2.5 เซนติเมตร การเก็บเกี่ยวหน่อไม้น้ำสามารถทยอยเก็บผลผลิต (หน่อ) ได้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป แต่จะให้ผลผลิตมากและสมบูรณ์ที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม โดยพื้นที่ 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตหน่อไม้น้ำได้ประมาณ 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนช่วงเดือนมีนาคม-เดือนสิงหาคมผลผลิตจะน้อยและไม่ค่อยสมบูรณ์ คือ หน่อจะมีลักษณะป้อมสั้น เกษตรกรจึงไม่นิยมเก็บเกี่ยวเพราะไม่คุ้มกับค่าจ้างแรงงานและการขนส่งผลผลิต ส่วนการจำหน่ายเกษตรกรนิยมจำหน่ายเป็นมัด มัดละ 5-6 หน่อ ราคา 20-30 บาทต่อมัด (ขึ้นอยู่กับฤดูกาล) ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 25,000-30,000 บาทต่อปี

คุณค่าและประโยชน์ของหน่อไม้น้ำ

หน่อไม้น้ำนิยมนำมารับประทานสดหรือประกอบอาหาร โดยหน่อสดจะมีสีขาว กรอบ หวาน อร่อย คล้ายแห้วจีน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นต้มจืด แกงเลียง แกงส้ม ต้มยำ ผัด ลวก ยำ หรือดองก็ได้ตามใจชอบ นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณในการป้องกันมะเร็งลำไส้และในระบบทางเดินอาหาร รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ ป้องกันโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคกระเพาะอาหาร 


แหล่งที่มาของข้อมูลและภาพประกอบ :

แพร่ข่าวออนไลน์. 2559. หน่อไม้น้ำ. ออนไลน์

เข้าถึงได้ที่ : https://www.facebook.com/phraekaw/posts/330934733917340/

สุกัญญา บุญเฉลิมกิจ. 2520. การศึกษาสัณฐานวิทยาและการขยายตัวออกของลำต้นของหน่อไม้น้ำ.

สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). 2560. หน่อไม้น้ำ ออนไลน์

เข้าถึงได้ที่ : https://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=1387&name=Coba/.

 

เขียน/ เรียบเรียง : นางสาวศิริรัตนาพร หล้าบัววงค์