องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เพราะ “เห็ดเผาะ” เพาะได้ ไม่ต้องเผา

เห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ (Barometer Earthstars) เป็นเห็ดป่าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงชนิดหนึ่ง ที่รู้จักกันทั่วไปทางภาคเหนือของประเทศไทย จัดเป็นกลุ่มเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา (Ectomycorrhiza) อาศัยอยู่ร่วมกับรากพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) และกลุ่มเห็ดเผาะฝ้าย (Astraeus asiaticsus)

เห็ดเผาะ... คุณค่า และสรรพคุณที่มีมากกว่าความอร่อย

นอกจากการนำมาบริโภคเป็นอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณทางยา

  • อาหาร : มีโปรตีน แคลเซียมสูง ให้พลังงานต่ำ
  • ยาสมุนไพร : พบสาร Astraodoric acids A และ B มีสารฤทธิ์ ยับยั้งมะเร็ง (anticancer) และยับยั้งเชื้อวัณโรค (antitubercular)

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเห็ดเผาะไม่สามารถเพาะเลี้ยงในสภาพโรงเรือนได้ รวมทั้งจาก ความเชื่อ “ ต้องเผาป่า... เห็ดเผาะถึงจะออก” ผลที่ตามมา ไฟไหม้ป่า เกิดหมอกควันที่เป็นมลพิษ และ PM2.5 และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เห็ดเผาะตกเป็นจำเลยสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของการเผาป่าและปัญหาฝุ่นควันที่เป็นมลพิษ จากปัญหาดังกล่าว “การเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะ” จึงเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง ได้สร้างอาชีพ และมีรายได้ รวมทั้งช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงมีการทดสอบการเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะในสภาพธรรมชาติร่วมกับชุมชน

พบเห็ดเผาะทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่

  • เห็ดเผาะฝ้าย (Astraeus asiaticsus)
  • เห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus)
  • เห็ดเผาะสิรินธร (Astraeus sirindhorniae)

ส่วนใหญ่มักพบในสังคมพืชป่าเต็งรัง และป่าสนเขา มักเจริญร่วมกับไม่ยืนต้นหลายชนิดในวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) วงศ์สน (Pinaceae) และวงศ์ก่อ (Fagaceae) เห็ดเผาะจะออกช่วงต้นฤดูฝน          เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม

เห็ดเผาะที่นิยมนำบริโภคมากที่สุด คือ เห็ดเผาะหนัง (Astraeus odoratus) เนื่องจากมีเนื้อสัมผัส   และรสชาติดี ในป่าธรรมชาติการเกิดของเห็ดเผาะนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลายประการ ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดดอกของเห็ดเผาะ 

ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดดอกเห็ด

·     ความแตกต่างของอุณหภูมิกลางวัน – กลางคืน ต่างกัน 14 - 15 องศาเซลเซียส

·     ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70

·     ปริมาณน้ำฝน 51.45-65.5 มม.

·     รูปแบบหัวเชื้อที่เหมาะสม

·     ปริมาณ/ความต่อเนื่องในการเติมเชื้อเห็ด

·     ชนิดพืชอาศัยที่เหมาะสม


วิธีการเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะร่วมกับการปลูกไม้วงศ์ยาง (เช่น ยางนา ตะเคียน เต็ง รัง พะยอม พลวง)

 หัวเชื้อ

1. ใช้สปอร์จากดอกเห็ดแก่โดยตรง โดยการหั่น/ขยำ/ปั่น ก่อนใช้ หรือหมักโดยเติมน้ำตาล ข้าวสุก

ในน้ำปั่นดอกเห็ดแก่ก่อนนำมาใช้ สามารถเก็บรักษาได้ประมาณ 6 เดือน  

2 . ใช้หัวเชื้อเส้นใยบริสุทธิ์ ที่เพาะเลี้ยงในอาหารสูตรดัดแปลง (อาหารวุ้นแข็ง อาหารเหลว และอาหารดินผสม) โดยการใช้เส้นใยบริสุทธิ์เหมาะสำหรับใส่ในกล้าไม้ที่มีดูแลและอนุบาลไว้ก่อนนำไปปลูกอย่างน้อย 1 ปี

3. ใช้ดินจากรอบรากต้นไม้ที่เกิดดอกเห็ด โดยวิธีการนี้เป็นการอาศัยเชื้อที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติมาเพาะกล้า เหมาะสำหรับการเพาะกล้าไม้เพื่อปลูกฟื้นฟูแหล่งอาศัยของเห็ด

 การใส่เชื้อเห็ด

1. กล้าไม้ เจาะดินรอบต้นกล้า 4-6 รู ใส่หัวเชื้อเห็ด 10 ml ต่อความสูงกล้าไม้ 10 cm ใส่ 2-3 ครั้ง ห่างกัน 15-30 วัน อนุบาลต้นกล้าอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี เพื่อให้เชื้อเห็ดเข้าสู่รากกล้าไม้และมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ก่อนนำไปปลูก

2. ต้นไม้ใหญ่ ขุดหารากบริเวณโคนต้นและบริเวณทรงพุ่ม จากนั้นเจือจางหัวเชื้อน้ำหมักดอกเห็ด ในอัตราส่วน อัตราส่วน 1:10 (500 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 5 ลิตร หรือประมาณ 1 บัวรดน้ำ) รดบริเวณรากให้ชุ่ม และคลุมด้วยเศษใบไม้ 

จากการทดสอบการเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะร่วมกับนายมนตรี กันทะ เกษตรกรบ้านปางกื๊ด อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ โดยนำกล้ายางนาที่มีการใส่เชื้อเห็ดเผาะ ปลูกในพื้นที่สวนวนเกษตรร่วมกับไม้ท้องถิ่นและไม้ผลหลากหลายชนิด (แปลงดังกล่าวยังไม่เคยพบเห็ดเผาะในพื้นที่มาก่อน) โดยกล้ายางนามีการใส่เชื้อเห็ดเผาะจำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ใส่ในระยะกล้าก่อนปลูก ครั้งที่ 2 หลังย้ายปลูก 1 ปี และครั้งที่ 3 หลังจากย้ายปลูก 2 ปี ซึ่งพบว่ากล้ายางนาที่มีการใส่เชื้อเห็ดเผาะ มีการเจริญเติบโตดี และเริ่มให้ผลผลิตเห็ดเผาะในปีที่ 4

จากผลดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า “เห็ดเผาะ เพาะได้ โดยไม่ต้องเผาป่า” แต่ต้องควบคู่กับการเติมเชื้อเห็ดเพิ่มในธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม และที่สำคัญต้องไม่ใช้สารเคมีในแปลงปลูก อันจะเป็นการช่วยให้ชุมชนบนพื้นที่สูง กว่า 25 ชุมชน ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร และกาญจนบุรี สามารถเพาะเลี้ยงเห็ดเผาะสำหรับบริโภค และเสริมรายได้ทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน ควบคู่กับฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย


เขียน/เรียบเรียงโดย: ดร.จารุณี ภิลุมวงค์ นักวิจัย และ นางสาวพัชรินทร์ พงษ์ชัยภูมิ เจ้าหน้าที่โครงการฯ

ที่มารูปภาพ: ดร. ศุลิเชษฐ์ ทองกล่ำ