องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กับดักแมลงกลิ่นหอม ต้องลองให้รู้นะ “แม๊”

การเปลี่ยนแปลงที่เลือกได้

กว่า 30 ปี เกษตรกรหลายแห่งขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและใช้ปัจจัยการผลิตแบบเข้มข้น นำไปสู่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหามลพิษสารเคมี รวมถึงปัญหาสุขภาพของตัวเกษตรกรและผู้บริโภคโดยเฉพาะโรคมะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์ อัมพาต การเป็นหมัน ทารกพิการ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไปเพราะพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากหลักพันกลายเป็นหลักหมื่น1/ แนวทางแก้ไขที่ตอบโจทย์นี้มากที่สุดคือการปลูกพืชภายใต้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารทดแทนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช แต่ปัจจุบันดำเนินการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

ผักตระกูลกะหล่ำ ดี มีประโยชน์ แต่ต้องระวัง

คนไทยส่วนใหญ่ชอบกินคะน้า กะหล่ำปลี และผักกาด ทั้งกินสดและปรุงสุก เนื่องจากผักกลุ่มนี้มีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร หรือสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคยอดฮิต เช่น ความดันโลหิตสูง มะเร็ง เบาหวาน อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าผักตระกูลกะหล่ำตรวจพบสารพิษตกค้างบ่อยครั้ง ได้แก่ เมโทมิล และไดโครโตฟอส2/ ซึ่งเป็นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชในกลุ่มระดับความเป็นพิษชั้น 1 บี หรือพิษร้ายแรง ชาวเราจึงควรเลือกซื้อผักจากแหล่งปลูกที่ได้มาตรฐาน “สด สะอาด ปลอดภัย” เรียกได้ว่าไม่ตกยุคตามกระแสรักษ์โลก & รักสุขภาพ 

ด้วงตัวน้อยตัวนิด ด้วงมีฤทธิ์น่าดู อู้ฮู

รู้ไหม!! ด้วงหมัดผักแถบลาย เป็นแมลงศัตรูสำคัญของผักตระกูลกะหล่ำ บางแปลงถูกกัดกินใบพรุน 100% จนร้านค้าบอกไม่รับซื้อ นี่แหละเหตุผลหลักที่เกษตรกรต้องหาวิธีกำจัดอย่างเด็ดขาด ซึ่งส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีไถดินตากแดดและฉีดพ่นสารเคมี แต่บ่อยครั้งทั้ง 2 วิธี แสดงผลในระดับต่ำเนื่องจากพฤติกรรมกระโดดและบินได้ไกลของด้วงหมัดผัก ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีซ้ำจนเกิดปัญหาดื้อยาและสารพิษตกค้างตามมา นักวิจัยจากหลายหน่วยงานจึงคิดค้นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่สำหรับนำไปใช้แทน หนึ่งในแนวคิดนี้ คื อ “ฟีโรโมน (pheromone)” สารเคมีให้กลิ่นที่แมลงใช้สื่อสารและตอบโต้กันภายในกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ดึงดูดเพศตรงข้าม รวมตัว ส่งสัญญาณเตือนภัย บอกทิศทางกลับรัง โดยฟีโรโมนสามารถสกัดได้จากตัวแมลงหรือสังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบธรรมชาติ