องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปรับปรุงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นให้ทนทานต่อด้วงงวงมันเทศ

เมื่อกล่าวถึงการปรับปรุงพันธุ์พืช หลายคนจะนึกถึงระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สำหรับมันเทศหรือมันเทศญี่ปุ่น เป็นพืชล้มลุกที่ใช้ยอดพันธุ์ในการขยายพันธุ์ เมื่อได้พันธุ์มันเทศที่มีคุณลักษณะตามที่ต้องการแล้วสามารถใช้ส่วนยอดพันธุ์ไปปลูกขยายได้เลย ซึ่งแน่นอนว่าจะมีลักษณะเหมือนต้นพ่อแม่พันธุ์ทุกประการ ต่างจากพืชที่ใช้เมล็ดเป็นส่วนขยายพันธุ์ ที่ต้องคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์หลายชั่วรุ่น เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีความสม่ำเสมอ 


กระบวนการปรับปรุงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม

หลักการปรับปรุงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นจะใช้เมล็ดพันธุ์ในการปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากในเมล็ดพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นจะมีจีโนไทป์ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดประชากรที่หลากหลาย กล่าวคือเมล็ดในต้นเดียวกันอาจมีลักษณะต่างกันได้ ซึ่งการปรับปรุงพันธุ์มันเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูง เนื้อเนียนละเอียด รสชาติหวาน เส้นใยน้อย ต้านทานต่อโรคและแมลง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และอายุการเก็บเกี่ยวสั้น (สถาบันวิจัยพืชสวน, 2559) งานวิจัยในปี 2565 – 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้ดำเนินงานวิจัยการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นญี่ปุ่นที่ทนทานต่อการเข้าทำลายของด้วงงวงมันเทศ เนื่องจากเกษตรกรประสบปัญหาการระบาดของด้วงงวงมันเทศในพื้นที่ที่มีการปลูกซ้ำหลายครั้งต่อปี เนื่องจากเกษตรกรบางรายไม่ได้มีพื้นที่พอที่จะปลูกสลับเพื่อหลีกเลี่ยงการระบาดของด้วงงวงมันเทศ การใช้สารเคมีในปริมาณมากส่งผลให้ด้วงงวงมันเทศดื้อยา จึงไม่ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยทั่วไปแล้ว กระบวนการจัดการศัตรูพืชอย่างผสมผสาน (IPM) สามารถทำได้และได้ผลดีในพื้นที่ที่มีการปลูก 1 ครั้งต่อปี ซึ่งมีหลายวิธีการ เช่น การใช้ฟีโรโมน การขังน้ำในแปลงปลูกเพื่อกำจัดไข่ของด้วงงวงมันเทศ การใช้สารเคมี การปลูกพืชหมุนเวียน การใช้สารชีวภัณฑ์ เป็นต้น และการปรับปรุงพันธุ์ก็เป็นหนึ่งในหลักการ IPM ที่สำคัญ เพราะหากพันธุ์พืชมีความทนทานต่อด้วงงวงมันเทศ เราไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่หลากหลาย และไม่ต้องใช้สารเคมีในปริมาณมาก ยังเป็นการประหยัดต้นทุนอีกด้วย ทางทีมวิจัย สวพส. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน และวิธีการไม่ยุ่งยาก ผู้เขียนจะอธิบายคร่าวๆ โดยยกตัวอย่างเป็นการปรับปรุงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นที่ทนทานต่อการระบาดของด้วงงวงมันเทศ พร้อมรูปประกอบดังนี้


  1. คัดเลือกพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มทนทานต่อการเข้าทำลายของด้วงงวงมันเทศ โดยคัดเลือกจากพันธุ์ที่รวบรวมแหล่งต่างๆ เช่น ในประเทศ และจากประเทศญี่ปุ่น และนำมาปลูกทดสอบในแปลงที่มีการระบาดของด้วงงวงมันเทศ ในวิธีการนี้หากได้พันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการเราก็ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงพันธุ์ต่อ หากยังไม่ได้ลักษณะตามต้องการก็ควรต้องปรับปรุงพันธุ์ เช่น ได้พันธุ์ทนทานด้วงงวงมันเทศแต่ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และรสชาติไม่หวาน

2. ผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม

2.1 ชักนำการออกดอก เนื่องจากมันเทศญี่ปุ่นมีข้อจำกัดคือสามารถออกดอกได้เพียงช่วงวันสั้นเท่านั้น จึงต้องมีการชักนำโดยวิธีการเสียบยอดมันเทศญี่ปุ่นพ่อแม่พันธุ์กับต้นตอผักบุ้งฝรั่ง (morning glory) เนื่องจากผักบุ้งฝรั่งเป็นไม้ดอกประดับที่ออกดอกง่าย เมื่อนำมาใช้เป็นต้นตอและเสียบยอดด้วยมันเทศ มันเทศพ่อแม่พันธุ์ที่เสียบยอดจะสามารถออกดอกได้นอกช่วงวันสั้น (สถาบันวิจัยพืชสวน, 2559)

2.2 การผสมเกสร ใช้วิธีการผสมด้วยมือ โดยเลือกดอกที่จะบานในวันรุ่งขึ้น


หลังการผสมเกสรคลุมด้วยซองกระดาษ ติดป้ายบันทึกรายละเอียดการผสมพันธุ์ หลังผสมเกสร 3-4 วัน ดอกที่ผสม ติดจะมีก้านดอกสีเขียวและพัฒนาต่อไปตามลำดับ ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์จึงเริ่มเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์


3. การเพาะเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นมีเปลือกแข็งจึงต้องตัดปลายเมล็ด และแช่น้ำเพื่อให้เปลือกอ่อนนุ่ม แล้วนำไปบ่มในกล่องพลาสติก วางบนกระดาษชุบน้ำเป็นเวลา 1 คืน จากนั้นนำเมล็ดไปเพาะในถาดเพาะกล้า 104 หลุม เป็นเวลา 2 – 2.5 เดือน จากนั้นย้ายต้นกล้ามันเทศญี่ปุ่นลงในกระถางพลาสติกสีดำ เพื่อรอต้นมันเทศญี่ปุ่นเจริญเติบโตเต็มที่ ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน


4. การทดสอบพันธุ์ แบ่งเป็น 2 ครั้ง

ในปีที่ 1 นำยอดพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นลูกผสมแต่ละสายต้นมาปลูกทดสอบ และคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะที่ต้องการ โดยปลูกทดสอบทั้ง 3 ฤดูปลูก โดยคัดเลือกให้เหลือประมาณ 25-50 สายต้น

ในปีที่ 2 ทำการทดสอบซ้ำเพื่อความแม่นยำและความสม่ำเสมอ โดยนำพันธุ์ที่คัดเลือกได้จากครั้งที่ 1 มาคัดเลือกต่อโดยปลูกสายต้นละ 30 ยอด และคัดเลือกพันธุ์ให้เหลือประมาณ 10 – 20 สายต้น หรือทำการคัดเลือกซ้ำจนกว่าจะได้ลักษณะที่ต้องการ จากนั้นนำไปปลูกทดสอบต่อในแปลงของเกษตรกร

ซึ่งในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม จนกระทั้งปลูกทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่ต้องการอาจใช้ระยะเวลาอย่างต่ำ 3 ปี คือ การคัดเลือกพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นที่มีลักษณะตามต้องการ ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จากนั้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ใช้เวลาประมาณ 1 ปี และการทดสอบและคัดเลือกพันธุ์ใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 2 ปี จะเห็นได้ว่าการปรับปรุงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นไม่ได้ใช้ระยะเวลานานอย่างที่คิด


เขียน/ เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาวนิตยา โนคำ นางสาวหนึ่งฤทัย บุญมาลา และนางสาวณัฐกฤตา คำหนู


*แหล่งที่มาของเนื้อหา

สถาบันวิจัยพืชสวน. 2559. เทคโนโลยีการผลิตมันเทศญี่ปุ่น. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการเกษตร.