“มันเทศญี่ปุ่นแฟนซีบนพื้นที่สูง” 4 พันธุ์ 4 สี หลากหลายคุณประโยชน์
มันเทศญี่ปุ่น (Sweet Potato) หรือภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า satsuma imo หลายคนสงสัยว่ามันเทศญี่ปุ่น ต่างจากมันเทศบ้านเราอย่างไร สิ่งที่สัมผัสได้คือ ความหวาน ความหอม เนื้อเนียนละมุนลิ้น ละลายในปาก ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (2560 – 2565) ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูงได้ศึกษาวิจัยมันเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มจากการไปศึกษาดูงานด้านการวิจัยและพัฒนามันเทศ ณ เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และขอความอนุเคราะห์พันธุ์มันเทศจากหน่วยงาน Kyushu Okinawa Agricultural Research Centre (NARO/KARC) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่คัดเลือกในสภาพภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับพื้นที่สูงของไทย และได้ดำเนินงานวิจัยทดสอบพันธุ์ และเทคโนโลยีการปลูกมันเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่พันธุ์ที่เหมาะสม วิธีการผลิตยอดพันธุ์ วิธีการปลูกและการดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ตลอดจนถึงการแปรรูปผลผลิตที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน
บทความนี้เราจะมากล่าวถึงพันธุ์มันเทศญี่ปุ่น 4 พันธุ์ 4 สี หลากหลายคุณประโยชน์ ซึ่งมันเทศญี่ปุ่นแต่ละพันธุ์จะมีรูปร่าง ลักษณะ สี และรสชาติที่ต่างกันออกไป อยากให้ผู้บริโภคโฟกัสที่รสชาติ เพราะตลาดส่วนมากจะรับมันเทศที่มีลักษณะเรียวยาว น้ำหนัก 100 กรัมขึ้นไป ซึ่งทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสที่จะได้รับประทานมันเทศที่หลากหลาย ซึ่งบางพันธุ์มีลักษณะหัวกลม แต่รสชาติหวาน เนื้อเนียนนุ่ม สำหรับพันธุ์ที่ทาง สวพส. นำเสนอนี้ได้ทำงานทดสอบมาแล้วว่าให้ผลผลิตสูง รสชาติหวาน ทนทานต่อการเข้าทำลายของด้วงงวงมันเทศ อายุเก็บเกี่ยวสั้น และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
พันธุ์แรกเป็นพันธุ์มันเทศญี่ปุ่นเนื้อสีม่วง มีชื่อว่า พันธุ์ HRDI Sp-61 มีลักษณะเฉพาะคือเนื้อสีม่วงอมฟ้า รูปทรงเป็นแบบรูปไข่ ขนาดค่อนข้างยาว สีผิวเป็นสีแดงม่วง ปริมาณผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.20 – 2.00 ตัน ความหวานเฉลี่ยประมาณ 15.84 บริกซ์ รสชาติและเนื้อสัมผัสจะมีความนุ่มฟู หวานน้อย มีปริมาณสารแอนโทไซยานิน 29.64 mg/100g Fresh weight ซึ่งสารสกัดแอนโทไซยานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ชะลอความเสื่อมของดวงตา ช่วยลดโอกาสการเป็นมะเร็ง สมานแผล และเสริมภูมิคุ้มกันได้ดี
มันเทศญี่ปุ่นเนื้อสีส้ม พันธุ์ HRDI Sp-72 มีจุดเด่น คือ ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยสูงถึง 3.59 – 4.73 ตัน เป็นพันธุ์ที่อายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 90 - 100 วัน ผลผลิตต่อพื้นที่สูง ผิวสวย รูปทรงไข่ ขนาดค่อนข้างยาว สีผิวเป็นสีชมพูอมส้ม ความหวานเฉลี่ยประมาณ 15.63 บริกซ์ รสชาติหวาน เนื้อสัมผัสเหนียว กลิ่นเหมือนแครอท มีปริมาณสารเบต้าแคโรทีน 9,536.62 µg /100g Fresh weight เบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ชนิดหนึ่ง ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายของแสงแดด เพิ่มความจำและกระตุ้นการทำงานของสมอง ลดความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม และลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย
มันเทศญี่ปุ่นเนื้อสีเหลืองคัสตาร์ด พันธุ์ HRDI Sp-74 มีลักษณะเด่น คือ รูปทรงไข่ กลม สีผิวเป็นสีชมพู รสหวาน เนื้อสัมผัสนุ่ม อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 100 – 120 วัน ปริมาณผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.82 – 2.47 ตัน พันธุ์นี้มีดีที่รสชาติมีความหวานเฉลี่ย 20.70 องศาบริกซ์
มันเทศญี่ปุ่นเนื้อสีเหลือง พันธุ์ HRDI Sp-59 พันธุ์นี้มีจุดเด่นที่สีผิวภายนอกเป็นสีชมพู รูปทรงไข่ ขนาดค่อนข้างยาว อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 100 – 120 วัน ปริมาณผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.50 – 2.63 ตัน ความหวานเฉลี่ย 17.66 องศาบริกซ์ เนื้อสัมผัสนุ่ม รสหวาน
หลายคนมักคิดว่าการรับประทานมันเทศญี่ปุ่นทำให้อ้วน เพราะมีรสชาติหวานแถมยังมีแป้งเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด มันเทศญี่ปุ่นถูกยกย่องให้เป็น “สุดยอดอาหาร” ถึงแม้มีความหวานในตัวแต่ ค่า Glycemic Index (GI) น้อยมาก สามารถใช้ทานเพื่อลดน้ำหนัก และเป็นอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานได้ เพราะค่า GI ที่วัดได้จากมันเทศญี่ปุ่นนั้น ต่ำกว่า 55 น้อยกว่าข้าวสวยเกือบเท่าตัว (GI = 98) อีกทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ที่เทียบเท่าแอปเปิ้ลถึง 7 ลูก ความพิเศษของมันเทศญี่ปุ่นคือ บริเวณใกล้ๆ ผิว พบสาร Yarapin ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีเพียงในมันเทศเท่านั้น มีฤทธิ์ช่วยขับไล่พิษหรือของเสียในร่างกายผ่านทางลำไส้ ช่วยปกป้องกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีเส้นใย หรือ Fiber ซึ่งทำให้ลำไส้สะอาดปราศจากของเสียตกค้าง ส่งผลให้ผิวพรรณผ่องใส คุณประโยชน์เพียบพร้อมขนาดนี้ ถือได้ว่าเป็นสุดยอดอาหารคู่ความงามก็ว่าได้
เขียน/เรียบเรียงโดย นิตยา โนคำ และ หนึ่งฤทัย บุญมาลา