การจัดการธาตุอาหารมะม่วงบนพื้นที่สูง จากงานวิจัยสู่สวนเกษตรกร
จากองค์ความรู้เรื่องการจัดการธาตุอาหารที่เหมาะสมสำหรับมะม่วงบนพื้นที่สูงของยุทธนาและคณะ (2562) ที่พบว่าวิธีการจัดการดินและปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและปริมาณธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิต (Crop removal) สามารถแก้ไขปัญหาอาการผิวผลขรุขระ ไม่เรียบ มีรอยช้ำที่ผิวผล ภายในเนื้อผลของมะม่วง มีลักษณะเหมือนวุ้น (jelly flesh) สีน้ำตาลที่บริเวณก้นผลและพบทั้งผลของมะม่วงนวลคำ ซึ่งเกิดจากการขาดธาตุแคลเซียมและโบรอนในพื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหมอกจ๋าม และพระบาทห้วยต้มได้นั้น
ซึ่งปัญหานี้ยังพบได้ในสวนมะม่วงของเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่เฉพาะห้วยโป่งพัฒนา อ.ไชยปราการ และฟ้าสวย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่อีกด้วย ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาและขยายผลงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง นักวิจัย เจ้าหน้าที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงฯ และเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงได้ร่วมกันวางแผนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ซึ่งมีเกษตรกรสนใจและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์จำนวน 15 ราย
เริ่มจากทำการสุ่มเก็บตัวอย่างดินในสวนมะม่วงของเกษตรกรเพื่อวิเคราะห์สมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดิน ซึ่งการเก็บตัวอย่างดินต้องเก็บให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากถ้าเก็บตัวอย่างดินไม่ถูกต้องผลวิเคราะห์ดินที่ได้มาก็ไม่สามารถนำมาใช้ในการวางแผนการใส่ปุ๋ยให้แก่มะม่วงได้ถูก ซึ่งผลวิเคราะห์ตัวอย่างดินพบว่าดินที่ปลูกมะม่วงส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว เป็นกรดจัด (4.91- 5.38) ซึ่งส่งผลต่อการความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารบางชนิด นอกจากนี้ยังพบว่ามีปริมาณธาตุอาหารพืชต่ำกว่าค่ามาตรฐานสำหรับการปลูกมะม่วง ได้แก่ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม ทองแดง และโบรอน ซึ่งจากการที่ดินมีปริมาณแคลเซียม และโบรอนต่ำ จึงทำให้ผลผลิตมะม่วงมีเนื้อเละเหมือนวุ้น (jelly flesh) เมื่อทราบสมบัติดินและปริมาณธาตุอาหารในดินแล้ว จึงได้เตรียมปุ๋ยให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ตัดแต่งต้น – เก็บผลผลิต รวม 4 ครั้ง ได้แก่ ระยะเตรียมต้น ระยะออกดอก ระยะติดผลเล็ก และระยะการพัฒนาผล ปริมาณปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดของต้นมะม่วง พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการผลวิเคราะห์ดิน และวิธีการใส่ปุ๋ยมะม่วงตามค่าวิเคราะห์ดินแก่เกษตรกร และมีการติดตามให้คำแนะนำแก่เกษตรกรตลอดฤดูกาลปลูก
เมื่อถึงช่วงเวลาการเก็บผลผลิต เราจะได้รู้กันว่าผลผลิตมะม่วงจากต้นที่ใส่ปุ๋ยแบบเดิมของเกษตรกร กับต้นที่ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร จากการสุ่มเก็บตัวอย่างผลผลิตมะม่วงในระยะเก็บเกี่ยว ทำการชั่งน้ำหนักผลมะม่วง วัดเปอร์เซ็นต์ความหวาน และสังเกตอาการผิดปกติ ผลปรากฏว่าน้ำหนักผลมะม่วงไม่แตกต่างกันมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 1.16 กิโลกรัมต่อผล เปอร์เซ็นต์ความหวานเพิ่มขึ้นจาก 15.96 เป็น 17.84 %Brix อาการผิวผลขรุขระ เนื้อเละเหมือนวุ้น (jelly flesh) สีน้ำตาล ลดลง 40 เปอร์เซ็นต์ และนอกจากนี้เกษตรกรได้สังเกตเห็นว่าต้นที่ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินใบหนาเขียว ขนาดและสีผิวของผลดีกว่าต้นที่ใส่ปุ๋ยแบบเดิม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ยอมรับเทคโนโลยีการจัดการธาตุอาหารพืชสำหรับมะม่วง แต่ยังมีปัญหาเรื่องของการจัดการน้ำสำหรับการใส่ปุ๋ยทางดินและพ่นปุ๋ยทางใบ ในอนาคตหากมีการให้น้ำอย่างเพียงพอก็จะทำให้ผลผลิตมะม่วงของเกษตรกรบนพื้นที่สูงมีคุณภาพดีขึ้น