องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การกักเก็บคาร์บอนในดินกับสภาวะโลกร้อน

การกักเก็บคาร์บอนในดิน (soil carbon sequestration) หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศมากักเก็บไว้ในดิน เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์ในบรรยากาศ โดยอาศัยกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศมาเก็บสะสมไว้ในพืชและดิน ด้วยเหตุนี้ดินจึงมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนจากบรรยากาศ และช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำเกิดสภาวะโลกร้อน (global warming) ส่วนคาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในดิน มีส่วนช่วยในการทำให้เกิดเม็ดดินที่เสถียร มีการระบายอากาศดีขึ้น และมีความจุในการอุ้มน้ำดีขึ้น ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและธาตุอาหารพืช 

ภาวะโลกร้อน คือปรากฎการณ์ที่อุณหภูมิเฉลี่ยของผิวโลกและมหาสมุทรสูงขึ้น มีสาเหตุจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร โดยมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ก๊าซเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) เป็นต้น  ก๊าซเหล่านี้เกิดจากปรากฏการณ์หรือกระบวนการทางธรรมชาติและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิง จึงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากที่สุด และก๊าซที่ควรเฝ้าระวังต่อมา คือ ก๊าซมีเทน

ในปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ที่เกิดจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี พ.ศ. 2559 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354,357.61 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (GgCO2eq) ในขณะที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับอยู่ที่ 91,134.15 GgCO2eq โดยภาคพลังงานมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด 71.65% ภาคอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 8.89% ภาคเกษตร 14.72% และภาคของเสีย 4.73% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2563) 

ซึ่งแนวทางการกักเก็บคาร์บอนในดินเป็นมาตรการหนึ่งในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องจากดินเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนขนาดใหญ่ อีกทั้งคาร์บอนที่ถูกกักเก็บไว้ในดิน มีส่วนช่วยในการทำให้เกิดเม็ดดินที่เสถียร มีการระบายอากาศดีขึ้น และมีความจุในการอุ้มน้ำดีขึ้น ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินและธาตุอาหารพืช เกิดความยั่งยืนในระบบการปลูกพืช

แนวทางในการกักเก็บคาร์บอนในดิน สามารถทำได้ดังนี้

  • ลดการไถพรวนในการเตรียมพื้นที่ปลูกพืช
  • ใส่วัสดุอินทรีย์ เช่น ฟางข้าว เศษใบไม้ต่าง ลงไปในดิน
  • ไม่เผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
  • การใช้ปุ๋ยและการจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสม เช่น ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์
  • การใช้ถ่านชีวภาพ (Biochar)
  • การปลูกพืชหมุนเวียน โดยใช้พืชตระกูลถั่ว

พื้นที่ทำการเกษตรบนพื้นที่สูงมีการทำระบบเกษตรที่หลากหลาย ทาง สวพส. ได้เริ่มดำเนินการศึกษาปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินภายใต้ระบบการปลูกพืชบนพื้นที่สูง 4 ระบบ ได้แก่ ระบบการปลูกข้าวไร่ ระบบการปลูกข้าวโพด ระบบการปลูกกาแฟ/ไม้ผล ระบบการปลูกพืชผัก ซึ่งในแต่ละระบบมีการกักเก็บคาร์บอนได้มากน้อยเพียงใดนั้น รอติดตามได้ในตอนต่อไป



แหล่งอ้างอิง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. 2563. รายงานความก้าวหน้าราย 2 ปี ฉบับที่ 3. กลุ่มงานฐานข้อมูลและองค์ความรู้กองประสานการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.

 


เขียนและเรียบเรียงโดย ดารากร อัคฮาดศรี จุไรรัตน์ ฝอยถาวร อาผู่ เบเช