ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นแค่ความหวังหรือเป็นจริงได้
เมื่อพูดถึงคำว่า "การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" อาจมีมุมมองที่แตกต่างว่าเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู จะเป็นไปได้ไหม หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงได้ จึงชวนมามองที่การพัฒนาพื้นที่สูงของไทย ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับชุมชนและหน่วยงานบูรณาการมากว่าทศวรรษในพื้นที่ 8 จังหวัด ว่ามีหลักปฏิบัติ 4Es อะไรที่ทำให้คนบนพื้นที่สูงไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
1. การค้นหา (examine) คนจนและคนด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ทั้งที่เป็นความจนด้านเงิน การขาดแคลนอาหาร ความจนโอกาสที่จะเข้าถึงความรู้และบริการของรัฐด้านต่าง ๆ รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลให้คนบนพื้นที่สูงอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งที่เป็นการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ห่างไกล มีความยากจน พื้นที่การเกษตรมีความลาดชัน และบางพื้นที่มีความเปราะบาง โดยใช้ฐานข้อมูลหมู่บ้าน ผลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และแผนพัฒนาหมู่บ้าน เป็นเครื่องมือในการช่วยค้นหากลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาที่ผ่านมา และการเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลคนจนของประเทศ (TPMAP) ในระยะถัดไป
2.การเสริมสร้างศักยภาพและความเสมอภาค (empower) ด้วยการส่งเสริมอาชีพภาคการเกษตรและหัตถกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่และศักยภาพของบุคคลที่เป็นวัยแรงงาน ผู้สูงอายุ สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการ ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้โครงการหลวงและผลงานวิจัย รวมทั้งการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการจัดการผลผลิตและการตลาด และการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นกับชุมชน ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับการส่งเสริมจำนวน 11,214 คน (ร้อยละ 60 ของประชากรเป้าหมาย)
3.การประเมินการเปลี่ยนแปลง (evaluate) ในด้านความรู้และทักษะของเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริม ในการทำการเกษตรและประกอบอาชีพบนฐานความรู้ ที่ส่งผลให้ครอบครัวมีความมั่นคงด้านอาหาร สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงบนพื้นที่สูง อันนำไปสู่การยกระดับการพัฒนาของชุมชนให้หลุดพ้นจากความยากจนในหลายมิติ โดยมีมีระดับการพัฒนาชุมชนแบ่งออกเป็นระดับ A สามารถพัฒนาตนเองครอบคลุมทุกมิติและเป็นแหล่งเรียนรู้ 76 กลุ่มบ้าน ระดับ B ชุมชนที่สามารถสร้างอาชีพและการจัดการสิ่งแวดล้อม 173 กลุ่มบ้าน และระดับ C ชุมชนที่เรียนรู้สู่การปรับเปลี่ยน 367 กลุ่มบ้าน
4.การกระจายการพัฒนาให้ทั่วถึง (expand) ครอบคลุมกลุ่มคนด้อยโอกาสในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง และในระยะปี พ.ศ.2566-2570 การขยายผลการพัฒนาไปยังชุมชนบนพื้นที่สูงครอบคลุม 4,205 กลุ่มบ้าน ด้วยโครงการพัฒนาร่วมกับส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายการเรียนรู้
หัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังคือมิใช่เป็นกระบวนการที่เป็นเส้นตรง แต่เป็นหลักปฏิบัติวงกลมที่มีความต่อเนื่องของการค้นหาคนจน คนด้อยโอกาส ปัจจัยที่ทำให้คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังที่มีการเปลี่ยนไป กระบวนเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสที่แม่นยำ การประเมินการเปลี่ยนแปลงในระดับบุคคล กลุ่ม และชุมชน รวมทั้งการขยายผลการพัฒนาไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ทั่วถึง
เขียนและเรียบเรียงโดย : เกษราภร ศรีจันทร์
ภาพโดย : พุทธิพัทธิ์ พลอยส่งศรี