กุหลาบพันธุ์ใหม่....สู่งานส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง
กุหลาบ (Rosa sp.) เป็นไม้ตัดดอกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเชิงการค้าอันดับหนึ่งของมูลนิธิโครงการหลวงที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงมาเป็นเวลานาน โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ สถานีวิจัยเกษตรหลวงอ่างขาง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเรา โดยมูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มนำเข้าพันธุ์กุหลาบจากประเทศฮอลแลนด์มาทดสอบปลูกครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 มุ่งเน้นเพื่อให้ได้กุหลาบพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพในเชิงการค้าสำหรับส่งเสริมให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง และมีพันธุ์กุหลาบตัดดอกที่หลากหลายสามารถให้ผลผลิตส่งจำหน่ายสู่ตลาดมูลนิธิโครงการหลวงได้อย่างต่อเนื่อง และในปี พ.ศ. 2564 มีพื้นที่การผลิตทั้งหมดจำนวน 155.36 ไร่ มีเกษตรกรผู้ปลูกทั้งสิ้น 74 ราย โดยแต่ละปีจึงมีสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ผ่านการทดสอบและเตรียมส่งเสริมสู่เกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกของมูลนิธิโครงการหลวง
ในปี พ.ศ. 2558-2563 สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงได้นำเข้ากุหลาบพันธุ์ฮอลแลนด์และปลูกทดสอบผลผลิตและคุณภาพในสภาพแปลงปลูกจริง จากผลการทดสอบสามารถคัดเลือกกุหลาบพันธุ์ใหม่ที่ตลาดต้องการ และเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ปัจจุบันส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ดอกในพื้นที่สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ Red Crown, Sweet Dolomiti และ Candy Avalanche ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 มีปริมาณการผลิตกุหลาบ 40,480 ดอก สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูงซึ่งปลูกนำร่อง จำนวน 3 ราย มูลค่าทั้งสิ้น 593,102.07 บาท (ระบบงานตลาด-คัดบรรจุ มูลนิธิโครงการหลวง, 2564) ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์นี้จะมีการส่งเสริมให้แก่เกษตรกรและออกจำหน่ายสู่ตลาดต่อไป