องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ปลูกกัญชงผลิตเมล็ดเพื่อการบริโภค

เมล็ดกัญชง นอกจากจะใช้ปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ (Seed) แล้ว ยังสามารถนำมาบริโภคได้ ทั้งเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และเป็นเครื่องสำอางช่วยบำรุงผิวพรรณ

ด้วยเมล็ดกัญชงมีน้ำมันและโปรตีนสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวชนิดโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ในอัตราส่วน 3 : 1

ดั้งนั้น การวางแผนการปลูกและเก็บเกี่ยว จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยและมีเทคนิคการปลูกต่างๆ เช่น

  •  ปลูกเร็ว ประมาณช่วง มี.ค.- พ.ค. : ควรปลูกห่าง เพราะกัญชงจะมีเวลาเจริญเติบโตทางลำต้นมาก สามารถแตกกิ่งก้านได้มาก ลำต้นใหญ่ อาจสูงถึง 5 เมตร เส้นรอบวงลำต้น 20 เซนติเมตรหรือมากกว่าเลยทีเดียว
  • ช่วงปลูกที่แนะนำ เดือน มิ.ย.- ก.ค. : กัญชงจะมีเวลาเจริญเติบโตทางลำต้นประมาณ 3 เดือน และจะออกดอกประมาณปลาย ก.ย.-ต.ค. ระยะปลูกประมาณ 1x1 เมตร
  • ปลูกช้า หรือ ปลูกช่วงวันสั้น ประมาณช่วง ส.ค.-ก.พ. ควรปลูกถี่ เพราะกัญชงจะมีเวลาเจริญเติบโตทางลำต้นค่อนข้างน้อย แตกกิ่งก้านน้อย ต้นเล็ก จะเข้าสู่ช่วงการออกดอกเร็ว ระยะปลูกปรับลดลงอาจใช้ 75x50 ซม., 50x50 ซม. หรือต่ำกว่า
  • สภาพดิน กัญชงชอบดินดี รวนซุย ระบายน้ำดี ดังนั้นการปลูก ให้ยึดหลัก ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง และหากปลูกฤดูฝน ควรทำร่องระบายน้ำ
  • ช่วงเดือนแรก ควรดูแลอย่างใกล้ชิด ช่วยกำจัดวัชพืช พูนโคน เพราะกัญชงจะอ่อนแอมาก แข่งกับวัชพืชไม่เก่ง
  •  การเก็บเกี่ยว ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องเก็บเกี่ยวเมล็ดกัญชงในสภาพาการเพาะปลูกแปลงย่อยแบบในประเทศไทย ยังคงใช้แรงงานคน ในการตัดช่อเมล็ด ที่สุกแก่เป็นสีน้ำตาลประมาณ 70% แล้วมัดเป็นกำ ตากลดความชื้น แล้วหวด นวด ฝัด ทำความสะอาดเมล็ด และตากลดความชื้นเช่นเดียวกับพืชไร่ทั่วไป
  •  ศัตรูสำคัญ เช่น นกจิกกินเมล็ดและต้นอ่อน หากน้ำขัง อากาศชื้นติดต่อกัน มักเกิดโรครากเน่าโคนเน่า สามารถหลีกเลี่ยงโดยการเพาะต้นกล้า อายุ 15 วัน ในถาดเพาะแล้วย้ายลงปลูก และยกร่องระบายน้ำ หรือการคลุกเมล็ดด้วยชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดโรค


โดย ดร.สริตา ปิ่นมณี