องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ขึ้นทะเบียนพันธุ์กัญชง (Hemp) สำคัญอย่างไร?

      กัญชง สามารถขอขึ้นทะเบียนพันธุ์ได้กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับรองให้ชัดเจนถึงลักษณะเด่นประจำพันธุ์ คุณสมบัติของพันธุ์ และผู้ปรับปรุงพันธุ์ โดยกรมวิชาการเกษตรจะออกหนังสือ ร.พ.2 ให้แก่ผู้ยื่น ซึ่งสอดคล้องกับกฎกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดให้การปลูกต้องใช้เมล็ดพันธุ์รับรองเท่านั้น

(เมล็ดพันธุ์รับรองต้องผลิตจากพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนพันธุ์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และได้รับอนุญาตปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์รับรองจากกระทรวงสาธารณสุข) แต่มีข้อยกเว้นให้ในช่วง 5 ปี แรกหลังจากกฎกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้ (เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564) โดยสามารถใช้เมล็ดพันธุ์ท้องถิ่นหรือเมล็ดพันธุ์นำเข้าได้ นั้นหมายความว่าหลังจากวันที่ 28 มกราคม 2570 จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์รับรองเท่านั้น ดังนั้นถ้าไม่มีพันธุ์ที่ขึ้นทะเบียนพันธุ์ไว้ ก็จะไม่สามารถขออนุญาตผลิตเมล็ดพันธุ์ และขออนุญาตปลูกได้ นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองในสิทธิ์ของพันธุ์พืชที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมประกาศชนิดพืชกัญชง กัญชา ให้มีสิทธิ์คุ้มครองด้วย

      สวพส. ได้วิจัยและพัฒนากัญชงร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะการพัฒนาพันธุ์กัญชงนั้น มุ่งพัฒนาพันธุ์ให้มีลักษณะตรงกับความต้องการใช้ประโยชน์ ซึ่งในระยะแรกมุ่งการใช้ประโยชน์จากเส้นใย ต่อมาจึงพัฒนาพันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการในเมล็ดและสารสำคัญในช่อดอกตามลำดับ

      ปัจจุบัน สวพส. ได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์กัญชงแล้วรวม 8 พันธุ์ ประกอบด้วย ในปี พ.ศ. 2554 จำนวน 4 พันธุ์ คือ RPF1 RPF2 RPF3 และ RPF4 (ตารางที่ 1) และ ในปี พ.ศ. 2564 จำนวน 4 พันธุ์ คือ RPF5, RPF6, RPF7 และ RPF8 (ตารางที่ 2) ซึ่งคัดเลือกพันธุ์ด้วยวิธีการคัดเลือกรวม (Mass selection) ให้มีปริมาณสารเสพติด tetrahydrocannabinol หรือ THC ต่ำกว่า 0.3% และมี cannabidiol หรือ CBD มากกว่า 2 เท่าของ THC และมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยสูงด้วย

 

 

การเลือกใช้พันธุ์กัญชง RPF1-8 ให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์

      1. พันธุ์ RPF1-8 สามารถปลูกเพื่อผลิตเส้นใย

      2. พันธุ์ RPF1-4 สามารถปลูกเพื่อผลิตเมล็ดบริโภค

      3. ระดับความสูงของพื้นที่ หากเป็นพื้นที่ราบทั่วไป อุณหภูมิจะสูงกว่าพื้นที่สูง ควรเลือกใช้พันธุ์ RPF3 หรือ RPF7 ซึ่งมาจากแหล่งพันธุ์เดิมมาจากพื้นที่ระดับความสูง 990 เมตรจากระดับน้ำทะเล รองลงมาคือพันธุ์ RPF1 หรือ RPF5 ซึ่งมีแหล่งพันธุ์เดิมมาจากพื้นที่ระดับความสูง 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล

      4. การปลูกเพื่อผลิตเมล็ดสำหรับการบริโภค พันธุ์ RPF1-4 สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการในเมล็ดได้ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าพันธุ์ที่ผลิตเป็นการค้าในต่างประเทศ

      5. พันธุ์สำหรับการผลิตช่อดอกโดยเฉพาะนั้นยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพันธุ์ แต่หากจะใช้ไปพลางก่อน หรือใช้วัตถุดิบจากเศษใบที่เหลือจากระบบการผลิตเมล็ด ก็สามารถใช้พันธุ์ RPF 1-3 ซึ่งมีสัดส่วน CBD:THC ในช่วง 8-11:1 และจากการนำเศษใบที่เหลือจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ของพันธุ์ RPF3 ไปสกัดพบว่า สารสกัดที่ได้มี THC ประมาณ 1% และมีสาร CBD ประมาณ 15%

 

 

การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และส่วนประกอบเฮมพ์ของ สวพส.

         ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอให้ผู้มีชื่อในประกาศผลการพิจารณาจำหน่ายกัญชง (Hemp) ประจำปี พ.ศ. 2564 มารับเมล็ดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 และหากมีเมล็ดเหลือจากการใช้วิจัยและส่งเสริมของ สวพส.และมูลนิธิโครงการหลวงแล้ว สวพส.จะประกาศจำหน่าย ประจำปี 2565 โดยขั้นตอนการสั่งซื้อและจำหน่าย สามารถติดตามได้ทาง www.hrdi.or.th ต่อไป

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: ดร.สริตา ปิ่นมณี

แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

กรกนก อิงคนินันท์ ปณัฐพงศ์ บุญนวล สุดาพร วงศ์วาร อรระวี คงสมบัติ พรนรินทร์ เทพาวราพฤกษ์ เนติ วรนุช เพ็ญศรี เจริญสิทธิ์ วุฒิชัย วิสุทธิพรต มนุพัศ โลหิตนาวี และ พีรศักดิ์ ฉายประสาท. 2563. รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง การวิจัยและพัฒนากัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์. 406 หน้า

สริตา ปิ่นมณี สายพันธุ์ กาบใบ รัตญา ยานะพันธุ์ ศักดิ์ศิริ คุปตรัตน์ ประภัสสร ทิพย์รัตน์ และ อาลักษณ์ ทิพยรัตน์. 2563. รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) รายงานฉบับสมบูรณ์ (Final Report) โครงการย่อยที่ 1 การคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์เฮมพ์และระบบผลิตเมล็ดพันธุ์. 49 หน้า.