องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ความต้องการธาตุอาหารเมลอนบนพื้นที่สูง

     ถ้าพูดถึงแตงหอมหรือเมลอนก็คงไม่มีใครไม่รู้จัก เนื่องด้วยรสชาติหวาน ๆ และกลิ่นหอม ๆ ที่หลาย ๆ คนติดใจ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเมลอน รวมถึงความต้องการธาตุอาหารหรือความต้องการปุ๋ยของเมลอนบนพื้นที่สูงกันสักหน่อย แตงหอมหรือเมลอน (muskmelon) เป็นพืชในตระกูลแตง (Cucurbitaceae) เช่นเดียวกับแตงกวา แตงโม แคนตาลูบ และแตงไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis melo L. เมลอนที่เราเห็นกันทั่วไปอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า cantalupensis มีลักษณะผลขนาดใหญ่ปานกลาง ผิวผลมีทั้งแบบเป็นตาข่ายและแบบผิวเรียบ เนื้อมีสีส้มหรือสีเขียว มีรสหวานและมีกลิ่นหอม

     สำหรับพื้นที่สูงเมลอนถือว่าเป็นพืชที่มีศักยภาพที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยใช้พื้นที่ขนาดเล็ก ปัจจุบันมีการปลูกเมลอนในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงหลายแห่ง เช่น ห้วยเป้า และ ปางแดงใน อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ ขุนสถาน อ. นาน้อย จ. น่าน ห้วยน้ำขาว อ. เขาค้อ จ. เพชรบูรณ์ และคลองลาน อ. คลองลาน จ. กำแพงเพชร เป็นต้น ซึ่งปลูกภายใต้ระบบโรงเรือนทั้งปลูกลงดิน และปลูกลงถุงโดยใช้วัสดุปลูก ให้ปุ๋ยไปกับระบบน้ำ ปุ๋ยที่ใช้ก็จะเป็นปุ๋ย AB ที่ขายกันในท้องตลาด หรือปุ๋ย AB ที่ปรับสูตรในแต่ละพื้นที่ แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า แต่ละรอบของการปลูกเมลอนนั้น ต้องการปุ๋ยจริง ๆ เท่าไหร่ แล้วปุ๋ยที่ใช้ทุกวันนี้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของของเมลอนหรือยัง

     เนื่องจากปุ๋ยที่ใส่มันคือต้นทุนที่เกษตรกรต้องจ่ายไปในทุก ๆ รอบของการปลูกเมลอน ถ้าปุ๋ยที่เกษตรกรใส่ลงไปเกินความต้องการของพืชแล้ว ต่อให้เติมลงไปอีกเท่าไหร่ พืชก็ไม่สามารถดูดขึ้นไปกินได้ก็เหมือนเราทิ้งปุ๋ย ทิ้งเงินในกระเป๋าโดยไม่จำเป็น และการศึกษาปริมาณความต้องการธาตุอาหารของเมลอนที่ปลูกบนพื้นที่สูงก็ยังมีไม่มากนัก

     ดังนั้นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จึงได้ทำการศึกษาถึงปริมาณความต้องการธาตุอาหารของเมลอนที่ปลูก โดยพื้นที่ที่ทำการศึกษาได้แก่ ห้วยเป้า และคลองลาน : ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่นี้มีการปลูกเมลอนลงดิน ห้วยเป้าปลูกเมลอนพันธุ์บารมี ซึ่งมีผิวผลเป็นแบบตาข่าย ส่วนพื้นที่คลองลานปลูกพันธุ์จันทร์ฉาย พบว่าในการปลูกเมลอนในโรงเรือนขนาด 6 x 30 เมตร มีจำนวนต้นเมลอน 400 ต้นต่อโรงเรือน เมลอนทั้ง 2 พันธุ์มีปริมาณการดูดใช้ธาตุอาหารไม่แตกต่างกัน โดยธาตุอาหารหลักที่มีการดูดไปใช้มากที่สุด 4 ลำดับแรก คือ โพแทสเซียม (5.72-10.79 กิโลกรัมต่อโรงเรือน) ไนโตรเจน (2.46 – 3.81 กิโลกรัมต่อโรงเรือน) แคลเซียม (3.52 -3.56 กิโลกรัมต่อโรงเรือน) และฟอสฟอรัส (0.76 -1.46 กิโลกรัมต่อโรงเรือน) ส่วนจุลธาตุที่ต้องการมากที่สุดคือทองแดง (166.26 – 166.55 กรัมต่อโรงเรือน) และจากการเก็บตัวอย่างดินที่มีการปลูกเมลอนติดต่อกันหลายปี พบว่ามีการการสะสมของธาตุอาหารหลายๆ ตัวในปริมาณที่สูงมาก แต่ก็ยังพบว่าธาตุอาหารที่ยังไม่เพียงพอต่อการปลูกเมลอน ได้แก่ โพแทสเซียม ไนโตรเจน ทองแดง และโบรอน ที่ยังต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมลงไปในแต่ละรอบของการปลูกเมลอน ส่วนสูตรปุ๋ยเมลอนบนพื้นที่สูงจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป

การให้ปุ๋ยปุ๋ยไปกับระบบน้ำ

เมลอนพันธุ์บารมี

เมลอนพันธุ์จันทร์ฉาย

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: จุไรรัตน์ ฝอยถาวร และดารากร อัคฮาดศรี นักวิจัย