องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

“เจีย” พืชเศรษฐกิจใหม่บนพื้นที่สูง

     เจีย (Chia Seeds) ชื่อวิทยาศาสตร์ Salvia hispanica L. ซึ่งอยู่ในวงศ์ Lamiaceae อยู่ในกลุ่มเดียวกับกระเพรา โหรพา แมงลัก เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงฤดูเดียว มีถิ่นกำเนิดอยู่ทวีปอเมริกาเหนือแทบประเทศเม็กซิโก - กัวเตมาลา ชาวเม็กซิโกและโบลิเวียนิยมรับประทานเป็นอาหารนานกว่า 5,000 ปี

      สภาพแวดล้อม : เจียสามารถเจริญเติบโตได้ในเขตร้อน และเขตกึ่งร้อน ช่วงความสูงที่ปลูกได้ตั้งแต่ 400 ถึง 2,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม 16 – 26 C๐ โดยแหล่งผลิตหลักของโลกอยู่ที่ประเทศเม็กซิโก ส่วนในประเทศไทยปลูกมากที่จังหวัดลำปาง และกาญจนบุรี 

      ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ต้นเจียมีความสูงอยู่ระหว่าง 90 -110 เซนติเมตร ดอกสีม่วง ขาว ความยาวช่อดอก 15 – 20 เซนติเมตร สีเมล็ดมี 2 สี คือ สีดำ และสีขาว น้ำหนัก 1,000 เมล็ด 1.24 – 1.43 กรัม

      ฤดูการปลูก : ฤดูที่เหมาะสมในประเทศไทย คือช่วงปลายฤดูฝน (สิงหาคม – กันยายน) และช่วงฤดูหนาว (พฤศจิกายน – ธันวาคม) 

      วิธีการปลูก : การปลูกมี 2 วิธีการ คือ วิธีการที่ 1 ปลูกเป็นหลุม ปลูกระยะ 35 x 35 เซนติเมตร โดยการเพาะกล้า อายุ 30 วัน ปลูก 1 ต้น/หลุม ให้ผลผลิต 450 กิโลกรัมต่อไร่ (ดนุพล, 2561) วิธีการที่ 2 ปลูกแบบโรยแถว ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร อัตราเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิต 320 – 400 กิโลกรัมต่อไร่

 

 

 

     การดูแลรักษา : ใส่ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ หลังจากปลูก 25 วัน และใส่ปุ๋ย 15 -15 -15 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ เมื่ออายุ 45 วัน

     วิธีการเก็บเกี่ยว : เก็บเกี่ยวผลผลิตเมล็ดเจียช่วง 95 - 135 วันหลังปลูก ที่ความแก่ 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเมล็ดเจียมีเยื่อหุ้มเมล็ดปิดหุ้มทำให้หลุดร่วงยาก จึงเก็บเกี่ยวในช่วงที่สุกแก่มากได้ หลักจากเก็บเกี่ยวแล้วนำมาตากให้แห้ง ประมาน 2 วัน จากนั้นนวดทำการกะเทาะเมล็ดเจียออกและทำความสะอาดโดยใช้ลมแยกเศษเปลือกออกได้

 

 

ประโยชน์ของเมล็ดเจีย

     1. การลดน้ำหนัก เมล็ดเจียเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเมล็ดเจียมีการดูดซึมน้ำและผลิตเจลในปริมาณมาก คล้ายกับเมล็ดแมงลัก ซึ่งทำให้อิ่มท้องนานขึ้น อีกทั้งเมล็ดเจียให้พลังงาน โปรตีน และสารอาหารต่างๆ ที่สูงมาก ครบตามที่ร่างกายต้องการ

     2. น้ำมันOmega-3 ซึ่งเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ 

     3. แคลเซียมที่ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ลดการเสื่อมของกระดูกในผู้สูงอายุ

     4. ไฟเบอร์ที่สูงซึ่งเป็นกากใยอาหารที่สำคัญต่อการขับถ่าย สำหรับผู้ที่ท้องผูกหรือมีปัญหาระบบขับถ่าย ไฟเบอร์จากเมล็ดเจียถือเป็นทางเลือกที่ดีมาก

     5. เมล็ดเจียมี เมือก Mucilage (มูซิลเลจ) สูงมาก กากใยชนิดนี้ทำหน้าที่เป็นตัวชะลอในกระบวนการเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล มีประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

     6. โปรตีนสูงสูงกว่าเมล็ดแมงลักที่เป็นพืชตระกูลเดียวกัน ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมเเซมส่วนที่สึกหรอ โดยสารอาหารจะผ่านเข้าไปตามระบบไหลเวียนโลหิตแล้วไปสู่อวัยวะต่างๆ ซึ่งเหมาะกับทุกเพศทุกวัย 

 

วิธีการบริโภค 

     1. รับประทานแบบเมล็ดแห้ง โรยบนสลัด หรือจะผสมในขนมปังอบ หรือใส่คุกกี้ (รับประทานมากไปอาจทำให้ท้องอืด)

     2. รับประทานแบบผสมน้ำเปล่า น้ำผลไม้ นม น้ำเต้าหู้ ชา กาแฟ เป็นต้น (ในอัตราส่วนน้ำ 1 แก้ว เมล็ดเจีย 1 ช้อนโต๊ะ)

     3. สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งวัน ระหว่างมื้อ ก่อนอาหาร หรือเป็นมื้อเย็น แนะนำให้รับประทานเป็นประจำ วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ช่วงควบคุมน้ำหนักทานได้ถึง 3 ช้อนโต๊ะ (เมล็ดแห้ง)

 

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นายอดิเรก ปัญญาลือ และ นายธัญพิสิษฐ์ ใจแข็ง

แหล่งที่มา / เอกสารอ้างอิง:

ดนุพล เกษไธสง กัญชร วรวิทยกิจ และ กมล เลิศรัตน์ .ศักยภาพการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของเมล็ดเจีย (Salvia hispanica L.) ในประเทศไทย. การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน 2561.

ไมตรี สุทธจิตต์ จักรกฤษณ์ คณารีย์ พยุงศักดิ ตันติไพบูลย์วงศ์ และศักดิ พินธะ (2558) “กรดไขมันโอเมก้า-3, โอเมก้า-       6 และสารอาหารของเมล็ดงาม้อนในภาคเหนือของ ประเทศไทย”วารสารนเรศวรพะเยา ปีที่ 8 ฉบับที่2 หน้า         80-86

สิรภัทร บุญปั๋น ต่อนภา ผุสดี นริศ ยิ้มแย้ม กรวรรณ ศรีงาม เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม และศันสนีย์ จำจด (2558) “การประเมินลักษณะประชากรงาขี้ม้อนพื้นเมืองจากภาคเหนือตอนบน ของประเทศไทย” วารสารแก่นเกษตร ปีที่ 43 หน้า 285-296

Cecilia Baginsky, Jorge Arenas, Hugo Escobar, Marco Garrido, Natalia Valero, Diego

Tello, Leslie Pizarro, Alfonso Valenzuela, Luís Morales, and Herman Silva. Growth and yield of chia (Salvia hispanica L.)in the Mediterranean and desert climates of Chile. CHILEAN JOURNAL OF AGRICULTURAL RESEARCH 76(3) JULY-SEPTEMBER 2016.

         Samantha J. Grimes ,Timothy D. Phillips ,Filippo Capezzone, OrcID andSimone Graeff-Hönninger. Impact of Row Spacing, Sowing Density and Nitrogen Fertilization on Yield and Quality Traits of chia (Salvia Hispanica L.) Cultivated in southwestern Germany. Agromomy 2019,9,136;doi:103390/agronomy9030136.