องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

การปรับปรุงดินบนพื้นที่สูง

ดินเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการเกษตร เนื่องจากดินเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของพืช โดยทั่วไปดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช จะต้องมีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช ขณะเดียวกันก็ต้องมีคุณสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่ย่ารดเกาะของรากพืช ช่วยยึดลำต้นให้แน่น ไม่ให้ล้มเอียง และยังทำหน้าที่เก็บกักน้ำเพื่อการเจริญเติบโตของพืช

การทำการเกษตรติดต่อกันเป็นระยะเวลานานโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน จะส่งผลต่อคุณสมบัติของดินทั้งทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ ทำให้ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะการทำการเกษตรบนพื้นที่สูง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชัน มากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ทำให้เกิดปัญหาการชะล้างพังทลายหน้าดิน โดยเฉพาะการทำการเกษตรแบบตัดและเผาที่เปิดหน้าดินโล่งรับแรงปะทะกับเม็ดฝนโดยตรง ส่งผลให้หน้าดินถูกชะล้างไปทุกปีทำให้พื้นที่เกษตรเหลือแต่ดินชั้นล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเป็นดินปนหิน ไม่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

ดังนั้นการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงดินร่วมกับระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ

รวมถึงการวิเคราะห์ดินซึ่งจะนำไปสู่วิธีการหรือแนวทางการปรับปรุงดินที่เหมาะสมต่อไป โดยการปรับปรุงดินแบ่งได้ ดังนี้

1 การปรับปรุงดินทางกายภาพ

การปรับปรุงดินทางกายภาพ คือ การปรับสภาพโครงสร้างของดินให้เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของรากพืช ทำให้มีช่องว่างสำหรับการระบายน้ำและการถ่ายเทอากาศได้ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เพื่อเพิ่มหรือรักษาระดับของอินทรียวัตถุในดินให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม

  • ดินเนื้อละเอียดผิวดินแน่นทึบ มีการระบายน้ำไม่ดี ต้องจัดการให้ดินสามารถระบายน้ำได้ดีขึ้น โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินได้
  • ดินเนื้อหยาบไม่เก็บกักน้ำและธาตุอาหาร ต้องจัดการดินเพื่อให้ดินสามารถเก็บกักน้ำและธาตุอาหารได้ดีขึ้น โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุลงไปในดินในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะช่วยทำให้ดินเกาะตัวเป็นก้อน ร่วนซุย เป็นผลทำให้การระเหยของน้ำจากดินช้าและลดน้อยลง ทำให้ดินสามารถดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้มากขึ้น เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน

 2 การปรับปรุงบำรุงดินทางด้านเคมี

การปรับปรุงบำรุงดินทางด้านเคมี เป็นการทำให้ดินมีปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอและสมดุล ธาตุอาหารต่างๆ สามารถละลายและเป็นประโยชน์ได้ หรือการจัดการเพื่อลดโอกาสในการสูญเสียธาตุอาหาร ดังนั้น หากดินขาดความอุดมสมบูรณ์สามารถเพิ่มปริมาณธาตุอาหารได้ด้วยการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ ปริมาณปุ๋ยที่ใช้ควรสอดคล้องกันระหว่างปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน ความต้องการธาตุอาหารของพืช และอัตราการสูญเสียปุ๋ยของดิน ดังนั้นจึงควรมีการวิเคราะห์ดินเพื่อคำนวณเป็นคำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

  • ดินมีความเป็นกรด-ด่าง ไม่เหมาะสมต่อชนิดพืช เช่น ถ้าดินเป็นกรด ควรแก้ไขด้วยการใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อยกระดับค่าความเป็นกรด-ด่างของดินให้สูงขึ้น ทำให้ธาตุอาหารละลายออกมาง่ายขึ้น
  • ดินมีปัญหาการตรึงธาตุอาหาร หรือธาตุอาหารอยู่ในรูปที่ละลายได้ยาก ควรแก้ไขด้วยการใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ร่วมกับการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ในการช่วยการละลายธาตุอาหารให้เป็นประโยชน์สำหรับพืชได้ง่ายขึ้น

3 การปรับปรุงบำรุงดินด้านชีวภาพ

การปรับปรุงบำรุงดินด้านชีวภาพ โดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และมีคุณสมบัติพิเศษสามารถสังเคราะห์สารประกอบธาตุอาหารพืชได้เอง หรือสามารถเปลี่ยนธาตุอาหารพืชที่อยู่ในรูปที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช ให้มาอยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ได้ การปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การใช้จุลินทรีย์ที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศ

นอกจากการปรับปรุงดินแล้วการปลูกพืชบนพื้นที่สูงควรจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำร่วมด้วย เพื่อลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน การสูญเสียธาตุอาหารพืช และการกักเก็บน้ำของดิน แบ่งออกเป็น มาตรการวิธีกล เช่น การทำขั้นบันไดดิน คูรับน้ำขอบเขา การปลูกพืชตามแนวระดับ คันดิน ฝายชะลอน้ำ และมาตรการวิธีพืช เช่น การปลูกพืชคลุมดิน ปลูกพืชหมุนเวียน ปลูกพืชสลับ ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงอนุรักษ์แบบผสมผสาน การปลูกหญ้าแฝกขวางความลาดชัน เป็นต้น

  • การปรับปรุงบำรุงดินด้วยระบบพืชคลุมดิน (Cover cropping) คือ การปลูกหญ้าหรือพืชตระกูลถั่วคลุมดิน ซึ่งจะช่วยควบคุมการกร่อนของดิน และช่วยปรับปรุงดินได้ เช่น การปลูกถั่วดำ ถั่วนิ้วนางแดง ถั่วลอดและถั่วพร้าคลุมดิน จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในดินได้ และช่วยลดแรงปะทะกับเม็ดฝนโดยตรง
  • การปรับปรุงดินด้วยระบบปลูกพืชเป็นแถบ (Strip cropping) คือการปลูกพืชที่มีระยะปลูกถี่และห่างเป็นแถบสลับขวางความลาดเทของพื้นที่ตามแนวระดับ เช่น การปลูกแถบไม้พุ่มบำรุงดิน (กระถินผสมมะแฮะ) การปลูกแถบพืชตระกูลถั่วเพื่อการอนุรักษ์ในข้าวไร่ สามารถลดการเกิดการชะล้างของดินและช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • การปรับปรุงดินด้วยระบบพืชเหลื่อมฤดู (Relay cropping) คือ การปลูกพืชต่อเนื่องคาบเกี่ยวกัน โดยพืชชนิดที่สองจะปลูกในระหว่างแถวของพืชแรกซึ่งอยู่ในช่วงสะสมน้ำหนักของผลผลิตแต่ยังสุกแก่ไม่เต็มที่ ได้แก่ การปลูกข้าวโพดเหลื่อมถั่วนิ้วนางแดง หรือ ข้าวโพดเหลื่อมถั่วดำ

เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: นางสาวดารากร อัคฮาดศรี