หางนกยูงฝรั่ง
หางนกยูงฝรั่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Delonix regia (Bojer) Raf. อยู่ ในวงศ์ถั่ว (Leguminosae) เช่นเดียวกับนนทรี ขี้เหล็ก ประดู่แดง ชงโค คูน กาหลง กัลปพฤกษ์ และก้ามปู เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดเดิมอยู่บนเกาะมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2367 โดยนักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ในประเทศไทยมีผู้นำเข้ามาปลูกเพื่อความสวยงาม โดยปัจจุบันมีต้นหางนกยูงสองชนิดคือหางนกยูงฝรั่งและหางนกยูงไทยที่เป็นไม้พุ่มและดอกสีสดใสหลากสี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นโตเต็มที่สูงราว 12 - 18 เมตร เรือนยอดแผ่กว้างทรงกลมคล้ายร่ม แผ่กิ่งก้านออกคล้ายก้ามปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำต้นเกลี้ยง เปลือกสีน้ำตาลอ่อนอมขาวถึงสีน้ำตาลเข้ม โคนต้นเป็นพูพอน มักมีรากโผล่พ้นดินออกโดยรอบเมื่อโตเต็มที่ ใบเป็นใบประกอบขนนกสองชั้นเรียงเวียนสลับและมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน ขนาดใบย่อยใกล้เคียงกับใบย่อยของมะขาม แผ่นใบรูปขอบขนาน ปลายกลมโคนเบี้ยว ผิวใบเกลี้ยง เป็นพืชผลัดใบ ในประเทศไทยมักผลัดใบในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน
ออกดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่งดูงดงามเป็นพิเศษ ช่อดอกออกตามปลายกิ่ง และตามง่ามใบใกล้ปลายกิ่ง ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ และเกสรตัวผู้ยาวงอนออกมาเหนือกลีบดอก กลีบดอกหางนกยูงความจริงประกอบด้วยสี 2 สี คือสีแดงและสีเหลือง แต่ส่วนใหญ่จะมี 2 สีนี้อยู่ด้วยกันจึงเห็นเป็นสีแสด ดอกใดที่สีเหลืองมากกว่าก็เป็นสีแสดออกเหลือง ดอกใดสีแดงมากกว่าก็เป็นสีแสดออกแดง แต่ก็มีหางนกยูงบางต้นออกดอกสีแดงแท้ๆ และบางต้นออกดอกสีเหลืองบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยาก โดยทั่วไปจึงพบแต่หางนกยูงฝรั่งสีแสด ทั้งนี้ผลของหางนกยูงฝรั่งเป็นฝักแบนโค้งรูปดาบ และเมล็ดเรียงตามขวาง
การขยายพันธุ์ ใช้เมล็ดเป็นหลัก และสามารถใช้วิธีติดตา ต่อกิ่ง เสียบยอด (ที่จะทำให้ไม่กลายพันธุ์) และขึ้นได้ดีในดินทั่วไป
ฤดูออกดอก
หางนกยูงฝรั่งออกดอกเป็นช่อ ในช่วงช่วงอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปีใดอากาศร้อนและแห้งแล้งมากจะยิ่งออกมาก ดอกดกและทิ้งใบทั้งต้น เหลือแต่ดอกบานสะพรั่ง
สรรพคุณทางยา
รากนำมาต้มหรือทอดรับประทานกับอาหาร เป็นยาขับโลหิตในสตรี แก้อาการบวมต่าง ๆ ลำต้นนำมาฝนทาแก้พิษ ถอนพิษสัตว์ต่อยกัดได้ เมล็ดอ่อนของหางนกยูงฝรั่งนำมากินสด ๆ ได้ สำหรับเมล็ดแก่ต้องนำมาทำให้สุกเสียก่อนจึงจะใช้กินได้ เพราะมีสารประกอบบางชนิดที่เป็นพิษ แต่จะถูกทำลายด้วยความร้อน
เกร็ด
หางนกยูงฝรั่งเป็นต้นไม้พระราชทานให้เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ชาวธรรมศาสตร์เรียกว่า "ต้นยูงทอง") และนอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์
แหล่งอ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/หางนกยูงฝรั่ง