องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ราชพฤกษ์

ชื่อไทย : ราชพฤกษ์

ชื่อท้องถิ่น : คูน(กลาง,เหนือ)/ ชัยพฤกษ์(กลาง)/ ล้มแล้ง(เหนือ)

ชื่อสามัญ : Golden shower/ Indian laburnum/ Pudding-pine tree

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistula L.

ชื่อวงศ์ : CAESALPINIACEAE

ลักษณะวิสัย : ไม้ยืนต้น

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ลำต้น :

ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 10-15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกเรียบเกลี้ยงสีเทาอ่อน สีเทาอมน้ำตาลหรือสีนวล กิ่งอ่อนเกลี้ยง เนื้อไม้สีแดงอมเหลือง

ใบ :

ประกอบแบบขนนก ปลายคู่ ช่อใบติดเรียงสลับ แต่ละช่อมีใบย่อย 3-8 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-8 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบบางเกลี้ยงเป็นมัน เส้นแขนงใบข้างละ 12-17 เส้น ก้านใบย่อยยาว 4-6 มม.

ดอก :

ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะยาวตามซอกใบห้อยย้อยลง ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกโปร่งยาว 20-45 ซม. ดอกบานเต็มที่กว้าง 5-8 ซม.สีเหลือง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน ขนาดไม่เท่ากัน เกสรเพศเมีย รังไข่เหนือวงกลีบ รังไข่และก้านเกสรมีขน

ผล :

เป็นฝักแห้งรูปทรงกระบอก ผิวเกลี้ยงสีดำ ยาว 20-60 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 – 2.5 ซม.แขวนห้อยลงจากกิ่ง เมล็ด จำนวนมาก รูปแบนมนสีน้ำตาลเป็นมัน

ระยะติดดอก - ผล :

เริ่มติดดอก : มีนาคม สิ้นสุดระยะติดดอก : เมษายน

เริ่มติดผล : มิถุนายน สิ้นสุดระยะติดผล : กรกฎาคม

สภาพทางนิเวศวิทยา :

นิเวศวิทยา พบในป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรังทั่วๆไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50 –500 เมตร

ถิ่นกำเนิด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตอนกลาง ทางใต้ของอเมริกา และออสเตรเลียตอนเหนือ

การกระจายพันธุ์

การใช้งานด้านภูมิทัศน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับให้ร่มเงาทั่วไปเพราะดอกมีสีสวย

การปลูกและการขยายพันธุ์ : การปลูก เพาะเมล็ดให้ได้ต้นกล้าสูง 30-50 ซม. ขุดหลุมกว้างและลึก 50-70 ซม. ตากดินไว้ 10-15 วันใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมนำต้นกล้าลงปลูก กลบดินให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม ปลูกง่าย ไม่ช้าก็จะตั้งตัวได้


รายละเอียดการใช้ประโยชน์ :

- ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดแก้ท้องผูก ขับเสมหะ

- ดอกแก้ไข้เป็น ยาระบาย

- ปลูกเป็นไม้ประดับ

- เนื้อไม้ใช้ทำเสา ทำสิ่งก่อสร้างอุปกรณ์การเกษตร ... [1]

- ใบต้มกินเป็นยาระบาย ขับพยาธิ

- รากและแก่น ขับพยาธิ …[2]

- ฝัก รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด ไม่มีพิษสรรพคุณใช้ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้เด็กเป็นตานขโมย เป็นยาถ่ายและแก้ไข้มาลาเรีย

- เนื้อในฝัก รสหวานเอียน ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบาย แก้ไข้มาลาเรีย แก้ปวดข้อ

- เมล็ด เมล็ดเป็นยาระบายและทำให้อาเจียน

- ดอก รสขมเปรี้ยว เป็นยาถ่ายแก้โรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและแผลเรื้อรัง

- ใบอ่อน รสเมา แก้กลาก

- ใช้เปลือก เนื้อไม้ และผลมาทำสีย้อมให้สีเหลือง ใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายและผ้าไหม …[4]

- ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เนื้อในฝักคูนมีสารประเภท Anthraqinones หลายตัว เช่น Aloin, Rhein, Sennoside A, B และยังมี Organic acid สาร Anthraquinone ทำให้เนื้อฝักคูนมีฤทธิ์เป็นยาระบายได้ โดยมีฤทธิ์ไปกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ เหมาะสำหรับผู้ที่ท้องผูกเป็นประจำ

ประเภทของการใช้ประโยชน์ :

พืชล่อแมลง

ไม้ยืนต้น

พืชสมุนไพร

แหล่งอ้างอิง : [1] มูลนิธิสวนหลวง ร. ๙. 2547. ไม้นามตามถิ่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด. กรุงเทพมหานคร. [2] เอื้อมพร วีสมหมาย และปณิธาน แก้วดวงเทียน. 2552. ไม้ป่ายืนต้นของไทย 1. พิมพ์ครั้งที่ 2. เอช เอ็น กรุ๊ป จำกัด. กรุงเทพมหานคร. [3] สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (http://www.culture.go.th/knowledge/story/nation/nation.html) 23082553 [4] ต้นไม้และดอกไม้ประจำจังหวัด http://www.panmai.com/ 23082553