องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เทอร์นิพ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica campestrisvar. rapa

ชื่อสามัญ Turnip

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป เทอร์นิพเป็นพืชในเขตหนาวและอบอุ่น จัดอยู่ในตระกูล Brassicaceae เป็นอาหารของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์ แต่บางครั้งใช้เป็นอาหารของสัตว์ มีแหล่งกำเนิดในประเทศรัสเซีย ไซบีเรีย เป็นพืชสองฤดูแต่ปลูกเป็นพืชฤดูเดียว มีลักษณะคล้ายแรดิช รับประทานส่วนของรากสะสมอาหาร ที่ขยายใหญ่และเรียกว่า หัว (swallen root) ซึ่งมีหลายแบบ เช่น ทรงแบน ทรงกระบอก ใบมีสีเขียวอ่อน ลักษณะบาง มีขนปกคลุม นิยมบริโภคกันมากในรัฐทางภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาและในยุโรป เทอร์นิพเคยเป็นพืชผักที่สำคัญในประเทศญี่ปุ่น จีนตอนเหนือ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันความสำคัญลดน้อยลง สำหรับประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากคนไทยนิยมบริโภคผักกาดหัวจีนมากกว่า หัวเทอร์นิพ มีรสชาติดี กรอบ แต่ต้องเก็บเกี่ยวในระยะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการฟ่ามหรือกลวงตรงกลาง รับประทานส่วนของรากที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน สีขาวลักษณะเหมือนหัวไชเท้า แต่มีรูปทรงสั้นกว่า นิยมนำมาทำซุป ต้มจืด หรือลวกเพื่อรับประทานในจานสเต็ก สลัด

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร เทอร์นิพเป็นผักที่มีวิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินบี ในปริมาณสูงเช่นเดียวกับพืชอื่นๆ ในตระกูล Brassicaceae นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหาร เช่น แคลเซียม และคาร์โบไฮเดรตสูง ประกอบอาหารได้ทั้งหัวและใบ เช่น ต้มจืด ต้มซุป หรือใช้ประกอบอาหารได้เช่นเดียวกับผักกาดหัวจีน หรือหัวไชเท้า

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

ดินที่ปลูกเทอร์นิพได้ผลดีควรเป็นดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุสูง มีการระบายน้ำและอากาศดี  หน้าดินลึก ความเป็นกรด – ด่างของดิน 6.0 – 6.5 และต้องการความชื้นในดินสูง เนื่องจากเทอร์นิพเป็นพืชวันยาวต้องการอุณหภูมิต่ำ เพื่อการเจริญเติบโต และการฟอร์มหัว อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 15 – 20 องศาเซลเซียส เทอร์นิพต้องการความเข้มแสงสูง ประมาณ 5,000 lux ความเข้มของแสงมีอิทธิพลต่อปริมาณวิตามินซี ในหัวเทอร์นิพ ถ้าความเข้มแสงสูงปริมาณวิตามินซีในหัวเทอร์นิพจะสูงขึ้นตามลำดับ

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า หยอดเมล็ดในแปลงปลูกตามแนวขวาง ระยะห่างระหว่างแถว 25 ซม .

ข้อควรระวัง – อย่าหยอดเมล็ดให้ลึกเกินไปและควรหยอดอย่างระมัดระวัง

การเตรียมดิน ขุดดินตาดแดดประมาณ 2 สัปดาห์ โรยปูนขาว อัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. ทิ้งไว้

การปลูก ขุดพลิกดินที่ตากแดดไว้อย่างน้อย 14 วัน กำจัดวัชพืช ขึ้นแปลงกว้าง 1 เมตร ย่อยดินให้ระเอียดใส่ปุ๋ย 12 – 24 –12 อัตรา 30 กรัม/ตร.ม. ปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก./ตร.ม. และโบแรกซ์อัตรา 1 กรัม/ตร.ม. (ถ้าพบว่าดินขาดโบรอน) คลุกผสมกับดินให้ทั่ว ปรับหน้าดินให้เรียบ ขีดร่องลึก 0.5 ซม. ระยะปลูก 20 ซม. ระหว่างแถว 10 ซม.หยอดเมล็ดแล้วกลบดิน

การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรให้น้ำแฉะจนเกินไป อาจติดตั้งมินิสปริงเกอร์หรือใช้หัวบัวฝอยรด

การให้ปุ๋ย หลังจากหยอดเมล็ด ทำการถอนแยกเอาต้นที่อ่อนแอออกทิ้งและกำจัดวัชพืช เมื่ออายุได้ 10 – 15 วัน ใส่ปุ๋ย 8 – 24 – 24 โดยทำร่องลึก 2 – 3 ซม. ระหว่างต้น โรยปุ๋ยลงร่อง กลบดินและรดน้ำ

ข้อควรระวัง

  1. ควรฉีดพ่นอาหารเสริม
  2. ระวังการขาดโบรอน จะทำให้หัวแตก
  3. ควรมีการให้น้ำที่สม่ำเสมอ
  4. การดูแลโดยกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ
  5. การเตรียมแปลงปลูกให้มีสภาพร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์

 

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุได้ 40 – 50 วัน

การเก็บเกี่ยว

  1. เก็บเกี่ยวเมื่ออายุและขนาดเหมาะสม โดยถอนขึ้นจากดิน
  2. ตัดใบออกเหลือก้านใบ ประมาณ 1 นิ้ว ล้างให้สะอาดด้วยน้ำ
  3. ผึ่งให้แห้ง ระวังอย่าให้เกิดรอยแผลหรือช้ำขณะล้าง
  4. จัดชั้นคุณภาพ บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่กรุด้วยกระดาษทั้งตระกร้า

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นเทอร์นิพทั้งหัว สด สะอาด มีรูปร่างและสีตรงตามพันธุ์ ไม่มีจุดสีน้ำตาลหรือดำ หรือช่องว่างภายในหัว ไม่มีใบปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง  1. หัวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตรขึ้นไป

       2. ผิวอาจมีตำหนิจากริ้วรอยได้บ้างแต่ต้องไม่ชัดเจน

       3. ไม่มีตำหนิจากรอยแตก ช้ำ ผิวเป็นสะเก็ด และแผลเป็น

       4. เนื้อมีความแน่น ไม่ฟ่าม

       5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. หัวมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร

       2. อาจมีรูปร่างผิดปกติได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

       3. มีตำหนิจากสะเก็ด และแผลเป็นได้บ้างแต่ไม่ชัดเจน

       4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. หัวมีเส้นผ่าศูนย์กลางหัวน้อยกว่า 4 เซนติเมตร

      2. มีตำหนิได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      3. อาจมีรูปร่างผิดปกติได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

      4. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง เทอร์นิพในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 4 – 5 เดือน

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์