ตุ่มเงินตุ่มทอง
ชื่อสามัญ Pussy willow
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salix sp.
ตุ่มเงินตุ่มทอง เป็นพืชที่เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่ ศูนย์ฯ ห้วยน้ำริน และผลผลิตคุณภาพสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนพื้นที่สูง สามารถปลูกได้ในระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 800-1,000 เมตร
การขยายพันธุ์
วิธีการปักชำ
นำกิ่งดอกยาว 10-15 เซนติเมตร ปักชำในแปลงที่เตรียมวัสดุปลูก เช่น เปลือกข้าว ปุ๋ย-หมัก ขนาดแปลงปลูกกว้าง 1 เมตร ปักชำกิ่งห่างกัน 10 เซนติเมตร รดน้ำทุกๆ วัน ประมาณ 1-2 เดือน หรือนำไปปักชำในขี้เถ้าแกลบดำใส่ในถุงพลาสติกขนาด 6x8 เซนติเมตร ปักชำประมาณ 1-2 เดือน (รดน้ำทุกๆ วัน)
การอนุบาล
การอนุบาลต้นเพื่อรอการปลูกในโรงเรือนภายใต้ซาแลน 50 เปอร์เซ็นต์
ช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการขยายพันธุ์
ควรปลูกต้นกล้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน สำหรับพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดปี ส่วนพื้นที่ไม่มีน้ำต้องรอเข้าฤดูฝน
การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก
การเตรียมแปลง
การปลูกดอกตุ่มเงินตุ่มทอง ควรมีการไถพรวนกำจัดวัชพืชหรือฆ่าเชื้อโรคในแปลงปลูกอย่างน้อย 30-40 วัน รวมทั้งวัสดุปลูก เช่น เปลือกข้าว ปุ๋ยหมัก ขี้วัว
การเตรียมดิน
ปรับสภาพดินด้วยปูนขาว หว่านให้ทั่วแปลง ควรมีค่า pH ของดินประมาณ 5-6 และปรับพื้นที่ให้เรียบหรือปรับระดับสูง-ต่ำ เพื่อให้มีการระบายน้ำดีหรือมีการยกร่องในช่วงฤดูฝนเนื่องจากปริมาณน้ำมีมาก
เทคนิควิธีการปลูก
ขุดหลุมปลูกดอกตุ่มเงินตุ่มทองความกว้าง 30 เซนติเมตร ความยาว 30 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร ดินปลูกควรเป็นดินดี หรือดินเดิมที่เพิ่มอินทรีย์วัตถุ เพื่อปรับปรุงดินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น นำต้นกล้าตุ่มเงินตุ่มทองที่สมบูรณ์แข็งแรงดีลงปลูกในหลุมเตรียมดินแล้ว ปลูกต้นกล้าให้ตั้งตรงนำไม่ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ความยาว 30 เซนติเมตร ปักลงข้างต้นกล้า ผูกเชือกฟางอ่อนเพื่อยึดลำต้นให้ตรงรดน้ำเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง และเจริญเติบโตต่อไป
การดูแลรักษา
การจัดการด้านความเข้มแสง
ใช้แสงประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคม เพื่อให้มีการเจริญเติบโตการยืดของกิ่งให้มีความยาวตามความต้องการ
การจัดการด้านอุณหภูมิ
อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ช่วยในการเจิญเติบโตของตุ่มดอก ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและให้มีการยืดของกิ่งยอดหยุดการเจริญเติบโตต่อไป
ปุ๋ย
การใส่ปุ๋ยดอกตุ่มเงินตุ่มทอง ใส่ปุ๋ยครั้งแรกสูตร 15-15-15 จำนวน 80 กรัม ควรขุดหลุมลึก 10 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยและกลบดินทับปุ๋ยอีกครั้งรดน้ำตาม เพื่อให้การเจริญเติบโตของกิ่งสมบูรณ์แข็งแรงดีขึ้น ใส่ปุ๋ยให้ห่างกันประมาณ 30 วัน ใส่ประมาณ 3 ครั้ง ใส่ปุ๋ยครั้งที่สองสูตร 12-24-12 จำนวน 100 กรัม เมื่อมีตุ่มดอกโผล่ขึ้นตามช่วงใบจากล่างขึ้นบน รดน้ำตาม เพื่อให้ตุ่มดอกใหญ่ขึ้นใส่ประมาณ 3 ครั้ง
การให้น้ำ
1. ควรให้น้ำทุกๆ วัน ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน
2. ควรให้น้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้งหรือวันเว้นวัน ในเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม
3. งดน้ำในช่วงฤดูฝน ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
4. งดน้ำ ในเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
โรคและศัตรูพืช
เพลี้ยแป้งทำลายที่ดอกและกิ่ง
วิธีป้องกัน
1. ตัดแต่งส่วนที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลายออกเผาทำลาย
2. ฉีดพ่นสารเคมี เช่น มาลาไธออน ทามารอน กูซาไธออนทหรือแอคเทลิค ทุก 3-7 วัน ในช่วงที่เริ่มพบการเข้าทำลาย
ใบจุดสีน้ำตาล พบเชื้อรา Collectotrichum sp.
วิธีป้องกัน
1. ตัดแต่งใบที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูกเผาทำลาย
2. หากะบการเกิดโรคเล็กน้อยไม่ต้องใช้สารเคมีในการควบคุม แต่ถ้าพบการแพร่ระบาดและเกิดความเสียหายให้ใช้สารเคมี เช่น เบนเลท บาวิสติน หรือเดอราซาล ฉีดพ่นสลับกับไดเทนเอ็ม-45 แอนทราโคล หรือแคปแทน สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
กิ่งเหี่ยวจากบนลงล่าง แล้วลามไปต้นอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากพบเชื้อแบคทีเรีย
วิธีป้องกัน
1. ขุดต้นที่แสดงอาการออกจากแปลงนำไปเผาทำลาย
2. ใช้โคแมก หรือคูปราวิตราดบริเวณหลุมที่ขุดออกและบริเวณใกล้เคียง สัปดาห์ละครั้ง
3. ถ้าพบการระบาดมากให้ใช้แคงเกอร์-เอ็กซ์ หรือไฟโตมัยซิน แต่ใช้ได้นานไม่เกิน 2 ครั้งต่อฤดูปลูก
แมลงวันหนหอนชอนใบ (Leaf miner flies) วงศ์ Agromyzidae
เกิดจากการทำลายที่เกิดจากตัวเต็มวัย โดยตัวเต็มวัยตัวเมียจะใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในเซลล์ผิวใบพืชอาหารเขี่ยให้เซลล์แตกแล้วหันมาใช้ปากเลียกินน้ำเลี้ยงเซลล์
วิธีป้องกัน
1. ใช้กับดักกาวเหนียว
2. ใช้สารเคมีป้องกัน ได้แก่ โตกุไธออน (50 เปอร์เซ็นต์ EC) ไตรอะโซฟอส (ฮอสตาไธออน 40 เปอร์เซ็นต์ EC) และสารกลุ่มน้ำมัน (petroleum oil 99 เปอร์เซ็นต์ W/W CE) ฉีดพ่น
การเก็บเกี่ยว
ระยะเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวเมื่อกิ่งก้านและตุ่มดอกมีสีน้ำตาลออกสีแดงจนแก่จัด การเก็บเกี่ยวตัดเมื่อตุ่มดอกเริ่มแก่จัด แต่ยังไม่แตกออกมาถ้าหากตัดดอกที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่กิ่งจะเหี่ยว และมีตุ่มดอกขนาดเล็ก แกะเปลือกหุ้มดอกได้ยาก
การวัดมาตรฐาน
เกรด ความยาวก้าน
Extra 120 เซนติเมตร
1 80 - 100 เซนติเมตร
2 60 - 80 เซนติเมตร
3 40 - 60 เซนติเมตร
1. ดอกทุกชั้นต้องไม่มีตำหนิ ปราศจากโรคและแมลง เด็ดใบทิ้ง คัดเลือกก้านที่มีลักษณะตรงแข็งแรง คดงอได้ไม่เกิน 20 องศา จากโคนก้านตั้งแต่ 20 เซนติเมตร ขึ้นไปจนสุดปลายก้านต้องมีตุ้มดอกเรียงกันอย่างสม่ำเสมอ และมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนข้อ
2. การเข้ากำ เข้ากำละ 10 ก้าน แล้วห่อกด้วยกระดาษสีขาว
วิธีการเก็บเกี่ยว
ใช้กรรไกรตัดโคนกิ่งที่มีตุ่มดอกที่แก่จัด และเด็ดใบทิ้ง
สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว (ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว)
ช่วงเช้าหรือตอนเย็นเพื่อป้องกันดอกเหี่ยว
เอกสารอ้างอิง :
มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.