องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

แคลล่าลิลี่

 

ชื่อสามัญ  calla lily, arum lily

ชื่อวิทยาศาสตร์  Zantedeschia aethiopica

แคลล่าลิลี่ Zantedeschia aethiopica เป็นพืชที่มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเป็นไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบ และผลิตหัวพันธุ์เพื่อจำหน่ายเป็นอย่างมาก และยังใช้ตกแต่งสถานที่ ตลอดจนการปลูกเป็นไม้กระถางจำหน่ายเพื่อประดับในอาคารและสถานที่ได้เป็นอย่างดี

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ค่า pH ของดินควรอยู่ระหว่าง 6-7.5 ดินมีความร่วนซุยและระบายน้ำได้ดี มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป เพราะความเย็นของอากาศบนที่สูงจะทำให้สีของดอกเข้ม ตลอดจนกลีบดอกหนามีอายุการใช้งานได้นาน

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์

1. การขายพันธุ์ด้วยเมล็ด ใช้เวลานานในการผลิตหัวพันธุ์

2. ขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ ถ้ามีรอยแผลอาจทำให้เกิดโรค

3. ขยายพันธุ์ใช้หัว มีปัญหาเรื่องโรค เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส

4. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถเพิ่มปริมาณหัวพันธุ์ปลอดโรคได้เร็วกว่าวิธีอื่นและได้สายพันธุ์ที่ตรงตามพันธุ์

ช่วงระยะเวลาที่ใช้ในการขยายพันธุ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนได้หัวขนาดใหญ่ เพื่อการผลิตตัดดอก

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีปลูก

การเตรียมแปลง ควรไถพรวนดินให้ลึกประมาณ 30-50 เซนติเมตร และตากดินก่อนทำการขึ้นแปลง ขนาดของแปลงควรมีความกว้าง 1 เมตร ยาวตามพื้นที่ในโรงเรือนปลูก ทางเดินระหว่างแปลงควรมีขนาด 0.05 เมตร เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานและดูแลรักษาต้นแคลล่าลิลี่

การเตรียมดิน

ควรเตรียมดินอย่างดีมีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ การเตรียมแปลงควรคลุกดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร และมีส่วนผสมดังนี้ เปลือกข้าว เปลือกถั่ว หรือขุยมะพร้าว 2 ปี๊บต่อตารางเมตร ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก 1 ปี๊บต่อตารางเมตร ถ้าเป็นดินเหนียวควรเพิ่มทรายหยาบ 1 ปี๊บ และเพิ่มอินทรีย์วัตถุ 1 เท่า คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันดีที่สุดในความลึกดิน 30 เซนติเมตร 

เทคนิควิธีการปลูก หัวพันธุ์ที่ปลูกตัดดอกจะใช้หัวพันธุ์ที่มีขนาด 5-10 เซนติเมตร ซึ่งจะทำให้ได้คุณภาพดอกและผลผลิตที่ดี หัวพันธุ์จะต้องผ่านการพักตัวในห้องเย็นที่อุณหภูมิ 16-20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 เดือน จากนั้นนำหัวพันธุ์แช่ฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลิน (GA3) ความเข้มข้น 600 ppm. นาน 1 ชั่วโมง ก่อนปลูกควรแช่สารเคมีป้องกันเชื้อแบคทีเรีย โค-แมค นาน 10-15 นาที

การดูแลรักษา

การจัดการด้านความเข้มแสง แคลล่าลิลี่ เป็นพืชที่สามารถผลิตได้ทั้งในโรงเรือนและนอกโรงเรือน ระดับความเข้มของแสงและความยาวของวันไม่มีอิทธิพลต่อการออกดอก ซึ่งต้นที่ได้รับความเข้มของแสงต่างกันมีการออกดอกในเวลาพร้อมกัน และผลิตจำนวนดอกที่เหมือนกัน ส่วนความยาวของวันจะมีผลต่อความสูงของลำต้น

การจัดการด้านอุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโต และการออกดอกของแคลล่าลิลี่ ถ้าปลูกในสภาพอุณหภูมิของดิน 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิอากาศ 15-20 องศาเซลเซียส จะออกดอกได้เร็วและมีความสูงของต้นได้ดีและมากกว่าที่ปลูกในอุณหภูมิต่ำกว่านี้

ปุ๋ย ควรรดปุ๋ยน้ำพร้อมกับการรดน้ำต้นพืชตามที่มูลนิธิโครงการหลวงแนะนำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง จนกระทั่งเริ่มตัดดอก โดยใช้สูตร ดังนี้

 แม่ปุ๋ย                               ถัง A (กิโลกรัม)             ถัง B (กิโลกรัม) 

 โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (11-60-0)               8                     -

แคลเซียมไนเตรท (15-0-0)                     -                     20

โปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46)                   10                    10

แมกนีเซียมซัลเฟต                            4                     -

ยูนิเลท                                  0.5                    -

นำปุ๋ยน้ำเข้มข้น (Stock) จากถัง A และถัง B อย่างละ 1 ลิตร ผสมน้ำสะอาด 200 ลิตร แล้วนำน้ำปุ๋ยไปรดต้นพืช ควรเสริมปุ๋ย เช่น ปุ๋ยยูเรียละลายน้ำในระยะแรกของการเจริญเติบโต ปุ๋ยเกร็ด ปุ๋ยปลา ในบางครั้งแล้วแต่การปลูก

การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ ถ้าดินยังมีความชื้นให้ลดความถี่ของการให้น้ำลดลงโดยการทดสอบบีบเนื้อดิน การปลูกนอกโรงเรือนควรระมัดระวังน้ำช่วงหน้าฝนต้องทำการระบายน้ำให้ดีเนื่องจากอาจทำให้เน่าได้

โรคและศัตรูพืช

โรคเน่าเละ

สาเหตุเชื้อแบคทีเรียErwinia sp.

อาการ บริเวณโคนต้นเน่าและมีกลิ่นเหม็น

การแพร่ระบาด โดยน้ำและซากพืชที่เป็นโรค

การป้องกันกำจัด 

1. ไม่ควรปลูกซ้ำในที่ที่เคยเป็นโรคและก่อนปลูกมีการเตรียมดินอย่างดี แน่ใจว่าดินสะอาด ตากดินไว้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ร่วมกับใช้สารเคมีอบดิน

2. ต้นที่แสดงอาการเน่าเละให้ถอนออกจากแปลงปลูก ระวังอย่าให้ดินบริเวณต้นตกเรี่ยราด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

3. ใช้สารเคมีโคแมกหรือคูปราวิทสลับกับเด๊กซาน หรือแอนตีแบคท์ หรือแคงเคอร์เอ๊กซ์ ราดบริเวณโคนต้นที่แสดงอาการและต้นใกล้เคียงสัปดาห์ละครั้ง

โรคหัวเน่า โคนเน่า

สาเหตุเชื้อแบคทีเรียFusarium sp., Rhizoctonia sp.

อาการ บริเวณโคนต้นเน่าเป็นสีน้ำตาล ทำให้ต้นเหี่ยวและแห้งตาย

การแพร่ระบาด โดยน้ำและซากพืชที่เป็นโรค

การป้องกันกำจัด

1. เตรียมดินก่อนปลูกให้สะอาดโดยการขุดดินตากแดดทิ้งไว้ สารเคมีอบดินเป็นครั้งคราว

2. ต้นที่เป็นโรคถอนออกจากแปลงปลูกแล้วเผาทำลาย

3. ใช้สารเคมีเบนเลทผสมแคปแทน อัตราส่วนครึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนดข้างฉลากหรือเทอร์ราคลอร์ซุปเปอร์ หรือพลอนโต สัปดาห์ละครั้งราดบริเวณหลุมที่ขุดออก และต้นใกล้เคียง

เพลี้ยไฟ

อาการใบแห้ง ถ้าทำลายตาดอกยอดอ่อนจะไม่เจริญเติบโต

การแพร่ระบาดพบการทำลายของเพลี้ยไฟเกือบตลอดปีแต่จะพบน้อยลงในช่วงฤดูฝน มักพบการระบาดมากในช่วงฤดูร้อน หรือช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน

การป้องกันกำจัด

1. ในแปลงปลูก ควรให้น้ำแบบสปริงเกอร์เพื่อเพิ่มความชื้นในบรรยากาศ จะช่วยลดปริมาณเพลี้ยไฟลง

2. พ่นด้วยสารฆ่าแมลง เช่น โพรฟิโนฟอส (นาวีต้า 50 เปอร์เซ็นต์ EC) เมทิโอคาร์บ (เมซูโรล 50 เปอร์เซ็นต์ WP) โปรไทโอฟอส (ไตกุไธออน 50 เปอร์เซ็นต์ EC) อิมิดาคลอพริด (คอรฟิดอร์ 10 เปอร์เซ็นต์ SL) อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการพ่นสลับ 5 วัน/ครั้ง จนการระบาดลดลง

 การเก็บเกี่ยว

1. ระยะเก็บเกี่ยวเก็บเกี่ยวก่อนที่กลีบประดับ (spathe) เริ่มจะม้วนตัวลง และเกสรยืดตัวออกมาที่ปลีดอก 3-5 เส้น

2. วิธีการเก็บเกี่ยวการเก็บเกี่ยวไม้ดอกโดยปกติทำโดยใช้มือ หรือมีด หรือกรรไกรคมๆ ดอกที่เก็บเกี่ยวแล้วไม่ควรวางทิ้งไว้บนพื้นดิน เพราะจะมีการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกและเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อตัดดอกแล้วจึงควรแช่น้ำทันทีซึ่งน้ำจะต้องเป็นน้ำที่สะอาด ภาชนะที่ใช้ต้องสะอาดและควรใช้สารเคมีผสมลงในน้ำอย่างน้อยที่สุดควรมีสารเคมีฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ผสมอยู่ด้วย

3. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว ดอกไม้ซึ่งจะเก็บรักษาในสภาพแห้งควรจะเก็บเกี่ยวในตอนเช้าหรือเย็นในขณะที่ดอกยังสด หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วดอกไม้เหล่านี้จะอยู่ในสภาพแห้งตลอดระยะเวลาหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อจะใช้กล่องซึ่งป้องกันการสูญเสียน้ำได้ ขั้นตอนต่างๆ จะต้องเสร็จสิ้นก่อนที่ดอกไม้จะเริ่มเหี่ยว

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

1. การแช่น้ำยาแช่ในสารละลายที่ประกอบด้วยน้ำตาล 50 กรัม และน้ำยา อัตรา 1 ซีซี ผสมน้ำ 1 ลิตร โดยแช่เอาไว้ 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง

2. อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษาเก็บรักษาในสภาพแช่น้ำ 4 องศาเซลเซียส ได้นาน 1 สัปดาห์

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.