องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

กะหล่ำดอกเขียว

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป มีถิ่นกำเนิดแถบเมดิเตอร์เรเนียน เป็นผักประเภทอายุปีเดียวและอายุสองปี แต่ส่วนใหญ่ปลูกเป็นผักอายุปีเดียว ลำต้นสูงประมาณ 40 - 55 เซนติเมตร ขนาดดอกหนักประมาณ 0.5 - 1.20 กิโลกรัม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 60 - 90 วัน

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร

กะหล่ำดอกเป็นพืชผักที่ใช้บริโภคส่วนของดอกที่อยู่บริเวณปลายยอดของลำต้น ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนสีขาวถึงเหลืองอ่อน อัดตัวกันแน่น อวบและกรอบ ซึ่งนิยมเรียกส่วนดังกล่าวว่า ดอกกะหล่ำ ถ้าหากปล่อยให้เจริญเติบโตพัฒนาต่อไปก็จะเป็นช่อดอกและติดเมล็ดได้ กะหล่ำดอกเป็นผักอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมนำมาประกอบอาหารของคนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารระดับภัตตาคาร ระดับโรงแรมหรือในร้านข้าวแกง รวมไปถึงตามครัวใหญ่ครัวเล็กของบ้านต่างๆ เหตุที่กะหล่ำดอกได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาก เนื่องจากมีรสชาติอร่อย กรอบหวาน มีสีดอกเหลืองอ่อนน่ารับประทาน ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ทั้งผัด แกง ใส่ก๋วยเตี๋ยวหรืออื่นๆ อีกมากมาย กะหล่ำดอกเป็นผักที่ขายได้ราคาดี ไม่ค่อยเสียหายระหว่างขนส่ง เก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่นหลายชนิด เพราะลำต้นแข็งแรง เนื้อแน่น และไม่อวบน้ำ

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเพาะต้นกล้า การเตรียมแปลงเพาะกล้าให้ไถดินให้ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 5 - 7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วมาคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน พรวนย่อยชั้นผิวดินให้ละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดตกลึกลงไปในร่องดิน ทำให้ไม่งอกหรืองอกยาก

หลังจากเตรียมแปลงเพาะเรียบร้อยแล้ว จึงทำการหว่านเมล็ดให้กระจายทั่วพื้นผิวแปลงเพาะอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่าหว่านกล้าให้แน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่าคอดินได้ หลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้หว่านกลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้ว หรือดินผสมละเอียด หนาประมาณ 0.6 - 1 เซนติเมตร หรือทำร่องเป็นแถวลึกประมาณ 1.5 - 2 เซนติเมตร หลังโรยเมล็ดเป็นแถวตามร่องแต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 - 15 เซนติเมตรแล้ว กลบด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือดินผสมละเอียดเช่นกัน หลักจากหว่านเมล็ดเรียบร้อยแล้วคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้งสะอาดบางๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกล้างอกเริ่มมีใบจริงควรถอนแยกต้นที่อ่อนแอ ต้นไม่สมบูรณ์และขึ้นเบียดเสียดกันแน่นเกินไปออก ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5 - 8 เซนติเมตร ช่วงนี้ควรให้ปุ๋ยพวกสารละลายสตาร์ทเตอร์โซลูชั่นแก่ต้นกล้า และหมั่นตรวจดูแลป้องกันโรคแมลงที่เกิด จนกระทั่งเมื่อต้นกล้ามีอายุได้ประมาณ 30 - 40 วันจึงทำการย้ายกล้าลงแปลงปลูกต่อไป

การปลูก เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 3 - 4 ใบ อายุได้ประมาณ 30 - 40 วัน ต้นสูงประมาณ 10 - 12 เซนติเมตร จึงทำการย้ายกล้าปลูกลงแปลง ไม่ควรปล่อยให้ต้นกล้ามีอายุแก่เกินไป จะทำให้รากเกิดการกระทบกระเทือนได้ง่ายขณะทำการย้าย มีผลให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต ก่อนย้ายต้นกล้าให้รดน้ำบนแปลงเพาะกล้าให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ ควรเลือกย้ายกล้าในวันที่แสงแดดไม่จัด และย้ายในเวลาเย็นหรือช่วงอากาศมืดครึ้ม เพื่อหลีกเลี่ยงการคายน้ำมากเกินไปของต้นกล้า ซึ่งจะทำให้กล้าเหี่ยวตายได้

การปลูกโดยใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระหว่างแถว 60 เซนติเมตร โดยปลูกเป็นหลุมบนแปลง หลังจากปลูกควรกลบดิน กดบริเวณโคนต้นให้แน่น จากนั้นใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมโคนต้น เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นในดิน รดน้ำให้ชุ่ม ส่วนในพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดควรหาที่บังแดดให้ ซึ่งอาจใช้ทางมะพร้าวคลุมไว้ประมาณ 3 - 5 วัน จึงเอาทางมะพร้าวออก

การให้น้ำ ในช่วงแรกหลังจากย้ายปลูกไม่ต้องให้น้ำมากนัก เพียงให้ดินมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมออย่างเพียงพอก็พอ สังเกตดูว่าดินแฉะเกินไปหรือไม่ ถ้าดินแฉะเกินไปก็ลดปริมาณน้ำที่ให้แต่ละครั้งให้น้อยลง เพราะถ้าแฉะเกินไปจะทำให้ต้นกะหล่ำดอกเกิดโรคเน่าเละได้ง่าย เมื่อกะหล่ำดอกโตขึ้นก็ให้น้ำมากขึ้นเพราะการระเหยน้ำเกิดเร็วขึ้น ควรให้อย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและเย็น อย่าปล่อยให้กะหล่ำดอกขาดน้ำ เพราะจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและกระทบกระเทือนต่อการสร้างดอก ทำให้คุณภาพและปริมาณดอกลดลง ในฤดูแล้งควรมีการคลุมดินด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง จะช่วยให้รักษาความชื้นในดินไว้ได้ดี

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยไนโตรเจนนับว่ามีบทบาทต่อการเจริญเติบโตของกะหล่ำดอกมาก ดังนั้นในระยะแรกควรมีการให้ปุ๋ยไนโตเจนในรูปของแอมโมเนียมซัลเฟตหรือยูเรีย จากนั้นจึงใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 ในอัตรา 50 - 100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก และครั้งที่ 2 ใส่เมื่อกะหล่ำดอกอายุประมาณ 30 - 40 วันหลังย้ายปลูก โดยโรยใส่ข้างต้นแล้วพรวนดินกลบลงในดิน

การคลุมดอก เมื่อดอกกะหล่ำมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 - 7 เซนติเมตร หรือดอกโตจวนจะได้ขนาดแล้วควรมีการคลุมดอก โดยรวบใบบริเวณปลายยอดเข้าหากันอย่างหลวมๆ ระวังอย่าให้แน่นเกินไป แล้วใช้ยางรัดของมัดไว้ จะทำให้ดอกกะหล่ำมีสีขาวนวลน่ารับประทาน มีคุณภาพดีเหตุที่ต้องมีการคลุมดอกก็เพื่อป้องกันแสงแดดส่องถูกผิวของดอกกะหล่ำ ซึ่งจะทำให้ดอกกะหล่ำมีสีเหลือง อันเนื่องมาจากรังสีอุลตร้าไวโอเลต ซึ่งลักษณะดอกกะหล่ำที่มีสีเหลืองตลาดมักจะไม่ต้องการ ปกติแล้วหลังจากคลุมดอกจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หรือมากกว่า แต่ถ้าในฤดูร้อนจะเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น ในปัจจุบันกะหล่ำดอกพันธุ์ใหม่ๆ จะมีใบคลุมดอกได้เองโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องคลุมดอกให้

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 75 – 90 วัน หลังย้ายปลูก หรือดอกมีขนาดเหมาะสม ดอกปิดแน่น ใช้มีดหรือกรรไกรตัดให้มีความยาวของก้านดอกวัดจากกิ่งแขนงต่ำสุดยาว 8 เซนติเมตร ตัดแต่งใบออกให้ห่างจากลำต้นไม่เกิน 1 เซนติเมตร ตัดแต่งส่วนก้านให้รอยตัดตรงไม่ตัดเฉียง นำกะหล่ำดอกเขียวที่ตัดแต่งแล้วเข้าห้องเย็นจนเย็นทั่วถึง แล้วจึงบรรจุใส่กล่องโฟมที่ใส่น้ำแข็งหรือเจลไอซ์

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นกะหล่ำดอกเขียวทั้งดอก มีสี รูปร่างลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิก้านไม่กลวง สดสะอาด ไม่แก่จนดอกแยกจากกัน และปลอดภัยจากสารเคมี

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง   1. เส้นผ่าศูนย์กลางดอกไม่ต่ำกว่า 7 เซนติเมตร

        2. ดอกแน่น สีดอกสม่ำเสมอ

        3. ความยาวก้าน วัดจากกิ่งแขนงต่ำสุดยาว 8 เซนติเมตร

        4. ก้านกลวงได้เล็กน้อย มีความยาวไม่เกิน 5 เซนติเมตร

        5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U    1. เส้นผ่าศูนย์กลางดอกอยู่ระหว่าง 5 - 7 เซนติเมตร

       2. หน้าดอกแน่น สีดอกสม่ำเสมอ

       3. ความยาวก้าน วัดจากกิ่งแขนงต่ำสุดยาว 8 เซนติเมตร

       4. ก้านกลวงได้เล็กน้อยมีความยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร

       5. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดเรื่องการจัดเรียง กะหล่ำดอกเขียวในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นชั้นคุณภาพเดียวกัน และพันธุ์เดียวกัน มีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 98 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1- 2 สัปดาห์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.


เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์