องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เป้าหมายการพัฒนาผู้นำเกษตรกร สวพส.

ทำไม สวพส. ต้องพัฒนาผู้นำเกษตรกร 

จากวิสัยทัศน์ของ สวพส. “ชุมชนบนพื้นที่สูงมีความอยู่ดีมีสุข ด้วยการวิจัยและพัฒนา สืบสาน รักษา ต่อยอดงานโครงการหลวง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีพันธกิจหลักด้านการพัฒนา คือ การขยายผลความสำเร็จงานโครงการหลวง โดยการพัฒนาและยกระดับชุมชนบนพื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร ตามแนวทางโครงการหลวง เพื่อให้ชุมชนมีความอยู่ดีมีสุข มีความเข้มแข็ง และมีความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูง เป็นชุมชนต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สำหรับชุมชนอื่นๆ ต่อไป โดยกำหนดเป้าประสงค์สำคัญในการพัฒนา ดังนี้  

  • ด้านเศรษฐกิจ คือ ชุมชนเป้าหมายมีความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิตตามแนวทางโครงการหลวงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  • ด้านสังคม คือ ชุมชนเป้าหมายบนพื้นที่สูงมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้และสามารถบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้จากการสนับสนุนงานโครงการหลวงและพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เป้าหมายลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และการฟื้นฟู อนุรักษ์และจัดการอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วน


จะเห็นได้ว่า การพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวงในทุก ๆ ด้านนั้น เป้าหมายสูงสุดคือการที่ชุมชนเป้าหมายมีความอยู่ดีมีสุขและเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชน ดังนั้นผู้นำเกษตรกร คือกลุ่มแกนนำหลักที่จะจุดประกายความคิด ร่วมกันวิเคราะห์ วางแผน และขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนนั้น ๆ ให้บรรลุตามเป้าหมายได้ สวพส.จึงกำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาผู้นำชุมชนและผู้นำเกษตรกร เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกับสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และเป็นแบบอย่างของการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในระดับครัวเรือน ระดับสถาบันเกษตรกร และระดับชุมชนได้


ความหมายของผู้นำเกษตรกร สวพส.

“ผู้นำเกษตรกร” หมายถึง ผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. ที่ได้รับการคัดเลือกและมีคุณสมบัติเป็นตัวอย่างของความสำเร็จด้านใดด้านหนึ่ง สามารถเป็นผู้นำการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การสร้างความเข้มแข็งของคนและสังคม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ หรือพัฒนาชุมชนด้านอื่น โดยร่วมกับ สวพส.และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น มุ่งสู่การเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” หมายถึง ผู้นำเกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานของ สวพส. ที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา มีผลงานเชิงประจักษ์ สามารถร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาร่วมกับ สวพส. และหน่วยงานต่างๆ ด้านใดด้านหนึ่งเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนได้


ดังนั้น สวพส. จึงได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาผู้นำเกษตรกร ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่สูงต่อไป



เรียบเรียงและออกแบบโดย

นางสาวเพียงออ ศรีเพ็ชร นักวิชาการส่งเสริมและพัฒนา

งานจัดการองค์ความรู้งานพัฒนา สำนักพัฒนา