องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พื้นที่สูงไทยในวันภูเขาโลก

      สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 11 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันภูเขาโลก” (International Mountain Day) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ภูเขาทั่วโลก โดยมีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขา (Mountain Partnership) แห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เป็นหน่วยประสานงานหลักในการเสริมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่ภูเขาในระดับนานาชาติ ปัจจุบันเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาพื้นที่ภูเขานี้ มีสมาชิกทั่วโลกรวมทั้งสิ้น 384 องค์กร ประกอบด้วยหน่วยงานระดับประเทศจำนวน 60 แห่ง องค์กรระหว่างประเทศจำนวน 16 แห่ง หน่วยงานระดับท้องถิ่นจำนวน 8 แห่ง รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวน 300 แห่ง โดยที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของเครือข่ายในวันที่ 30 เมษายน 2558

พื้นที่ภูเขามีกี่ประเภท?

     แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme) ได้จัดกลุ่มพื้นที่ภูเขาทั่วโลกแบ่งตามระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางออกเป็น 7 กลุ่ม (Kapos et al., 2000) ดังนี้

 - กลุ่มที่ 1 ระดับความสูงมากกว่า 4,500 เมตร

 - กลุ่มที่ 2 ระดับความสูงระหว่าง 3,500-4,500 เมตร

 - กลุ่มที่ 3 ระดับความสูงระหว่าง 2,500-3,500 เมตร

 - กลุ่มที่ 4 ระดับความสูงระหว่าง 1,500-2,500 เมตร และมีความลาดชันตั้งแต่ 2 องศาขึ้นไป

 - กลุ่มที่ 5 ระดับความสูงระหว่าง 1,000-1,500 เมตร และมีความลาดชันตั้งแต่ 5 องศา หรือมีช่วงระดับความสูงท้องถิ่น (Local Elevation Range) ในรัศมี 7 กิโลเมตรมากกว่า 300 เมตร

 - กลุ่มที่ 6 ระดับความสูง 300-1,000 เมตร และมีช่วงระดับความสูงท้องถิ่นในรัศมี 7 กิโลเมตรมากกว่า 300 เมตร  

 - กลุ่มที่ 7 แอ่งหรือที่ราบสูงที่มีพื้นที่ขนาดเล็กกว่า 25 ตารางกิโลเมตรที่ล้อมรอบด้วยภูเขา และไม่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1-6 (กลุ่มที่ 7 ได้รับการจัดกลุ่มเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2545)

      ในประเทศไทย พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ในปี พ.ศ.2548 ระบุว่าพื้นที่สูง หมายถึง “พื้นที่ที่เป็นภูเขาหรือพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 ขึ้นไป หรือพื้นที่ที่อยู่ระหว่างพื้นที่สูงตามที่คณะกรรมการกำหนด” ดังนั้น พื้นที่สูงของไทยจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของพื้นที่ภูเขาโลก

พื้นที่ภูเขาอยู่ที่ไหนบ้างของโลก? (ที่มา http://www.fao.org/mountain-partnership)

     - จำแนกตามระดับความสูง กลุ่มที่ 4 ระดับความสูงระหว่าง 1,500-2,500 เมตร ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดคิดเป็น 45% ของพื้นที่ภูเขาทั่วโลก รองลงมาคือ กลุ่มที่ 5 ระดับความสูงระหว่าง 1,000-1,500 เมตร คิดเป็น 20% และกลุ่มที่ 6 ระดับความสูง 300-1,000 เมตร คิดเป็น 17%

     - จำแนกตามที่ตั้งพื้นที่ภูเขา อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 37% ทวีปเอเชีย 36% ทวีปอเมริกาใต้และแคริเบียน 15% แอฟริกา 11% และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก 1%

     - จำแนกตามจำนวนประชากร อยู่ในทวีปเอเชียมากที่สุด 52% รองลงมาคือทวีปแอฟริกา 22% ทวีปอเมริกาใต้และแคริเบียน 17% โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาและประชากร 70% อาศัยอยู่ในพื้นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 1,500 เมตร

พื้นที่ภูเขาสำคัญอย่างไรต่อโลก? #MountainsMatter

      น้ำ : เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร โดย 60-80% ของแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำดื่มมาจากพื้นที่ภูเขา และแม่น้ำสำคัญของโลกทุกสายมีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่ภูเขา 

อาหาร : เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของมนุษย์ โดยอาหาร 6 ใน 20 ชนิดผลิตบนพื้นที่ภูเขา และยังมีพืชอาหารท้องถิ่นที่หลากหลายที่สามารถนำมาฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อความมั่นคงด้านอาหารและความหลากหลายของระบบเกษตร

      ชาติพันธุ์ : เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของประชากรหลากหลายชาติพันธุ์ จำนวนกว่า 1.1 พันล้านคน ที่มีภาษา ประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และศาสนา ที่เป็นเอกลักษณ์ของตน แต่ประชากรบนพื้นที่ภูเขาเป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดของโลก โดย 1 ใน 3 ของประชากรอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดแคลนโภชนาการ และความยากจน

     ความหลากหลายทางชีวภาพ : เป็นถิ่นกำเนิดพืชท้องถิ่นที่เป็นอาหาร สมุนไพร พืชใช้สอย และไม้ยืนต้นของนิเวศป่าไม้ รวมทั้งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์บนพื้นที่ภูเขาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

      ป่าไม้ : ร้อยละ 40 ของพื้นที่ภูเขาทั้งหมดทั่วโลกเป็นพื้นที่ป่าไม้ ที่สร้างประโยชน์ทั้งทางตรงและการเกื้อกูลของระบบนิเวศภูเขาในการเป็นแหล่งต้นน้ำ การผลิตออกซิเจน การกักเก็บคาร์บอน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า และเป็นกลไกสำคัญการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

SDGs ในพื้นที่ภูเขาโลก

        การขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ภูเขาในระดับนานาชาติ มุ่งไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) จำนวน 6 เป้าหมาย ได้แก่ การขจัดความยากจน การขจัดความหิวโหย การจัดการน้ำและสุขาภิบาล การพัฒนาพลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก  


เขียน / เรียบเรียงเรื่องโดย: เกษราภร ศรีจันทร์