องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บวมหอม

 

ชื่อวิทยาศาสตร์   Luffa cylindrica (L.) M.J.Roem

ชื่อสามัญ  SPONGE GOURD

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป บวบเป็นไม้เถาเลื้อย เถาแข็งและเหนียว คล้ายกับถั่วพู แต่มีอายุเพียงปีเดียวหรือฤดูเดียว เถาสีเขียวอ่อน ลำต้นม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ดี มีมือเกาะ ใบเดี่ยวรูปกลมขนาด 10-20 เซนติเมตร ตามเถาและใบจะมีขนอ่อน ขึ้นปกคลุม ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกบวบนับเป็นดอกไม้ ที่มีความสวยงาม มีสีเหลืองนวล เย็นตา มักบานในช่วงเย็น ๆ กลีบดอกสีเหลือง มีผลกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เซนติเมตร ยาว 10-80 เซนติเมตร มีหลายเมล็ด เมื่อแก่ภายในผลจะกลวง และเหลืออยู่แต่เส้นใย.ผลอ่อนสีเขียวมีลายเขียวเข้ม ผลแก่สีเขียวออกเหลืองจนถึงสีน้ำตาล มีเส้นใยเหนียว ลักษณะเป็นร่างแห

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ผลอ่อนใช้รับประทานสด สามารถนำมา ทำแกงเลียง ผัดกับไข่ หรืออาจลวกจิ้มกับ น้ำพริกต่างๆ เส้นใยจากผลแก่สามารถนำ มาทำเส้นใยสำหรับขัดตัวหรือล้างภาชนะ การถูตัวด้วยเส้นใยธรรมชาติจะช่วยให้ การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น และกระตุ้นผิวหนังให้สดชื่นเพราะเชลล์ผิวหนังที่ ตายแล้วได้ถูกกำจัดออกไป

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

 

การเตรียมดิน ไถหรือขุดดิน ทิ้งไว้ประมาณ 5-7 วันใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก พรวนดินยกร่อง หรือจะชักร่องแบบร่องถั่วฝักยาวโดยการปล่อยนํ้าไปตามร่อง

การปลูก ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร หลังจากเตรียมดินหยอดเมล็ดหลุมละ 4-5 เมล็ด ลึกประมาณ 2-4 เซนติเมตร คลุมด้วยฟางข้าว รดน้ำให้ชุ่ม หรือปลูกในร่องทำการปล่อยน้ำก่อน พอดินหมาดๆ ก็หยอดเมล็ดตามระยะปลูกได้ หลังจากเมล็ดงอกแล้วประมาณ 15 วัน ให้ถอนแยกเหลือหลุมละ 3 ต้น

การทำค้าง ทำได้หลายวิธี คือ ใช้ไม้ใผ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว หลุมละ 1 หลักโดยปักตรงหรือปักเอียงแล้วนำปลายค้างมัดรวมกันเป็นคู่ๆ เป็นรูปสามเหลี่ยมหรีอปักค้างแล้วขึงตาข่ายหรือมัดปลายค้างด้านบนเป็นคู่ๆรูปสี่เหลี่ยมคอยจับเถาให้เลื้อยบนค้าง

การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมออย่าให้แฉะเกินไป และอย่าให้ขาดน้ำช่วงออกดอกและติดผล ไม่แนะนำการให้นํ้าแบบสปริงเกอร์เพราะจะทำให้เกิดการระบาดของโรคได้ง่าย

การให้ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง คือ รองก้นหลุมและเมื่อพืชได้อายุ 25-30 วันโรยรอบๆโคนแล้วพรวนดินกลบ

การกำจัดวัชพืช ควรกำจัดวัชพืชอยู่เสมอเพื่อไม่ให้วัชพืชแย่งอาหารของบวบ และเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงศัตรู

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลที่อ่อน ดอกที่ปลายผลเริ่มแห้งหรือร่วง และผลได้ขนาดตามความต้องการของตลาด ถ้าต้องการเก็บเพื่อบริโภคหรือขายผลอ่อนควรเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ แต่ถ้าต้องการเก็บเพื่อเอาเส้นใย ต้องเก็บผลที่แก่จัด โดยทั่วไปอายุการเก็บเกี่ยวของบวบหอมประมาณ 50-60 วันหลังจากหยอดเมล็ด

การเก็บเกี่ยว

1. เลือกผลที่ดอกเริ่มแห้งหรือร่วง และผลยังอ่อนมีขนาดกลางชั้นคุณภาพ

2. ตัดขั้วโดยใช้กรรไกรให้เหลือประมาณ 1 เซนติเมตร

3. ใช้โฟมตาข่ายหรือฟองน้ำห่อผล จัดชั้นคุณภาพ และบรรจุถุงตะกร้าพลาสติก ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อตะกร้า

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นบวบหอมทั้งผล มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ผลอ่อน ผิวสวย ไม่ช้ำ ไม่มีตำหนิจากโรคและแมลง สด สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง  1. ขนาดของผลยาว 15 – 18 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 6 เซนติเมตร

       2. ผลมีน้ำหนัก 250 – 400 กรัม

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง  1. ขนาดของผลยาว 12 – 15 เซนติเมตร และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร หรือ 6 – 7 เซนติเมตร

       2. ผลมีน้ำหนัก 150 – 250 กรัม หรือ 400 – 600 กรัม

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. ขนาดของผลยาว 12 – 15 เซนติเมตร

       2. ผิวอาจจะช้ำหรือมีตำหนิเล็กน้อยปะปนมาได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนในภาชนะบรรจุ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง บวบหอมที่อยู่ในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน ชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์