องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ขี้เหล็กบ้าน

ขี้เหล็ก Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby

ชื่อพ้อง Cassia siamea Lam.

วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae

ชื่ออื่นๆ ขี้เหล็กบ้าน, ขี้เหล็กหลวง (เหนือ), ขี้เหล็กใหญ่ (กลาง)

ชื่อสามัญ Kassod tree, Thai copper pod

ไม้ต้นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปคล้ายทรงกระบอก มีเมล็ดมาก ขี้เหล็กเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. เปลือกสีเทาอมน้ำตาลอ่อน กิ่งอ่อนมีขน

ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียนแกนกลางยาว 12 – 30 ซม. ก้านใบประกอบยาว 2 – 3 ซม. หูใบเรียวเล็กและสั้น ร่วงง่าย มีใบย่อย 7 – 10 คู่ อาจพบ 4 – 12 คู่ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 1 – 2 ซม. ยาว 3 – 7 ซม. ปลายมนหรือเว้าตื้นและมีติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบมีขนประปราย ด้านล่างสีจางกว่าด้านบน ก้านใบย่อยสั้น

ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงขนาดใหญ่ ออกที่ปลายกิ่งยาว 15 – 30 ซม. ก้านช่อดอกยาว 5 – 7 ซม. ดอกสีเหลือง ก้านดอกยาว 2 – 3 ซม. โคนก้านดอกมีใบประดับรูปไข่กลับปลายแหลม กว้าง 5 – 8 มม. ยาว 0.4 – 1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีทั้งรูปไข่จนถึงเกือบกลม แต่ละกลีบมีขนาดไม่เท่ากันกว้าง 3 – 8 ม.ม. กลีบดอก 5 กลีบ รูปกลับเกือบกลม แต่ละกลีบขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 0.6 – 1 ซม. ยาว 0.8 – 1.2 ซม. ปลายมนโคนแคบคล้ายก้าน เกสรเพศผู้ 10 อัน มี 3 ขนาด กลุ่มขนาดใหญ่มี 2 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 0.7 – 1 ซม. อับเรณูยาว 6 – 7 มม. กลุ่มขนาดกลางมี 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2 – 4 มม. อับเรณูยาว 4 – 6 มม. กลุ่มขนาดเล็กมี 3 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2 – 3 มม. อับเรณูยาว 2 – 3 มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปคล้ายทรงกระบอก ปลายเรียวแหลม ยาวประมาณ 1 ซม. มีขนสั้นนุ่ม มี 1 ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น

ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว แบน ปลายแหลมกว้าง 1 – 1.5 ซม. ยาว 15 – 25 ซม. ฝักแก่โค้งงอเป็นคลื่นมีเมล็ดมาก เมล็ดแบน สีน้ำตาล รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 5 – 7 มม. ยาว 0.6 – 1 ซม. ผิวเป็นมัน

ขี้เหล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ในต่างประเทศพบตั้งแต่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย

ดอกอ่อนและใบอ่อนปรุงเป็นอาหารและเป็นยาระบาย เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องเรือน (สมาคมโรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพน, 2507) พม่าใช้ดอกเป็นยาบำรุงและแก้ปวดท้อง (Perry and Metzger 1980). ผู้เขียน นางจารีย์ บันสิทธิ์

แหล่งอ้างอิง : [1] อนุกรมวิธานพืช อักษร ข. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2547. 276 หน้า