องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ผักกาดฮ่องเต้ก้านขาว

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ : [1]

ลักษณะทั่วไป ผักกาดฮ่องเต้จัดเป็นพืชตระกูล Brassicaceae (Crucifereae - Mustard family) มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน ญี่ปุ่นและเอเชียกลาง นำเข้ามาปลูกในไทยเป็นระยะเวลานาน เป็นพืช 2 ฤดู แต่ปลูกเป็นพืชฤดูเดียว ก้านใบมีสีเขียวอ่อน ลักษณะแบน ส่วนโคนก้านใบจะขยายกว้างมาก และหนา เนื้อกรอบ ปลายใบมน ไม่ห่อหัว เป็นผักที่มีรสหวาน และกรอบ ตามภัตตาคารนิยมนำมาผัดน้ำมันหอย ต้ม หรือตุ๋น มีผลผลิตตลอดทั้งปี

การใช้ประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ผักกาดฮ่องเต้เป็นผักที่มีวิตามินสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิตามินเอ วิตามินซี นอกจากนี้ยังมีธาตุอาหารพวกแคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง นิยมนำมาผัดกับเนื้อสัตว์ ผัดน้ำมันหอย หรือต้มเป็นแกงจืด รสชาติหวาน และกรอบ

 

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :  [1]

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอยู่ระหว่าง 20 – 25 องศาเซลเซียส แต่สามารถทนต่อสภาพอุณหภูมิสูงได้ดีกว่ากลุ่มผักกาดหัว ดังนั้นจึงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ผักกาดฮ่องเต้สามารถเจริญเติบโตในดินแทบทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในสภาพดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ และอินทรีย์วัตถุสูง ค่าความเป็นกรด – ด่างอยู่ระหว่าง 6.0 – 6.8 ถึงแม้ผักกาดฮ่องเต้จะทนต่ออุณหภูมิสูงได้ดี แต่ก็ไม่ทนทานต่อความแห้งแล้ง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น และเจริญเติบโตเร็ว ดังนั้นแปลงปลูกควรต้องมีความชื้นสูงประมาณ 60 – 80 % เป็นอย่างน้อย และต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน เพื่อการสังเคราะห์อาหาร

การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาระยะต่างๆของการเจริญเติบโต : [1]

การเตรียมกล้า เพาะกล้าแบบประณีต ในถาดหลุม อายุกล้า 15 – 20 วัน

การเตรียมดิน ไถดินลึกประมาณ 15 – 20 ซม. หรือขุดดินตากแดดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อกำจัดโรคแมลงและวัชพืช คลุกปูนขาวอัตรา 0 – 100 กรัม/ตร.ม. เก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง

การปลูก

- ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 1 กก ./ ตร . ม .  และปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 30 กรัม / ตร . ม . ลงในดิน พรวนดินให้ละเอียด ขึ้นแปลงกว้าง 100 – 120 ซม. ให้ร่องห่าง 50 ซม. ปรับหน้าแปลงให้เรียบ

- หากใช้วิธีหยอดเม็ดโดยตรง ให้ใช้นิ้วกดหลุมลึก 0.5 ซม. หยอดเมล็ด 5 เมล็ดต่อหลุม ระยะปลูกแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละฤดู กลบเมล็ด รดน้ำให้ชุม ฉีดพ่น เซฟวิน 85 ป้องกันมดเข้าทำลาย

- หากย้ายปลูกระยะปลูก : ฤดูฝนและฤดูหนาว 25 x 20 ซม. ฤดูร้อน 20 x 20 ซม .

ข้อควรระวัง 1. หากใช้วิธีการหยอดเมล็ดอย่าใช้ในปริมาณที่มากเกินไป 2. ฉีดพ่นธาตุอาการเสริมให้สม่ำเสมอ

การให้น้ำ ให้น้ำแบบสปริงเกอร์ หรือระบบน้ำหยด

การให้ปุ๋ย ปลูกซ่อมต้นที่เสียหายภายใน 7 วันหลังย้ายปลูก กำจัดวัชพืชทุก 15 – 20 วัน หลังย้ายปลูกหรือเมล็ดงอก และทำการถอนแยกให้เหลือ 2 – 3 ต้น ขีดร่องลึก 2 ซม.ระหว่างแถวปลูกโรยปุ๋ย 46 – 0 – 0 ลงไปแล้วกลบดิน แล้วรดน้ำ อาจเพิ่มปุ๋ย 15 – 15 – 15 อัตรา 15 – 30 กรัม/ตร.ม. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชตามความจำเป็น และฉีดพ่นธาตุอาหารเสริม รดน้ำให้สม่ำเสมอ

ข้อสังเกตสำหรับเจ้าหน้าที่ส่งเสริม

ช่วงแล้งผลผลิตจะน้อยมาก ควรมีการส่งเสริมให้มีผลผลิตมากขึ้น ส่วนฤดูหนาวมักออกดอกเร็ว ควรมีการเพาะกล้าและปลูกตลอดจนเก็บเกี่ยวให้ตรงกับระยะเวลาและพันธุ์นั้นๆ เพราะถ้ากล้าแก่เกินไปหรือเก็บผลผลิตช้าเกินไป มักจะได้คุณภาพและราคาต่ำ

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว : [2]

ช่วงเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวหลังจากหยอดเมล็ด 45 วัน หรือหลังจากย้ายกล้า 25 – 30 วัน

การเก็บเกี่ยว

  1. เก็บเกี่ยวเมื่อขนาดเหมาะสม โดยใช้มีดหรือกรรไกรตัด
  2. จัดเรียงผลผลิตให้เป็นชั้นๆ ในภาชนะบรรจุที่กรุด้วยกระดาษทั้งหมด
  3. ขนส่งโดยรถห้องเย็น

ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ คุณภาพขั้นต่ำ เป็นผักกาดฮ่องเต้ก้านขาว ซึ่งสมบรูณ์เต็มหน่วย มีรูปร่างลักษณะ และสีตรงตามพันธุ์ ก้านมีสีขาวอวบ ใบมีสีเขียวเข้ม ไม่มีรอยแตกหรือช้ำที่ก้านใบและใบ ไม่ม่แผลจากการหักพับหรือฉีก

 การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง   1. ลำต้นมีน้ำหนักตั้งแต่ 150 กรัม ขึ้นไป

       2. มีตำหนิจากโรคแมลงได้ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบทั้งหมด

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U   1. ลำต้นมีน้ำหนักตั้งแต่ 150 กรัม ขึ้นไป

       2. มีตำหนิจากโรคแมลงได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบทั้งหมด

       3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง ผักกาดฮ่องเต้ก้านขาวในภาชนะบรรจุเดียวกัน ต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ

การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 – 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 1 – 2สัปดาห์

ช่วงเวลาที่มีผลผลิต : ม.ค. - ธ.ค.


 

เอกสารอ้างอิง :

[1] หนังสือเรื่องการปลูกผักบนพื้นที่สูง

[2] ตุลาคม 2545.คู่มือการจัดชั้นคุณภาพผัก.กองพัฒนาเกษตรที่สูง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์