องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

เรื่องทั่วไปเกี่ยวกับกาแฟ

กาแฟอราบิก้า (Coffea arabica L.) เป็นพืชเครื่องดื่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของโลกชนิดหนึ่ง ในประเทศไทยมีการปลูกกาแฟอราบิก้าได้ผลผลิตและคุณภาพดี อีกทั้งความต้องการของผู้บริโภคภายใน ประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลตอบแทนสูง ดังนั้นโครงการหลวงมีการส่งเสริมให้มีการปลูกกาแฟเพื่อเป็นอาชีพสำหรับสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการหลวง

ลักษณะดิน

ดินร่วนและมีความอุดมสมบูรณ์ มีความเป็นกรดด่าง 5.5 - 6.5 หน้าดินลึก และระบายน้ำดี

สภาพภูมิประเทศ

ความสูง 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป

สภาพภูมิอากาศ

มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 15 - 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60 %

แหล่งน้ำ

- อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี

- มีการกระจายของฝน 5 - 8 เดือน

- มีแหล่งน้ำสะอาดและมีปริมาณพอที่จะให้น้ำได้ตลอดช่วงฤดูแล้ง

พันธุ์

พันธุ์ที่ดี ควรมีลักษณะดังนี้

• เป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อโรคราสนิม

• มีลักษณะต้นเตี้ย ข้อสั้น ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ

การเพาะเมล็ด

จัดทำกระบะเพาะ สำหรับเพาะเมล็ด 1 กิโลกรัม (ประมาณ 3,000 เมล็ด) โดยอาจใช้ไม้ไผ่ หรือวัสดุท้องถิ่น ขนาดความกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร อาจสร้างบนพื้น หรือยกสูงจากพื้นก็ได้

• ใช้ก้อนหินกรวดขนาด 1-2 เซนติเมตร เรียบบนกระบะเพาะชั้นล่างสุด หลังจากนั้นใช้ทรายหยาบ ซึ่งผ่านการรร่อนตะแกรงมุ้งลวดและล้างด้วยน้ำแล้ว เททับลงบนกระบะให้หนา 25 เซนติเมตร

• ใช้น้ำร้อนลวกผิวทรายละเอียดบนกระบะเพาะเพื่อฆ่าเชื้อ Rhixoctonia sp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคราคเน่าและเน่าคอดิน หรือ Damping off. ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในระยะเพาะกล้า

• ใช้เชื้อ ไตรโคเดอร์มา (Tricoderma sp.) 93-95% ราดบนผิวทรายบนกระบะเพาะก่อนทำการเพาะ 6 วัน อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร

• ใช้ไม้ขีดเป็นร่องบนแปลงเพาะห่างกัน ทุกๆ 5 เซนติเมตร

• วางเมล็ดกาแฟเรียงบนร่อง โดยคว่ำเมล็ดลง แล้วกลบด้วยทราย

• ใช้กระสอบคลุมบนกระบะเพาะและรดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

• ประมาณ 30-45 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก เรียกว่าระยะหัวไม้ขีด

• เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 60 วัน เรียกระยะปีกผีเสื้อ มีรากยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร 

การคัดและการเตรียมเมล็ดพันธุ์

เมล็ดกาแฟที่นำมาทำพันธุ์ ควรเลือกจากต้นที่มีผลผลิตสูงติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอเป็นต้นที่มีการเจริญเติบโตแข็งแรงดี มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและโรคแมลงได้ดี ผลกาแฟที่เก็บมาทำพันธุ์คัดจากผลที่สุกเต็มที่ ปอกเปลือก หมัก ล้างให้สะอาดผึ่งในร่มที่แห้ง

การเตรียมต้นกล้ากาแฟ

1 ) เตรียมแปลงเพาะเมล็ด ใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 เกลี่ยในกระบะหรือแปลงที่ระบายน้ำได้ดี แปลงเพาะเมล็ดนี้ควรอยู่ในโรงเรือนที่มีหลังคาบังแดดให้แสงเข้าได้ 50% และปราศจากสัตว์เลี้ยงเข้ามาขุดคุ้ย รบกวน

2 ) เตรียมต้นกล้า โดยนำเมล็ดที่คัดเลือกไว้คลุกกับสารป้องกันกำจัดเชื้อราอาจจะแช่ไว้ 1 คืนแล้วนำมาเพาะในกระบะหรือแปลงเพาะที่เตรียมไว้ ฝังเมล็ดลึกประมาณ 1 เซนติเมตร รดน้ำ วันละ 1-2 ครั้ง เดือนมีนาคม - เมษายน เป็นช่วงที่เหมาะกับการเพาะเมล็ดเนื่องจากอุณหภูมิสูงเมล็ดงอกเร็วขึ้น

3 ) ย้ายต้นกล้าลงถุงเพาะชำ เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตในระยะหัวไม้ขีด หรือปีกผีเสื้อ ให้ย้ายชำลงถุงเพาะ ขนาด7x10 นิ้ว เจาะรูโดยรอบใช้ดินที่ประสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วใส่ลงในถุงและนำต้นกล้ามาชำลงในถุงตั้งไว้ที่ร่มรำไรรดน้ำทั้งวัน

4) นำต้นกล้ากาแฟไปปลูก เมือต้นกล้าสูงประมาณ 50 เซนติเมตร หรืออายุประมาณ 8 เดือน จึงย้ายไปปลูกในแปลงต่อไป

การย้ายกล้า

• ใช้ถุงดำขนาด 3 x 9 นิ้ว ที่มีส่วนผสมของ หน้าดิน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยร๊อคฟอสเฟส ปุ๋ยโดโลไมท์ อัตราส่วน 5 ปี๊บ: 1ปี๊บ: 200 กรัม: 200 กรัม ใส่ได้ 60 ถุง

• กล้าที่เหมาะสมคือระยะปีกผีเสื้อ โดยพยายามไม่ให้รากแก้วขาด

การปลูก

ต้นกล้าอายุตั้งแต่ 6 - 8 เดือน หรือ มีใบจริงไม่น้อยกว่า 4 - 5 คู่

• ระยะปลูก 1.5 x 2 เมตร

• ขนาดหลุมปลูก 50 x 50 x 50 เซนติเมตร

• รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟต อัตรา 100 กรัม/หลุม และปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม/หลุม

• ปลูกภายใต้สภาพร่มเงา โดยใช้ไม้โตเร็วได้แก่

ถั่วหูช้าง (Enterolobium cyclocarpum Griseb) 

พฤกษ์ (Albizia lebbeck Benth.) 

ถ่อน (A.procera), 

กางหลวง (A.chinensis), 

 สะตอ (Parikia speciosa Hassk.), 

เหรียง (P.timoriana) 

ซิลเวอร์โอ๊ก (Silver. Oak)

• สามารถปลูกร่วมกับไม้ผลยืนต้น เช่น บ๊วย ท้อ มะคาเดเมียนัท

การตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งแบบต้นเดี่ยวของอินเดีย (Indian single stem pruning) หรือ การตัดแต่งแบบทรงร่ม (Umbrella) เป็นวิธีการที่ใช้กับกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกภายใต้สภาพร่มเงา โดยมีขั้นตอน ดังนี้

1. เมื่อต้นกาแฟเจริญเติบโตจนมีความสูง 90 เซนติเมตร ตัดยอดให้เหลือความสูงเพียง 75 เซนติเมตร

2. เลือกกิ่งแขนงที่ 1 (primary branch) ที่อ่อนแอทิ้ง 1 กิ่ง เพื่อป้องกันยอดฉีกกลาง และต้องคอยตัดยอดที่ จะแตกออกมาจาก โคนกิ่งแขนง ของลำต้นทุกยอดทิ้ง และกิ่งแขนงที่ 1 จะให้ผลผลิต 2 - 3 ปี ก็จะแตกกิ่งแขนงที่ 2(Secondary branch) กิ่งแขนงที่ 3 (terriary branch) และ กิ่งแขนงที่ 4 (quarternary branch) ให้ผลผลิตช่วง 1 - 8 ปี

3. เมื่อต้นกาแฟให้ผลผลิตลดลง ต้องปล่อยให้มี การแตกยอดออกมาใหม่ 1 ยอดจากโคนของกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่สูงสุดหรือถัดลงมา และเมื่อยอดสูงไปถึงระดับ 170 ซม. ตัดให้เหลือความสูงเพียง 150 เซนติเมตร ตัดกิ่ง แขนงที่ 1 ที่อยู่สูงสุดให้เหลือเพียง 1 กิ่ง ซึ่งจะสามารถให้ผลผลิตต่อไปอีก 8 -10 ปี

การตัดแต่งแบบหลายลำต้น (Multiple stem pruning system)

วิธีการนี้ใช้กับต้นกาแฟอาราบิก้าที่ปลูกกลางแจ้ง โดยทำให้เกิด ต้นกาแฟหลายลำต้น จากโคนต้นที่ถูกตัด แต่คัดเลือกเหลือเพียง 2 ลำต้น ซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้

1. เมื่อต้นกาแฟสูงถีง 69 เซนติเมตร ให้ตัดยอดให้เหลือ ความสูงเพียง 53 เซนติเมตร เหนือพื้นดินมียอดแตกออกมาจาก ข้อโคนกิ่งแขนงที่ 1 จากคู่ที่อยู่บนสุด 2 ยอด จะต้องตัดกิ่งแขนงที่ 1 ทิ้งทั้ง 2 ข้าง

2. ปล่อยให้ยอดทั้ง 2 ยอดเจริญเติบโตขึ้นไปทางด้านบน ในขณะเดียวกันกิ่ง แขนงที่ 1 ที่อยู่ต่ำกว่า ความสูง 53 เซนติเมตร เริ่มให้ผลผลิต

3. กิ่ง แขนงที่ 1 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าความสูง 53 เซนติเมตร จะถูกตัดทิ้ง หลังจากที่ให้ผลผลิตแล้ว ในขณะเดียว กันกิ่งแขนงที่ 1 ที่อยู่ระดับล่าง ๆ ของลำต้นทั้งสองก็เริ่มให้ผลผลิต

4. ต้นกาแฟที่เจริญเป็นลำต้น ใหญ่ 2 ลำต้น จะสามารถให้ ผลผลิตอีก 2 - 4 ปี และขณะเดียวกันก็จะเกิด หน่อขึ้นมา เป็นลำต้นใหม่ อีกบริเวณโคนต้นกาแฟเดิม ให้ปล่อยหน่อที่แตกใหม่เจริญเป็นต้นใหม่ ตัดให้ เหลือเพียง 3 ลำต้น

5. ให้ตัดต้นกาแฟเก่าทั้ง 2 ต้นทิ้ง และเลี้ยงหน่อใหม่ ที่เจริญเป็นต้นใหม่ ซึ่งจะสามารถให้ผลผลิตได้อีก 2 - 4 ปี แล้วจึงตัด ต้นเก่าเพื่อให้แตกต้นใหม่อีก

การให้น้ำ

พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมส่วนใหญ่อยู่บนพื้นที่สูงระดับตั้งแต่ 700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป ซึ่งจะอาศัยน้ำฝน ตามธรรมชาติ ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 1,500 มิลลิเมตร และมีการกระจายของฝนตั้งแต่ 5 - 8 เดือน ในรอบ 1 ปี นอกจากนี้ยังมีสภาพอากาศหนาวเย็น ความชื้นสูง จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องอาศัยระบบการให้น้ำกับต้น กาแฟ นอกจากนี้หากปลูกกาแฟร่วมกับไม้ผลยืนต้น หรือปลูกกาแฟ ภายใต้สภาพร่มเงากับไม้ป่าโตเร็ว รวมถึงการคลุมโคนต้น ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ปลูกไม่ต้องพึ่งพาระบบชลประทาน

การคลุมโคนต้นกาแฟ

การคลุมโคนต้นกาแฟมีประโยชน์มากโดยเฉพาะในช่วงที่สวนกาแฟ ประสบภาวะแห้งแล้ง ซึ่งจะช่วยไม่ให้กาแฟทรุดโทรม หรืออาจถึงตาย เนื่องจากขาดความชื้นในอากาศและในดิน นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันวัชพืช ที่จะเกิดในแปลงกาแฟในขณะที่ทรงพุ่มกาแฟยังไม่ชิดกัน และเป็นการป้องกัน การพังทลายของดินเมื่อเกิด ฝนตกหนัก ข้อควรระวังการคลุมโคน เป็นแหล่ง สะสมของโรคและแมลงศัตรูกาแฟ การคลุมโคนกาแฟ ควรคลุมโคนให้ห่าง จากต้นกาแฟประมาณ 10-20 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูกาแฟ กัดกระเทาะเปลือกกาแฟ หรือไม่ให้เกิดอันตรายกับโคนต้นกาแฟในระหว่าง ที่วัสดุคลุมโคนเกิดการย่อย สลายได้ โดยคลุมโคนให้กว้าง 1 เมตร และหนาไม่ต่ำกว่า 10 ซม.

การให้ปุ๋ย

กาแฟเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยค่อนข้างสูง โดยเฉพาะช่วง ระยะเวลาเริ่มออกดอก ติดผลหากขาดปุ๋ยในช่วงระยะ เวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งความชื้นในดินและในดอกกาแฟน้อย และอุณหภูมิสูง กาแฟจะแสดงอาการเป็นโรคยอดแห้ง (Die back) ไม่เจริญเติบโต และตายในที่สุด

สำหรับธาตุอาหารที่ต้นกาแฟต้องการมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ

o กลุ่มธาตุอาหารหลัก ได้แก่ N P K (Primary nutrients)

o กลุ่มธาตุอาหารรอง ได้แก่ Ca Ng S (secondary nutrients)

o ธาตุอาหารจุลธาตุ ได้แก่ Fe Mn Zn Cu B Mo และ Cl

ระดับความสูง 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ควรใส่ปุ๋ย ช่วงเดือนพฤษภาคม กรกฎาคม และกันยายน

ระดับความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ควรใส่ปุ๋ยช่วง เดือนพฤษภาคม สิงหาคม และตุลาคม

หมายเหตุ

1. ในกรณีที่พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหารหลักหรือธาตุ อาหารรอง ให้ใส่ปุ๋ยที่เป็นธาตุอาหารหลัก เพิ่มขึ้นหรือธาตุอาหารรอง เสริมซึ่งมีทั้งในรูปปุ๋ยเม็ด หรือปุ๋ยเกล็ด ที่ฉีดพ่นทางใบ โดยคำนึง ถึงลักษณะของดินและความชื้นในดินในขณะที่ใส่

2. ระยะเวลาในการใส่ปุ๋ยกาแฟอาราบิก้า ขึ้นอยู่กับระดับ ความสูงของสถานที่ปลูก ซึ่งจะมีผลต่ออายุ

การจัดการร่มเงา

ไม้บังร่มจะช่วยลดความเข้มของแสง อุณหภูมิ ลมและอุณหภูมิดิน ทำให้กาแฟมีผลผลิตสม่ำเสมอ คุณภาพกาแฟสูงต้นกาแฟไม่โทรม มีอายุยืนยาว ใบล่วงหล่นมาสามารถเป็นปุ๋ยคลุมดินได้ นอกจากนี้ยังมีผลผลิตเสริมรายได้อีกด้วย ไม้บังร่ม เช่น สะตอ แคบ้าน ขี้เหล็ก กระถิ่นยักษ์ ซิลเวอร์โอ๊ก และถั่วทะแฮะ เป็นต้น

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพของกาแฟ ได้แก่ เนื้อสารกาแฟ (Body) รสชาติ (Flavour) ความเป็นกรด (Acidity) และมีกลิ่นหอม (Aroma) หากเก็บผลที่ยังไม่สุก และช่วงเวลาในการเก็บไม่เหมาะสม นอกจากจะมีผลต่อคุณภาพ และรสชาติแล้ว ยังมีผลทำให้ต้นทุนการผลิต (ค่าแรงงาน) เพิ่มขึ้น

อายุการเก็บเกี่ยว

ผลกาแฟในแต่ละสภาพพื้นที่ปลูกไม่พร้อมกัน

• ระดับความสูง 700-900 เมตรจากระดับน้ำทะเล

• อายุการเก็บเกี่ยว (ตั้งแต่ติดผล-ผลสุก) ประมาณ 6 เดือน

• ระดับความสูง 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

• อายุการเก็บเกี่ยว (ตั้งแต่ติดผล-ผลสุก) ประมาณ 9 เดือน

วิธีการเก็บผลกาแฟ

การเก็บผลกาแฟ เพื่อทำกาแฟเมล็ดแบบวิธีเปียกนั้น ต้องมีความเอาใจใส่ พิถีพิถัน เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของกาแฟเมล็ดที่มีคุณภาพดี มีกลิ่น รสชาติ เป็นที่ต้องการของตลาด ต้นกาแฟหนึ่งต้นจะเก็บผลกาแฟประมาณ 3-4 ครั้ง การเก็บผลกาแฟครั้งสุดท้ายให้เก็บผลกาแฟออกทั้งหมดและทำกาแฟเมล็ดแบบวิธีแห้ง (นำผลกาแฟไปตากแดดทั้งผล) ขั้นตอนการเก็บผลกาแฟมีข้อปฏิบัติ ดังนี้

1. ควรเก็บผลกาแฟทีละผล

2. เลือกเฉพาะผลที่สุกเต็มที่ (ผลแดงหรือเหลืองบีบแล้วนิ่ม)

3. แยกผลที่เป็นโรค ผลแห้ง หรือผลเน่า ทิ้งไป

โรคสำคัญของกาแฟอราบิก้า

โรคผลเน่า เกิดจากเชื้อราจะทำให้ผลดำ เปลือกเหี่ยวย่น เมล็ดแลบและแห้งคาต้นใช้ประโยชน์ไม่ได้ วิธีป้องกันกำจัด ให้ตัดกิ่งเป็นโรคเผาทำรายทิ้ง พร้อมแต่งกิ่งให้โป่รง ลมพัดผ่านและแสงส่องเข้าในทรงพุ่มได้ทั่วถึง

โรคราสนิม เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งมักระบาดในฤดูฝนเนื่องจากมีความชื้นในบรรยากาศสูง โดยเฉพาะที่ใบอ่อนจะพบเชื้อราสร้างเส้นใยกระจายตามพื้นที่ของใบด้านล่าง ทำให้ระบบสังเคราะห์แสงและระบบคายน้ำทำงานไม่เป็นปกติ ทำให้ผลผลิตต่ำลงและไม่ได้คุณภาพ

โรคแอนแทรคโนส เกิดจากเชื้อรา เข้าทำลายใบ กิ่ง ก้านดอก ก้านผล และผล พบเห็นได้ทั่วไปในสวนที่ไม่มีการดูแลเอาใจใส่ หรือแปลงที่ปลูกกลางแจ้ง ลักษณะอาการของโรคมีลักษณะตามส่วนที่เกิด เช่น เกิดกับใบ แผลเป็นจุดกลมสีน้ำตาลขนาดเล็กๆและขยายขึ้นเรื่อยๆหรือเกิดกับกิ่ง อาการเริ่มแรกใบกาแฟเป็นสีเหลืองทั้งที่ใบเหล่านี้ยังไม่แก่ที่จะเหลืองและร่วงตามธรรมชาติ

การป้องกันและกำจัด

• ให้ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลายทิ้ง พร้อมตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลมพัดผ่านและแสงส่องเข้าในทรงพุ่มได้ทั่วถึง

• บำรุงต้นกาแฟให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งหากเกิดการระบาดรุนแรง การใช้สารเคมีฉีดพ่นควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน

แมลงที่สำคัญของกาแฟอราบิก้า

1) เพลี้ยหอยสีเขียว เป็นแมลงลักษณะคล้ายกาบหอย ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อนและผลอ่อนของกาแฟ ทำให้ยอดอ่อนและผลเหี่ยวเฉา ถ้ามีการระบาดมากต้นกาแฟจะชะงักการเจริญเติบโตและตายได้

2) เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงปากดูด ลำตัวปกคลุมด้วยขี้ผึ้งสีขาวคล้ายแป้ง จะเห็นอยู่เป็นกลุ่มบริเวณผลกาแฟตาดอก หรือยอดหน่ออ่อน และจะขับน้ำหวานออกมาดึงดูดมดมากิน และเกิดราดำปกคลุมกาแฟ

3) เพลี้ยอ่อน ทำลายต้นกาแฟโดยใช้ปากเจาะกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนทำให้ยอดหงิกงอชะงักการเจริญเติบโตและมูลที่เพลี้ยถ่ายออกมานั้นมีรสหวานซึ่งเป็นสาเหตุให้ราดำขึ้นจับใบจนมีสีดำ

4) หนอนกัดเปลือกและเจาะลำต้น เป็นแมลงที่มีความสำคัญที่สุด สำหรับกาแฟอราบิก้า ต้นกาแฟที่ถูกหนอนเจาะทำลายจะแสดงอาการใบเหลือง เหี่ยว และยืนต้นแห้งตายในที่สุด

5) มอดเจาะผลกาแฟ เป็นแมลงปีกแข็งมีขนาด 1 มิลลิเมตร วางไข่ขยายพันธุ์ และกัดกินอยู่ใน ผลกาแฟที่มีขนาดตั้งแต่ 5 มิลลิเมตร ขึ้นไป จนถึงผลสุกเริ่มสุดและผลเป็นสีแดง มอดจะติดผลกาแฟไปถึง ลานตาก และอาศัยอยู่ในผลกาแฟจนแห้งดำที่ติดค้างบนกิ่งและผลที่หล่นใต้ต้น

การป้องกันและกำจัด

• หากพบมีการระบาดรุนแรงการใช้สารเคมีฉีดพ่นควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก่อน