องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

รูดบีเกีย

 

ชื่อสามัญ  Rudbeckia

ชื่อวิทยาศาสตร์  Rudbeckia purpuria

รูดบีเกียจัดเป็นพืชข้ามปี (Biennial) แต่มักจะทำเป็นพืชล้มลุก (Annual) การเพาะเมล็ด รูดบีเกียควรเพาะเมล็ดที่อุณหภูมิประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส และควรมีการกลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะบางๆ การงอกของเมล็ดจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ ข้อที่น่าสังเกตการหว่านหรือเพาะเมล็ดนั้น ควรเพาะในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อจะให้รูดบีเกียนั้นออกดอกในปีเดียวกัน การออกดอกของรูดบีเกียจากการเพาะเมล็ดจนถึงการออกดอกจะใช้เวลาประมาณ 18-20 องศาเซลเซียส (ประมาณ 5 เดือน) การเจริญเติบโตจะดีถ้าได้รับอุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส ในช่วงการปลูกควรมีการใช้สารเคมีจำพวกกำจัดเชื้อราเพื่อควบคุมโรค Pythium พันธุ์ที่ใช้คือ Rudbeckia purpurea โดยเป็นรูดบีเกียที่มีการแตกกิ่งก้านของลำต้น เป็นกิ่งก้านขนาดใหญ่และดอกเป็นแบบ Daisy flowers สีม่วงอมชมพูกลีบดอกแข็ง มีความสูงประมาณ 60 เซนติเมตร

การขยายพันธุ์

การเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดรูดบีเกียจะทำการเมล็ดในตะกร้าพลาสติก โดยขีดเป็นร่องแล้วกลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะบางๆ ประมาณ 8 วัน เมล็ดรูดบีเกียจะเริ่มงอกมีใบเลี้ยงจำนวน 2 ใบ หลังจากนั้นอีกประมาณ 7 วัน ให้ย้ายต้นกล้ารูดบีเกียมีขนาดต้นพร้อมจะปลูกลงแปลงได้

การเตรียมแปลงปลูก

1. ทำการไถพรวนพื้นที่แปลงปลูก เพื่อเปิดหน้าดิน หลังจากนั้นทำการใส่วัสดุปรุงดินดังนี้

- แกลบดิน  จำนวน ? กระสอบ/ตารางเมตร

- ปุ๋ยหมัก  จำนวน 3 กิโลกรัม/ตารางเมตร

- ปุ๋ยสูตร 0-46-0 จำนวน 0.2 กิโลกรัม/ตารางเมตร

- โดโลไมท์  จำนวน 0.2 กิโลกรัม/ตารางเมตร

2. หลังจากใส่วัสดุปรุงดินเรียบร้อยแล้ว ทำการไถพรวนเพื่อคลุกเคล้าวัสดุปรุงดินให้เข้ากัน หลังจากนั้นทำการขึ้นแปลง ขนาดกว้าง 1.2 เมตร ? ความยาว ตลอดพื้นที่ทำการปลูก ระยะห่างระหว่างแปลงปลูกประมาณ 45 เซนติเมตร

การปลูก

ระยะปลูกสำหรับรูดบีเกียจะใช้ระยะปลูกตั้งแต่ 20-30 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้ารูดบีเกียในถาดหลุมมีอายุประมาณ 2 เดือน ให้ย้ายลงแปลงปลูกที่เตรียมแปลงเรียบร้อยแล้ว ก่อนปลูกให้รดน้ำแปลงปลูกให้เรียบร้อย เพื่อให้ง่ายต่อการปลูก และทำให้ต้นกล้ารูดบีเกียไม่ล้มเวลารดน้ำหลังปลูกเสร็จ หลังจากปลูกรูดบีเกียแล้ว เมื่อต้นตั้งตัวได้แล้วให้เริ่มทำการให้ปุ๋ยโดยใช้ปุ๋ยน้ำสลับกับปุ๋ยยูเรียรดประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับในแปลงปลูกกลางแจ้ง สามารถทำการใส่ปุ๋ยเม็ดให้แก่รูดบีเกียได้ จะใช้ในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีการชะล้างของฝนในแปลงปลูกได้ค่อนข้างมาก ส่วนในช่วงฤดูแล้งควรใช้ปุ๋ยน้ำ เพื่อเพิ่มความชื้นแก่แปลงปลูกรูดบีเกีย

ตาราง : อัตราการให้ปุ๋ย/น้ำ 20 ลิตร (ถัง A) น้ำ 20 ลิตร (ถัง B)

ปุ๋ย                                   ถัง A                      ถัง B


โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต (11-60-0)              40 กรัม                      -

แคลเซียมไนเตรท (15-0-0)                                          -            100 กรัม

โปแตสเซียมไนเตรท (13-0-46)                 50 กรัม                   50 กรัม

แมกนีเซียมซัลเฟต (MgSO4 7H2O)              25 กรัม                      -

ยูนิเลท                                25 กรัม           -

 

การตัดดอก

หลังจากการปลูกรูดบีเกียลงแปลงปลูกประมาณ 4 เดือน รูดบีเกียจะเริ่มให้ดอกได้ การให้ดอกของรูดบีเกียจะทยอยแทงช่อดอก ซึ่งการให้ดอกจะไม่สม่ำเสมอภายในแปลง เพราะเป็นต้นที่เกิดจากการเพาะเมล็ด หลังจากรูดบีเกียแทงช่อดอก ระยะเวลาการตัดดอกของรูดบีเกีย จะสังเกตกลุ่มเกสรของดอกจะบานขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งปลายกลุ่มเกสรจะแหลมคล้ายปิระมิด ส่วนกลีบดอกของรูดบีเกียจะย้อยลงมาคล้ายลักษณะลูกแบดมินตัน

การจัดมาตรฐานเกรด

หลังจากตัดรูดบีเกีย จะทำการดึงกลีบดอกรูดบีเกียออกให้หมด พร้อมทั้งปลิดใบทิ้งทั้งหมด แล้ววัดขนาดความยาวของก้านรูดบีเกียจากปลายดอกรูดบีเกียที่อยู่สูงที่สุดของช่อจนถึงปลายก้านช่อดอก โดยมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพเกรด ดังนี้

เกรด A ความยาวก้านช่อดอก  55 เซนติเมตร

เกรด B ความยาวก้านช่อดอก  52 เซนติเมตร

เกรด C ความยาวก้านช่อดอก  41 เซนติเมตร

เกรด U ความยาวก้านช่อดอกต่ำกว่า 41 เซนติเมตร

หลังจากวัดขนาดความยาวของก้านช่อดอกแล้วการเข้ากำของรูดบีเกีย จะเข้ากำรูดบีเกียกำละ 10 ดอก โดยจะนับเฉพาะดอกที่กลุ่มเกสรเป็นรูปปิระมิด ส่วนดอกที่ยังไม่สมบูรณ์ภายในช่อดอกให้ถือเป็นดอกประกอบหลังจากครบ 10 ดอก/กำ แล้ว การเข้ากำให้หุ้มสำลีใส่ถุงพลาสติก พร้อมใส่ถุงสลิปแช่น้ำไว้ ก่อนบรรจุลงกล่องส่งฝ่ายตลาดจำหน่าย


 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.