องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

มะเขือประดับ

 

ชื่อสามัญ  Nipplefruit, Titty Fruit, Cow''s Udder 

ชื่อวิทยาศาสตร์    Solanum mammosum

มะเขือประดับ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอเมริกากลาง อยู่ในตระกูลเดียวกับพริก มะเขือเทศ มันฝรั่ง และยาสูบ ซึ่งต้องการสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งเจริญเติบโตเป็นพืชข้ามปี โดยทั่วไปมีขนาดทรงพุ่มสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร ทรงพุ่มกว้างประมาณ 60-90 เซนติเมตร มีการเจริญแบบไม่จำกัด ทรงพุ่มเกิดราก มีการเจริญของกิ่งแขนง ระบบรากเป็นรากแก้ว ใบเดี่ยวขนาดใหญ่เจริญสลับกัน มีขนเล็กๆ บริเวณใบและลำต้น มีหนามแหลมคมทั่วทั้งใบและกิ่งดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีสีม่วง ผลมีสีเหลืองจนถึงส้ม และขั้วผลเป็นปุ่ม 3-5 ปุ่ม

ผลผลิตของโครงการหลวงโดยเฉพาะผลผลิตไม้ดอกนั้น ความแปลกใหม่เป็นสิ่งที่ต้องการของลูกค้า มะเขือประดับมีลักษณะผลที่มีขั้วผลเป็นปุ่ม 3-5 ปุ่ม คล้ายดาว และมีสีของผลสีเหลืองจนถึงสีส้มสดใส เป็นลักษณะเด่น เป็นที่สะดุดตา สร้างความสนใจของลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่จะหาซื้อผลผลิตและต้นกล้า ด้านราคาเป็นที่น่าพอใจ จึงทำให้เริ่มดำเนินการผลิตมะเขือประดับเพื่อการทดลองเก็บข้อมูลด้านการเจริญเติบโต ผลผลิต การดูแลรักษา และเพื่อการจำหน่ายต่อไป

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

มะเขือประดับ ต้องการสภาพอากาศร้อนชื้นอยู่ที่อุณหภูมิที่ 22-30 องศาเซลเซียส จึงควรปลูกที่ระดับความสูงประมาณ 600 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต้องการดินร่วนซุย ดินอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำได้ดี pH 6.6 - 7.5 ไม่ควรปลูกมะเขือประดับซ้ำกับพื้นที่ที่เคยปลูกมะเขือเทศ พริก หรือยาสูบ

การตลาด

มะเขือประดับมีลักษณะเด่น คือ มีสีสันสดใส และมีรูปร่างที่แปลกตา จึงทำให้ตลาดมีความต้องการใช้ในงานประดับตกแต่งสถานที่ เช่น โรงแรม หรือกระเช้าดอกไม้ การใช้งานของมะเขือประดับได้ใน 2 ลักษณะ คือ ปักแจกันทั้งกิ่ง และใช้ประดับในกระเช้า และตกแต่งอื่นๆ ราคามะเขือประดับเฉลี่ยที่กิ่งละ 30 บาท และลูกละ 6 บาท

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์

การเพาะเมล็ด

โดยเฉพาะเมล็ดในถาดเพาะกล้า ที่มีส่วนผสมของ ทราย ขุยมะพร้าว ดิน และขี้เถ้าแกลบ รดน้ำหลังเพาะประมาณ 10 วันจะเริ่มงอก

การปักชำกิ่ง

นำกิ่งมาชำในวัสดุ ทราย และขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1:1 หลังการปักชำประมาณ 7 วัน จะเริ่มมีรากงอก และใบอ่อนแตกใบใหม่

การอนุบาล

หลังจากต้นกล้างอก 14 วัน ย้ายลงถุงดำขนาด 3-5 นิ้ว ในวัสดุปลูกประกอบด้วยปุ๋ยหมัก ทราย แกลบ ขี้เถ้าแกลบ อัตรา 1:1:1:1 รดปุ๋ยน้ำทุกวัน จนต้นกล้ามีอายุ 30 วัน จึงนำลงปลูก

ช่วงระยะเวลาที่ใช้ขยายพันธุ์

ระยะที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์เดือนมีนาคม-เมษายน เพื่อนำลงปลูกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีปลูก 

การเตรียมแปลง

ทำแปลงกว้าง 1 เมตร เว้นช่อง 70 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 1.50 เมตร

การเตรียมดิน

ขุดดินตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 14 วัน ใส่ปูนขาวในอัตรา 100-150 กรัม/ตารางเมตร ปรับ pH ให้เหมาะสมอยู่ที่ 6.6-7.5

เทคนิควิธีการปลูก

ใช้การปลูกระบบคลังอาหาร ให้ขุดหลุมลึก 50-60 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอก อย่างละ 1 กิโลกรัม และปุ๋ย 12-24-12 อัตรา 50 กิโลกรัม โดยผสมคลุกเคล้ากับดินและนำต้นกล้าลงปลูก

การดูแลรักษา 

การจัดการด้านความเข้มของแสง

มะเขือประดับต้องการแสงแดดตลอดทั้งวันจะเจริญเติบโตได้ดี สามารถปลูกกลางแจ้งโดยไม่ต้องพรางแสง สามารถเจริญเติบโตได้ในทุกช่วงแสง

การจัดการด้านอุณหภูมิ

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตอยู๋ระหว่าง 22-30 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 17 องศาเซลเซียส หรือสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส พืชจะชะงักการเจริญ

ปุ๋ย

หลังจากปลูกประมาณ 14 วัน ใส่ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับ 15-15-15 อัตรา 1:1 ประมาณ 15 กรัม/ต้น และใส่ทุกๆ 10 วัน เมื่อมะเขือประดับเริ่มติดผล ใส่ปุ๋ย 13-13-21 อัตรา 20 กรัม/ต้น ทุกๆ 7 วันจนถึงเก็บเกี่ยว

โรคและศัตรูพืช 

โรคใบหงิก (Leaf Curl)

เกิดจากเชื้อไวรัส แก้ไขโดยขุดต้นทิ้งและเผาทำลายต้นที่เป็นโรค กำจัดแมลงพาหะ เช่น แมลงหวี่ขาว เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค

แมลงวันแตง

เข้าทำลายระยะติดผล ทำให้ผลร่วง ป้องกันโดยใช้เหยื่อ คือ โปรตีนไฮโดรไลเสท นำมาผสมกับมาลาไธออน ฉีดพ่นพืชใกล้เคียงเป็นจุดๆ หรือใช้กับดักกาวเหนียว

การให้น้ำ ให้น้ำสม่ำเสมอ โดยใช้สายยางรด ไม่ให้น้ำเปียกหรือแฉะเกินไป

การเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยว อายุ 120-150 วัน หลังปลูกเมื่อผลมะเขือประดับเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงสีส้ม

วิธีการเก็บเกี่ยว ตัดกิ่งที่มีความยาว 60 เซนติเมตรขึ้นไป ผลมีสภาพสมบูรณ์ มีปุ่มที่ขั้วผล 3-5 ปุ่มขึ้นไป ตัดแต่งหนามบริเวณกิ่ง ใบ และขั้วผลออก นำมาเข้ากำโดยมีผลสมบูรณ์ ใน 1 กำ มากกว่า 10 ผลขึ้นไป แล้วหุ้มด้วยสำลีชุบน้ำแล้วสวมถุงพลาสติกทับ บรรจุลงถุงพลาสติกเจาะรูซึ่งมีลักษณะกรวยหุ้มเอาไว้

สภาพแวดล้อมขณะเก็บเกี่ยว (ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว) เก็บเกี่ยวในช่วงเช้าตั้งแต่ เวลา 07.00-10.00 น. หลังจากตัดแล้วให้แช่ในน้ำทันที ก่อนนำมาจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว 

การแช่น้ำยา แช่ในน้ำธรรมดา โดยแช่ในอุณหภูมิปกติแช่ในถังพลาสติกสูงประมาณ 60 เซนติเมตร ที่มีน้ำอยู่โดยปักให้ผลหรือกิ่งเบียดกันจะทำให้เกิดรอยที่ผลได้

อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเก็บรักษา สามารถรักษาในอุณหภูมิปกติได้ และสามารถยืดอายุการใช้งานได้โดยการเก็บในห้องเย็นที่อุณหภูมิ ประมาณ 4-10 องศาเซลเซียส

ข้อแนะนำอื่นๆ มะเขือประดับมีหนามแหลมคม ทั้งกิ่ง ใบ และขั้วผล ในการเก็บเกี่ยวจึงควรใส่ถุงมือหนัง เพื่อป้องกันอันตรายจากหนาม


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.