องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ซิมบีเดียมไต้หวัน

ซิมบีเดียมเป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดบนภูเขาสูงแถบหิมาลัย พม่า ไทย และ เวียดนาม ไปจนกระทั่งถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นสกุลหนึ่งของพืชตระกูลกล้วยไม้ ซึ่งมีมากกว่า 44 ชนิด แบ่งออกเป็น 4 สกุลย่อย และ 15 กลุ่ม สำหรับในเชิงการค้าจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ซิมบีเดียมดอกใหญ่ และดอกเล็ก การผลิตซิมบีเดียมในไต้หวันมีค่อนข้างจำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับกล้วยไม้สกุลอื่นๆ เช่น ฟาแลนนอปซิส หรือออนซีเดียม โดยมีพื้นที่การผลิตเมื่อปี 2001 ประมาณ 50 เฮกตาร์ ส่วนใหญ่เนิร์สเซอรี่เหล่านี้จะกระจายอยู่ในพื้นที่ต่ำแถบเชิงเขาตอนเกาะกลางไต้หวัน

พันธุ์ซิมบีเดียมลูกผสมที่ใช้ในไต้หวันส่วนใหญ่จะนำมาจากญี่ปุ่น โดยที่บริษัทเอกชนภายในไต้หวันจะติดต่อบริษัทปรับปรุงพันธุ์ซิมบีเดียมในญี่ปุ่น เมื่อนำเข้าพันธุ์มาทดสอบและคัดเลือกไว้เฉพาะที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไต้หวัน การผลิตซิมบีเดียมในไต้หวันถูกพัฒนาโดยเนิร์สเซอรี่เอกชนมากว่า 10 ปีแล้ว เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศของไต้หวันและสามารถออกดอกได้เร็ว พันธุ์ที่กำลังได้รับความนิยมขณะนี้ คือ พันธุ์เคนนี่ เพราะปรับตัวกับพื้นที่ที่มีอากาศไม่หนาวจัดได้ดี แต่ยังมีข้อจำกัด คือ ยังเป็นซิมบีเดียมที่มีดอกขนาดเล็กอยู่นั่นเอง แต่เดิมซิมบีเดียมพื้นเมืองจะมีการออกดอกตามธรรมชาติตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน แต่ในเชิงการค้าไต้หวันต้องการลูกผสมที่สามารถออกดอกได้ทันที ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสหรือตรุษจีน ในการคัดเลือกลูกผสมจึงมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน เช่น ซิมบีเดียมกลุ่มดอกใหญ่ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ พันธุ์เบาออกดอกก่อน และพันธุ์หนักออกดอกช้า นอกจากนี้เนื่องจากซิม-บีเดียมโดยทั่วไปต้องการอุณหภูมิต่ำในตอนกลางคืนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอก ดังนั้นในการปลูกในพื้นที่กึ่งร้อนที่มีอากาศไม่หนาวเย็นมากนักหรือเพื่อให้ปลูกในพื้นที่ต่ำได้ จึงมีแนวทางการพัฒนาเพื่อให้ทนร้อนมากขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาพันธุ์ทั้งกลุ่มดอกใหญ่และกลุ่มดอกเล็ก นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะสมกับการผลิตเป็นไม้กระถางที่มีต้นเล็กลงและมีจำนวนดอกมากขึ้น เพื่อให้รับ และสมดุลกับขนาดกระถาง (Chaung, 2001)

ภาษาจีน จะเรียกซิมบีเดียมว่า หลันฮั้ว เป็นกล้วยไม้ที่ดอกมีกลิ่นหอมเป็นไม้ดอกตามความเชื่อของชาวจีนมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น อุ๋ย อวงเจ่อ เซียง หรือเป็นจักรพรรดิของไม้หอม และไม่เพียงแต่กลิ่นหอมของดอกเท่านั้น ใบของหลันในสายตาของศิลปินก็ได้รับการยกย่องในภาพวาดว่ามีความสง่า และงดงาม หลันเป็นสัญลักษณ์ของบัณฑิตผู้เปล่าเปลี่ยวและสตรีที่งามสง่า เป็นสัณลักษณ์ของความรัก ความงาม ความละมุนละไมแห่งสตรีเพศ และความสูงส่งแห่งเกียรติคุณ (พิศิษฐ, 2519)

การปลูกซิมบีเดียม

จะต้องทราบถึงสภาพแวดล้อมของถิ่นกำเนิดเพื่อจะทำให้สามารถดัดแปลงสภาพการปลูกให้เหมาะสมกับต้นไม้ได้ ซิมบีเดียมบางชนิดออกดอกปีละ 1 ครั้งเท่านั้นเช่น C. sinense จะออกดอกช่วงตรุษจีน บางชนิดมีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่ต่ำจะสามารถออกดอกได้ปีละ 2-4 ครั้ง แต่บางชนิดอยู่บนที่สูง เช่น C. Goeringiiและ C. Kanran Makinoอยู่บนภูเขาสูงที่มีอากาศเย็น ต้องการความชื้นสัมพันธ์สูง หากนำลงมาปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนจะเป็นโรคได้ง่ายและมักไม่ค่อยออกดอก เป็นต้น การจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมนั้นต้องคำนึงถึงสภาพธรรมชาติว่าอะไรดีสำหรับต้นไม้ เพื่อสร้างสภาพที่เหมาะสม การได้รับแสงเป็นอย่างไร นานแค่ไหน การถ่ายเทอากาศ ลมพัดจากไหนไปไหน ความชื้นสัมพันธ์ในระหว่างวันเป็นอย่างไร ส่วนการประเมินว่าวัสดุใดดีหรือไม่ให้ดูที่ระบบรากของพืช รากที่ดีและแข็งแรง จะส่งผลให้ต้นไม้สุขภาพแข็งแรง บางครั้งรากจะหยั่งลึกหรือหยิกรอบกระถาง รากซิมบีเดียมที่ดีต้องมีสีเหลืองหรือขาว บีบดูต้องอวบน้ำ ไม่กลวงหรือมีสีน้ำตาล หากบีบดูแล้วกลวงรากอาจเน่าและตายได้ในไม่ช้า 

พื้นที่ปลูก

พื้นที่การผลิตซิมบีเดียม การผลิตซิมบีเดียมที่ไต้หวันจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1. ซิมบีเดียมลูกผสม ได้แก่ กลุ่มดอกขนาดใหญ่ และดอกขนาดเล็ก พื้นที่การผลิตจะอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศที่มีภูเขาสูง แถบจังหวัดหนานโถว เพราะต้องการอากาศหนาวเย็น มีเกษตรกรปลูกเพียงไม่กี่ราย

2. ซิมบีเดียมพื้นเมือง ได้แก่ ซิมบีเดียมพื้นเมืองของจีน ไต้หวัน และเกาหลี พื้นที่การผลิตจะกระจายอยู่รอบเกาะและในที่ราบลุ่ม ในแถบจังหวัดไชยี่ ไทนาน ไทตุง หนานโถว และไทเป

โรงเรือน

การผลิตซิมบีเดียมของไต้หวัน ทุกพื้นที่จะอยู่ภายใต้หลังคาพลาสติก มีการพรางแสงด้วยตาข่ายพรางแสง 2 ชั้น และอลูมิเน็ตไปจนถึงโรงเรือนมาตรฐานที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของเจ้าของธุรกิจแต่ละคน

การเจริญเติบโต

การเจริญเติบโตในไต้หวัน ซิมบีเดียมจะเริ่มแทงหน่อใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และเจริญเติบโตในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ลำลูกกล้วยจะเริ่มโตเต็มที่ในเดือนกันยายน-ตุลาคม หลังจากนั้นจะแทงช่อดอกในช่วงปลายเดือนตุลาคม และดอกจะเริ่มพัฒนาและบานในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ในปีต่อมาจำนวนของลำลูกกล้วยที่ใช้ปลูกของต้นแม่จะขึ้นอยู่กับพันธุ์ หากการแตกหน่อมากเกินไปจำเป็นต้องมีการแต่งออก เพื่อให้อาหารในลำลูกกล้วยของต้นแม่เพียงพอ จึงจะทำให้ช่อดอกที่เกิดใหม่มีคุณภาพดี ในระยะที่ซิมบีเดียมแทงช่อดอกนี้ อุณหภูมิและแสงแดดที่เพียงพอจะมีผลต่อการพัฒนาและบานของช่อดอก (Chaung, 2001)

ลักษณะการปลูกเลี้ยงซิมบีเดียมของไต้หวัน จะอยู่ภายใต้การดูแลของสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศจีน (Chinese Orchid Society, COS) ความนิยมปลูกเลี้ยงกล้วยไม้จะนิยมเล่นในลักษณะประดับมากกว่าตัดดอก มีลักษณะคล้ายกับการเล่นบอนไซ เน้นรูปทรงของใบมากกว่าสีสัน หรือความหอมของดอก ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 แบบ คือ

1. ใบด่างปากนก (Bird’s bead)

2. ใบด่างแบบแถบ (Strip)

3. ใบด่างแบบปื้น (Cloud)

4. ใบม้วนงอ (Curly)

ต้นที่มีลักษณะแปลกหรือดีสามารถขอจดลิขสิทธิ์ได้กับสมาคมกล้วยไม้แห่งประเทศจีน และสามารถแบ่งกอขายได้ในราคาแพงที่ไต้หวัน

นอกจากนี้ความนิยมของตลาดจะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ดังเช่น จีนตอนใต้นิยมซิมบีเดียมใบด่าง จีนตอนเหนือและตอนกลาง นิยมซิมบีเดียมใบตรงและยาว นอกจากนี้ยังมีความนิยมที่แตกต่างกันไปตามกลุ่มผู้บริโภคอีกด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะชอบรูปทรงต้น จำนวนดอก หรือลักษณะด่างของใบต่างกัน เป็นแฟชั่นเปลี่ยนแปลงทุกๆ ปี บางครั้งจะขึ้นกับความหายากของสีและลักษณะใบ เช่นที่จีนตอนใต้จะนิยมซิมบีเดียมพื้นเมืองดอกเดี่ยว เป็นต้น 

1.3.1 การจำหน่าย

การจำหน่ายซิมบีเดียม สามารถจำหน่ายได้หลายขนาดตั้งแต่ขนาดต้นเล็กจากขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นกล้าเล็กที่ออกขวดแล้ว ต้นกล้าที่พร้อมออกดอก และต้นซิมบีเดียมที่กำลังออกดอก

ขนาดที่นิยม คือ การจำหน่ายต้นกล้าขนาดเล็กที่มี 3 ลำลูกกล้วย สามารถจำหน่ายได้โดยนำต้นกล้าที่ได้จากการออกขวดจากห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาเลี้ยง จนกระทั่งมีลำลูกกล้วย 3 ลำ จากนั้นใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1.5-2 ปี ตลาดที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เกาหลี จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เมืองจีน ซิมบีเดียมจะได้ราคาดีที่สุด ขนาดซิมบีเดียมพื้นเมืองที่จัดจำหน่ายจะอยู่ที่ 2-3 ลำลูกกล้วย และมีดอกติดมา 1-3 ช่อดอก ราคาจำหน่ายที่จีนตอนกลางจะอยู่ที่กระถางละ 180 NT ส่วนซิมบีเดียมลูกผสมขนาดจำหน่ายจะมี 5-8 ลำลูกกล้วย และมีช่อดอก 2-3 ช่อดอก (1 NT=2.25 บาท)

ช่วงเทศกาลตรุษจีนในไต้หวัน ซึ่งจะตรงกับช่วงคริสต์มาสในสหรัฐอเมริกา เป็นฤดูกาลจำหน่ายหลัก ราคาจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับพันธุ์และจำนวนช่อดอก ซิมบีเดียมกลุ่มดอกเล็กที่สามารถปลูกในพื้นที่หนาวไม่จัดจะมีขนาดดอกเล็ก เช่น พันธุ์โกลเด้นเอลฟ์ ราคาจำหน่ายเฉลี่ยประมาณ 150 NT/กระถาง ในขณะที่ซิมบีเดียมดอกใหญ่ จะมีราคาจำหน่ายที่ 300-400 NT/กระถาง

พันธุ์ซิมบีเดียมพื้นเมืองที่นิยมปลูกในไต้หวัน ได้แก่ อิ๋มเบีย จินหัวซัน ซันเฉิน อิ๋วหัว เทกั๋ว ไป๋มั่ว และต๋ามั่ว เกษตรกรในไต้หวันจะใช้การแบ่งแยกการออกดอกโดยพิจารณาจากขนาดใบ ซึ่งพันธุ์ที่มีใบเล็กจะออกดอกในฤดูร้อน ราคาจำหน่าย 10-12 NT/หน่อ ส่วนใบใหญ่จะออกดอกฤดูหนาว 50-60 NT/หน่อ

วิธีการขยายพันธุ์ สามารถทำได้หลายวิธีแต่วิธีที่นิยมใช้ คือ

1. การแบ่งกอ เป็นวิธีการที่ปฏิบัติได้ง่ายโดยการแบ่งต้นด้วยมีด กรรไกรตัดกิ่ง หรือบิด้วยมือ ให้มีหน่อและลำลูกกล้วยเดิมติดมาด้วย ซึ่งลำลูกกล้วยนี้ควรมีใบติดมาด้วย เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงหน่อใหม่ให้เจริญต่อไป ต้นที่แยกกอต้องปลอดไวรัส และต้องเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการ และสามารถจำหน่ายได้โดยที่ 1 กระถาง ที่มี 10-15 ลำลูกกล้วย จะสามารถแยกเป็นกระถางใหม่ได้ประมาณ 3-5 กระถาง ในไต้หวันเมื่อกระถางมีประมาณ 10 หน่อ จะทำการแบ่งกอ การแบ่งกอจะใช้การแบ่งด้วยมือให้ได้ประมาณ 1 หน่อ กับ 1-2 หน่อใหม่ จึงนำไปปลูกในกระถางใหม่รวม 2-3 หน่อ/กระถาง

การกระตุ้นให้เกิดการแตกกอ พบว่าที่ประเทศไต้หวันได้มีการศึกษาผลของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในการชักนำให้ซิมบีเดียมแตกกอ และการพัฒนาของช่อดอกในซิมบีเดียมพันธุ์พื้นเมืองได้สำเร็จ การกระตุ้นให้แตกกอโดยทำการพ่น BA ความเข้มข้น 250 ppm พ่นที่ใบในขณะที่ลำลูกกล้วยเปียก 1 ครั้ง/สัปดาห์ ติดต่อกัน 4 ครั้ง ผลจะตกค้างนานมาก ประมาณ 6-12 เดือน จะทำให้ได้หน่อใหม่ 8-10 หน่อ ซึ่งต้องให้ปุ๋ยเพิ่มขึ้นด้วยไม่เช่นนั้นจะได้หน่อที่มีขนาดเล็ก ปุ๋ยที่นิยมใส่จะใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตร 14-12-14 รอบกระถาง ปริมาณ 5-10 กรัม/ต้น

2. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ตามเนิร์สเซอรี่บางแห่งที่ใหญ่ๆ จะมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของตนเองที่จะมรทั้งการปรับปรุงพันธุ์โดยการผสมเกสรแล้วเพาะเมล็ด และการคัดโคลนที่มีวักษณะดีแล้วมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สำหรับการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อนั้นจะต้องใช้เวลาประมาณ 100 วัน และต้องรอให้งอกจนกระทั่งย้ายได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งจะได้ไรโซม ก่อนไรโซมนี้จะมีลักษณะคล้ายกับรากที่มีข้อปล้อง เรียกว่า “ หลงเกิ้น“ หรือรากมังกร ซึ่งจะต้องทำการชักนำให้เป็นต้นต่อไปด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชกลุ่ม GA และ BA ในขณะที่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออาจใช้ระยะเวลาสั้นกว่า ต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนกระทั่งออกดอกใช้เวลา 2 ปี คุณภาพและปริมาณดอกจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนลำลูกกล้วยและอายุของต้นโดยปกติจะเริ่มออกดอก เมื่อมีลำลูกกล้วย 3 ลำขึ้นไป

การปลูกในทุกพื้นที่ของไต้หวันจะเป็นการปลูกในกระถางบาง ขนาดเล็ก 6 นิ้ว รองก้นกระถางด้วยหินโม่เพื่อเพิ่มน้ำหนัก ทำให้กระถางทรงตัวรับกับน้ำหนักของต้นและช่อดอกได้ ไม่ล้มง่ายเมื่อมีลมพัดแรงและช่วยในการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศด้วย ข้อดีนี้บางเนิร์สเซอรี่จึงใช้หินโม่เป็นวัสดุปลูกด้วยเพราะมีน้ำหนักสามารถถ่วงต้นได้ ที่สำคัญ คือ รากของซิมบีเดียมไม่เกาะเครื่องปลูกทำให้ง่ายในการเปลี่ยนกระถางหรือล้างราก กระถางเหล่านี้จะถูกวางบนตะแกรงหรือชั้นวางที่เป็นเหล็กหรือพลาสติก ยกชั้นขึ้นเหนือพื้นดิน ตั้งอยู่บนฐานตอหม้อปูนซีเมนต์ ใช้โครงเป็นท่อประปา ความสูงเหนือพื้นดินประมาณ 50-60 เซนติเมตร ความหนาแน่นที่เหมาะสมในพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร สามารถปลูกได้ประมาณ 30,000 กระถาง ขึ้นอยู่กับพันธุ์และขนาดกระถาง การปลูกของไต้หวันจะปลูกลงในกระถางเพื่อให้ง่ายในการจัดจำหน่าย ไม่นิยมปลูกบนดิน เพราะจะทำให้การเจริญเติบโตของกอกระจาย ไม่สม่ำเสมอ ต้นสมบูรณ์จะออกดอก ในขณะที่บางต้นไม่ออกดอก การปลูกในภาชนะนี้เชื่อว่าง่ายต่อการควบคุมธาตุอาหารและบังคับให้ออกดอก

วัสดุปลูก

วัสดุปลูกที่ใช้จะเป็นวัสดุที่มีความคงทน สามารถใช้แล้วล้างนำมาใช้ได้อีกไม่เกาะติดรากทำให้ง่ายในการแบ่งหรือแยก หรือใช้ทำซิมบีเดียมล้างรากเพื่อรอส่งจำหน่าย วัสดุปลูกในแต่ละ เนิร์สเซอรี่จะแตกต่างกันออกไป อาทิเช่น คุณซู จะใช้เวอร์มิคูไลท์ รากเฟิน โฟมและเปลือกไม้ผสม บางเนิร์สเซอรี่จะใช้หินโม่เบอร์ 3-4 จำนวน 2 ส่วนต่อรากเฟิน 1 ส่วน คุณจางจะใช้วัสดุปลูกที่ประกอบด้วย หินโม่ 1 คิวบิคเมตรต่อรากเฟิน จำนวน 35 กระสอบ (น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย ราคากระสอบละ 260 NT) ส่วนเนิร์สเซอรี่ของคุณอู่ และคุณหลิง จะใช้กาบมะพร้าวชิ้นเล็กๆ รากเฟิน และหินโม่ รากเฟินจะเป็นวัสดุปลูกที่นิยมกันมากในไต้หวัน ส่วนวัสดุที่นิยมใช้คลุมผิวหน้า คือ สแฟกนัมมอส สแฟกนัมมอสที่ใช้คลุมผิวหน้านี้อาจจะมีปัญหาสาหร่ายขึ้นได้หากปลูกไปนานๆ โดยที่สาหร่ายจะสร้างชีต เมื่อรดน้ำและปุ๋ยจะทำให้ไม่ลงถึงด้านล่าง นอกจากนั้นสแฟกนัมจะปิดผิวหน้าทำให้การระบายอากาศไม่ดี รากเฟินนี้นำเข้าจากอินโดนีเซีย ดังนั้นจึงมีแนวทางการพัฒนาวัสดุปลูกอื่นๆ ขึ้นทดแทน ศาตราจารย์ไซแห่งที่มหาวิทยาลัยผิงตงได้มีงานวิจัยที่นำใยมะพร้าวมาใช้ทดแทนพบว่าได้ผลดี คือวัสดุปลูกนี้จะให้รากที่มากและมีสุขภาพดีแต่พบว่าการแตกกอไม่มากนัก เพราะหลังปลูกเป็นเวลา 2 ปี จะให้หน่อเพียง 5 หน่อ การแตกกอจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์ การดูแลรักษา และความสมบูรณ์ของต้น แต่ก็มีข้อดี คือ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนกระถางบ่อย

ขั้นตอนการปลูก

ก่อนปลูกให้แช่ใยมะพร้าวหรือรากเฟินก่อน 1 คืน ถอดกระถางออกเอาวัสดุปลูกเดิมออก ตัดแต่งเอารากเก่าออกให้เหลือเพียงรากใหม่ ตัดแบ่งด้วยกรรไกรตัดกิ่งที่ฉีดพ่นด้วยคลอร็อกซ์ ความเข้มข้น 1/50 ส่วน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสเอาต้นเก่าที่ไม่มีรากออก ต้นที่ตัดแต่งแล้วให้ผึ่งลมทิ้งไว้ 1-2 วัน ปลูกซิมบีเดียมโดยรองพื้นชั้นล่างกระถางด้วยกรวด ชั้นบนใส่วัสดุให้พอถึงโคนไม่ปลูกลึกเกินไปรดน้ำต้นที่ปลูกใหม่

การจัดการด้านความเข้มแสง

การปลูกซิมบีเดียมที่ไต้หวัน จะมีการพรางแสงด้วยตาข่ายพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์ ด้านล่างและ 70-80 เปอร์เซ็นต์สำหรับด้านบน เนิสร์เซอรี่ที่มีทุนทรัพย์มากจะใช้อลูมิเน็ตที่สามารถเคลื่อนที่ ปิด-เปิด ได้ตามเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้ ส่วนเนิร์สเซอรี่ที่มีทุนน้อยจะใช้วิธีชักรอก ควบคุมแสงเป็นจุดๆ หากแสงแดดไม่เพียงพอช่อดอกอาจฝ่อได้ ในขณะที่ได้รับแสงแดดจัดเกินไปอาจทำให้ใบไหม้ได้

การจัดการด้านอุณหถูมิ

อุณหภูมิเป็นปัจจัยหลักสำหรับการออกดอกของซิมบีเดียมแต่ละชนิด ซิมบีเดียมสามารถเจริญเติบโตได้ดีเมื่อได้รับอุณหภูมิกลางวัน 24-29 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิกลางคืนช่วงปลายฤดูร้อนถึงใบไม้ร่วงจะต้องอยู่ระหว่าง 10-15 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นให้ตาดอกพัฒนา อุณหภูมิในช่วงฤดูหนาวควรมีอุณหภูมิกลางวัน 18-24 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิกลางคืน 7-13 องศาเซลเซียส

สำหรับซิมบีเดียมกลุ่มดอกเล็กจะสามารถทนอุณหภูมิสูง และออกดอกได้ดีกว่าซิมบีเดียมในกลุ่มดอกใหญ่พื้นที่ที่มีอากาศเย็น และได้รับแสงแดดเพียงพอในฤดูหนาวจะเหมาะสมต่อการออกดอก (Chaung, 2001)

ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยสำหรับซิมบีเดียมที่ไต้หวันจะเน้นปุ๋ยอินทรีย์แพราะต้นทุนถูกกว่า ที่เนิร์สเซอรี่คุณจางจะใช้ปุ๋ยละลายช้า 2 สูตร คือ สูตร 3-3-3 เพื่อการเจริญทางด้านลำต้น และสูตร 3-6-12 เพื่อชักนำให้ออกดอก ทุก 3 เดือน ถ้าเป็นฤดูฝนจะให้มากขึ้น ปุ๋ยจะมีอายุการใช้งาน 120-180 วันแล้วแต่สูตรที่ระบุไว้ตามฉลาก บางเนิร์สเซอรี่จะใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมด้วย ซึ่งได้จากการหมักนมผง อาหารหมัก และผักผลไม้ แต่อย่างไรก็ตามควรระมัดระวังเรื่องความเข้มข้น เพราะหากใช้ความเข้มข้นสูงจะทำให้ขอบใบอาจไหม้ได้ ข้อเสียสำหรับปุ๋ยชีวภาพ คือ ไม้รู้สัดส่วนของธาตุอาหารที่แน่นอนเพราะจะขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้หมักแต่ละครั้ง บางครั้งอาจมีปัญหาเรื่องเป็นแหล่งของโรคมีไนโตรเจนหรือ EC สูงเกินไป

ปุ๋ยเกร็ดที่ให้จะเป็นปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้ใช้รดหรือฉีดพ่น ปกติจะให้สูตร 20-20-20 ให้ 1 ต่อ 800 ส่วน อัตรา 2 ครั้ง/สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้มีการเจริญของลำต้น ก่อนออกดอก 2 เดือนใช้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนของไนโตรเจนต่ำ เมื่อเริ่มออกดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แล้วจึงให้ไนโตรเจนเพิ่มขึ้น ที่ไต้หวันจะนิยมใช้ปุ๋ยสำหรับกล้วยไม้ 2 ยี่ห้อ คือ Peter และ Hyponex โดยที่จะมีราคาแตกต่างกัน ปุ๋ย Peter จะมีราคา 400-600 NT ในขณะที่ปุ๋ย Hyponex จะมีราคา 800 NT ต่อขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม เนื่องจากให้ธาตุอาหารรองและเสริมด้วย นอกจากนี้หากต้องการเพิ่มคุณภาพของต้นและดอกซิมบีเดียมด้วยควรให้อาหารเสริม ได้แก่ ปุ๋ยปลา chitosan หรือ aminogen ด้วยเพราะจะมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนและกรดนิวคลีอิก ซึ่งจะทำให้ต้นและใบสวยแข็งแรง ดอกสวย สดใส และก้านช่อดอกยาวขึ้น

การกระตุ้นให้ออกดอก

สำหรับการกระตุ้นให้ออกดอกได้ โดยก่อนดอกพัฒนาให้ลดไนโตรเจน 2 เดือน เมื่อซิมบีเดียมแทงช่อดอกแล้วให้เพิ่มไนโตรเจน 1 เดือน ถ้าต้องการให้ออกดอกนอกฤดูทำได้โดยการให้อุณหภูมิต่ำและวันสั้นต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เป็นเวลา 2-3 เดือน ที่สถาบันวิจัยการเกษตรแห่งไต้หวัน (Taiwan Agriculture Research Institute, TARI) มีการทดลองชักนำให้ซิมบีเดียมออกดอกได้โดยนำมาปลูกในห้องควบคุมอุณหภูมิ (growth chamber) ซึ่งให้อุณหภูมิกลางวัน 25 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง อุณหภูมิกลางคืน 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 8 ชั่วโมง ร่วมกับการให้แสงประมาณ 10,000 ลักซ์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง สามารถชักนำให้ออกดอกได้ การให้อุณภูมิจะเป็นเช่นนี้ไปจนกระทั่งช่อดอกยาวประมาณ 5 นิ้ว โดยที่พบว่าซิมบีเดียมดอกสีเหลืองจะตอบสนองได้ดีกว่าสีอื่น แต่เนื่องจากวิธีการปลูกในห้องควบคุมอุณหภูมินี้ต้องลงทุนสูงมากไม่เหมาะกับเกษตรกร ดังนั้นที่สถาบันฯ จึงแนะนำให้เกษตรกรชักนำให้ออกดอกบนพื้นที่สูงที่มีอุณหภูมิต่ำในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และนำมาปลูกเลี้ยงต่อในพื้นที่ต่ำในเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า เพื่อชักนำให้ช่อดอกพัฒนาขึ้นหลังจากเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป ซิมบีเดียมจะสามารถออกดอกได้พร้อมกันช่วงเวลาในการออกดอกที่ไต้หวันจะออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน หากออกดอกตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ซิมบีเดียมราคาแพง เพราะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่หลังจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป ราคาจะเริ่มถูกลง (Chaung, 2001)

โรคและศัตรูพืชที่สำคัญได้รายงานในไต้หวัน มีดังนี้

โรคต้นเน่าแห้งหรือราเมล็ดผักกาด (stem rot)

สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา Sclerotium rolfsii Sacc.

ลักษณะอาการ เชื้อจะเข้าทำลายบริเวณรากหรือโคนต้นแล้วลุกลามไปยังส่วนของโคนต้นขึ้นไป บริเวณที่ถูกทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและน้ำตาลตามลำดับ เนื้อเยื่อจะผุเปื่อย ถ้าอากาศชื้นมากๆ จะมีเส้ใยสีขาวแผ่ปกคลุมบริเวณโคนต้นพร้อมกับมีเม็ดกลมๆ ขนาดเล็กสีน้ำตาลคล้ายเม็ดผักกาดเกาะอยู่ตามโคนต้น บางครั้งจะแสดงอาการที่ใบทำให้ใบเน่าเป็นสีน้ำตาล เมื่ออากาศแห้งจะเหี่ยวและร่วงตายไปในที่สุด

การแพร่ระบาด ทำความเสียหายมากในฤดูฝน เชื้อราแพร่กระจายไปกับลมหรือน้ำ นอกจากนี้เม็ด Sclerotium ของเชื้อราสามารถทนทานต่อการเข้าทำลายของสารเคมี ทนต่อสภาพแวดล้อม และมีชีวิตอยู่ได้เป็นเวลานาน และยังเป็นสาเหตุของโรคพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้

การป้องกันกำจัด

1.หมั่นตรวจดูสวนเสมอ ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้ให้เก็บรวบรวมแล้วเผาทำลายเสีย มิเช่นนั้นจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

2.ราดด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น อีทริดโดอะโซล หรือคาร์บอกซิน อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

3.พบว่าการใช้สารดูดซึมในกลุ่มเบนโดมิล ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะกระตุ้นให้เกิดโรคนี้ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรผสมกับสารชนิดอื่น เช่น แมนโคเซบ จะให้ผลดีกว่า

โรคแอนแทรคโนสหรือใบไหม้ (Anthracnose)

สาเหตุเกิดจากเชื้อราCollectotrichum gloeosporioides

ลักษณะอาการ เกิดได้ทั้งที่ปลายใบและกลางใบ โดยจะมีแผลสีน้ำตาลเป็นวงเรียงซ้อนกันหลายๆ ชั้น และจะมีกลุ่มของเชื้อราเป็นสีดำเกิดขึ้นบนวงซ้อนกันนั้น

การแพร่ระบาด เชื้อราปลิวไปกับลม หรือฝน หรือน้ำที่ใช้รดแบบสายยาง หรือสปริงเกอร์

การป้องกันกำจัด

1.เก็บรวบรวมใบที่เป็นโรคแล้วเผาทำลายเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดต่อไป

2.พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น แมนโคเซบ แคปแทน คาร์เบนดาซิม โปรคลอราท อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สลับกับแมนโคเซบ อัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร หรือสารฟอสเฟต อัตรา 30-40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบโรคทุก 7-10 วัน

3.อย่าให้กล้วยไม้ได้รับแสงแดดจัดมากเกินไป จะทำให้เกิดอาการอ่อนแอแล้วเป็นโรคนี้ได้ง่าย

โรคไวรัส (Virus) 

สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสOdontoglossum Ring Spot Virus และ Cymbidium Mosaic Virus 

ลักษณะอาการ ที่มักพบบ่อยๆ มีดังนี้ 

1.ลักษณะใบด่าง ตามแนวยาวของใบโดยมีสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม 

2.ยอดบิด ช่วงข้อถี่จะสั้น การเจริญเติบโตน้อยลง แคระแกร็น 

3.ช่อดอกสั้น กลีบดอกบิด มีเนื้อหนาแข็งกระด้าง บางครั้งกลีบดอกจะมีสีซีดตรงโคน กลีบ หรือมีลักษณะดอกด่างซีด และดอกมีขนาดเล็กลง

การแพร่ระบาด เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายโดยติดไปกับเครื่องใช้ต่างๆ เช่น มีด กรรไกร ที่ใช้ตัดหน่อเพื่อขยายพันธุ์หรือใช้ตัดดอก และตัดแต่งต้น

การป้องกันกำจัด 

1.หมั่นตรวจกล้วยไม้ ถ้าพบอาการผิดปกติดังกล่าวให้แยกออกแล้วนำไปเผาทำลาย อย่านำต้นกล้วยไม้ที่แสดงอาการผิดปกติดังกล่าวไปขยายพันธุ์

2.การทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ทุกครั้งที่มีการตัดแยกหน่อหรือดอก จะช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยจุ่มในสารละลายไตรโซเดียม ฟอสเฟต เพื่อฆ่าเชื้อก่อน

3.ควรบำรุงต้นกล้วยไม้ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ และในการปั่นตาควรแน่ใจว่าต้นกล้วยไม้ปราศจากโรคจริงๆ เพราะการปั่นตาจะช่วยส่งเสริมให้เชื้อไวรัสแพร่ระบาดมากขึ้น

โรคโคนเน่าดำ (Foot Rot)

สาเหตุเกิดจากเชื้อราFusarium sp. เช่น F. solani, F. oxysporum และ                   F. moniliforme เป็นต้น

ลักษณะอาการ เชื้อราเข้าทางรากทำลายท่อน้ำท่ออาหาร หรือบริเวณตาหน่อตรงโคนต้น เมื่อผ่าลำต้นเนื้อเยื่อจะเป็นสีน้ำตาลค่อยๆ ลุกลามไปหายอดกล้วยไม้ เกิดอาการโคนเน่าเป็นไปอย่างช้าๆ ใบจะเหลือง และเหี่ยวในที่สุดต้นจะแห้งตาย ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรคนี้รุนแรงน้อยกว่าการทำลายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

การแพร่ระบาด เชื้อราไปกับน้ำที่ใช้รดโดยเฉพาะในฤดูฝนจะระบาดรุนแรง กับกล้วยไม้ที่เครื่องปลูกผุเปื่อยอุ้มน้ำ

การป้องกันกำจัด

1.เอาส่วนที่เป็นโรคพร้อมทั้งเครื่องปลูกบริเวณที่เกิดโรคเผาทำลาย

2.พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ควินโทซิน

3.กำจัดวัชพืช ตะไคร่น้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดโรคนี้ด้วยสารไดยูรอน อัตรา 4-5 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

โรคเน่าเละ (Soft Rot)

สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียErwinia chrysanthemi

ลักษณะอาการ จะพบอาการได้ทุกส่วนของกล้วยไม้ โดยอาการที่พบเริ่มแรกจะเป็นจุดฉ่ำน้ำก่อน ต่อมาอาการจะลุกลามเป็นแผลช้ำขนาดใหญ่สีน้ำตาล และยุบตัวลงเมื่อดมกลิ่นบริเวณที่เป็นโรคจะมีกลิ่นเหม็นเฉพาะตัว

การแพร่ระบาด โรคจะระบาดรุนแรงรวดเร็วในสภาพอากาศร้อนและความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูร้อนต่อฤดูฝน เชื้อแบคทีเรียสามารถติดไปกับน้ำฝน และเชื้อจะทำลายพืชทางช่องเปิดธรรมชาติและบาดแผลได้

การป้องกันกำจัด 

1.ตัดหรือแยกส่วนที่เป็นโรคไปเผาทำลาย

2.ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนัก ควรป้องกันการกระแทกของเม็ดฝนไม่ให้ใบช้ำ

3.ไม่ควรปลูกกล้วยไม้หนาแน่นเกินไป หรือให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงจนกล้วยไม้อวบง่ายต่อการเข้าทำลายของเชื้อ

4.ควรใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น แอกกริมัยซิน ซึ่งมีส่วนผสมของสเตรปโตมัยซินอยู่ หรือแอก-กริสเตรป อัตรา อัตรา 10-20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (นิยมรัฐ, 2545)

ศัตรูพืช 

หอยทาก 

ที่พบจะมี 2 ชนิด คือ หอยทากซัคซิเนีย (Succinea chrysis West) และหอยทากสาริกา (Sarika spp.)

ลักษณะการทำลาย หอยทากระบาดทำลายกล้วยไม้ในแปลงที่มีความชื้นสูง โดยเข้าทำลายตาหน่อ ตาดอก และช่อดอก นอกจากนี้เมือกที่หอยปล่อยไว้ตลอดแนวที่เดินผ่านเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อโรค หรือเชื้อราเข้าทำลายกล้วยไม้ได้อีกด้วย และที่สำคัญหากหอยติดไปกับกล้วยไม้ที่ส่งออกจะถูกเผาทำลาย และประสบปัญหาเช่นเดียวกับเพลี้ยไฟฝ้าย

การป้องกันกำจัด

1.เครื่องปลูก ควรอบหรือตากแห้งหรือชุบสารกำจัดหอยก่อนนำไปปลูก เพื่อป้องกันกำจัดไข่หอยหรือลูกหอยที่ติดมา

2.เมื่อเริ่มพบหอยทากให้วางเหยื่อพิษสำเร็จรูปเมทัลดีไฮด์ มีลักษณะเม็ด โดยวางเป็นจุดประมาณปลายช้อนชาตามโคนต้นกล้วยไม้ในแหล่งที่พบหอยทากภายหลังจากที่ให้น้ำกล้วยไม้แล้ว หรือเวลาเย็นในวันที่ฝนไม่ตก เพื่อให้เหยื่อพิษมีประสิทธิภาพอยู่ได้นานหลายวัน

3.กรณีที่หอยทากระบาดมากทั่วทั้งสวน ให้ใช้สารกำจัดหอยโดยเลือกชนิดใดชนิดหนึ่งดังต่อไปนี้ นิโคลซาไมด์ (เมซูโรล 50 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี) ในอัตรา 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร (เมททัลดีไฮด์ 80 เปอร์เซ็นต์ ดับบลิวพี) ในอัตรา 40 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ทั้งนี้ควรพ่นสารในเวลาเช้า ซึ่งในอากาศยังมีความชื้นหลงเหลืออยู่โดยพ่นน้ำเปล่าก่อนพ่นสารประมาณ 10 นาที เพื่อให้ความชื้นในอากาศสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชักนำให้หอยทากออกจากที่หลบซ่อน และสามารถสัมผัสสารฆ่าหอยได้เต็มที่ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพ่นสารบริเวณส่วนดอก โดยพ่นสารตรงลำต้นส่วนกลาง และเนื่องจากหอยทากมักหลบอาศัยในที่ร่มและชุ่มชื้น ดังนั้นควรพ่นสารบริเวณเครื่องปลูกรวมทั้งพื้นทางเดินระหว่างโต๊ะด้วย

เพลี้ยไฟ

เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของกล้วยไม้ แมลงชนิดนี้มีขนาดเล็กมากประมาณ 0.8-1.0 มิลลิเมตร สีเหลืองใส พบระบาดทำลายกล้วยไม้โดยดูดน้ำเลี้ยงจากเนื้อเยื่อกลีบดอกกล้วยไม้ ทำให้เกิดรอยด่างกระจายทั่วกลีบ เพลี้ยไฟชนิดนี้มีวงจรชีวิตจากไข่ 14 วัน เพลี้ยไฟที่พบทำลายกล้วยไม้มีชนิดเดียว คือเพลี้ยไฟฝ้าย (Cotton thrips)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Thrips palmi Kamy

ลักษณะการทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายดอกกล้วยไม้ โดยใช้ปากที่มีลักษณะเป็นแท่ง (stylet) เขี่ยเนื้อเยื่อพืชให้ช้ำแล้วจึงดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืช ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเกิดรอยด่างขาว และหากติดไปกับช่อดอกแล้วอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการส่งออก เพลี้ยไฟฝ้ายทำลายกล้วยไม้ได้เกือบตลอดปี แต่พบน้อยในช่วงฤดูฝน ส่วนการระบาดมักพบเสมอในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่มีอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน มีพืชอาหารหลายชนิดทั้งพืชผัก ไม้ผล พืชไร่ และไม้ดอกที่มีความสำคัญหลายชนิด

การป้องกันกำจัด

1. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาหารในบริเวณแปลงกล้วยไม้ เพราะจะเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของเพลี้ยไฟได้ ในกรณีที่มีพืชดังกล่าวอยู่ให้ทำการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟบนพืชอาหารเหล่านี้ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเพลี้ยไฟ

2. ใช้สารฆ่าแมลงแบ่งเป็นกลุ่มๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1

- อิมิโคลพริด (คอนฟิดอร์ 100 เอสแอล) อัตรา 10-20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร ใช้ป้องกันอัตรา 10 มิลลิลิตร ถ้ากำจัดใช้ไม่ได้ผล ค่อยเพิ่มตัวยา

- อะเซทามิพริด (โมเเลน 20 เปอร์เซ็นต์ เอสพี) อัตรา 10-20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

กลุ่มที่ 2

- อะบาเม็กติน (แจคเก็ต เวอร์ทิเม็ค 1.8 เปอร์เซ็นต์ อีซี) อัตรา 10-20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

กลุ่มที่ 3 

- ฟิโปรนิล (แอสเซ็นด์ 5 เปอร์เซ็นต์ เอสซี) อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

กลุ่มที่ 4 

- ไซเพอร์เมทริน/โฟซาโลน (พาร์ซอน 28.75 เปอร์เซ็นต์ อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร

เพื่อป้องกันการสร้างความต้านทานสารฆ่าแมลงในเพลี้ยไฟ ควรพ่นสารแต่ละกลุ่มด้วยอัตรา 200 ลิตร/ไร่ สลับกันไป แต่ไม่ควรพ่นติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง โดยใช้ช่วงพ่น 5-7 วัน ในฤดูร้อน หรือ 7-10 วัน ในฤดูฝน และควรพ่นให้ทั่วเป็นละอองฝอยโดยเฉพาะบริเวณส่วนดอกที่บานใหม่ๆ (ปิยรัตน์, 2546)

นอกจากนี้ที่ไต้หวันยังใช้กับดักกาวเหนียวติดกับสติกเกอร์สีหลือง และสีฟ้าสลับกัน สีเหลืองดักจับแมลงทั่วไป สีฟ้าใช้ดักจับเพลี้ยไฟได้ดี นอกจากนี้การพ่นสารเคมีในโรงเรือนที่เป็นระบบปิดโดยคลุมพลาสติกรอบทิศในลักษณะคล้ายการรมยายังมีผลทำให้ควบคุมศัตรูพืชได้ดีอีกด้วย

โดยปกติไม่ค่อยพบศัตรูพืชมากเท่าไร ศัตรูพืชที่พบบ่อย ได้แก่ หอยทาก และเพลี้ยไฟ ส่วนโรคที่พบมักพบโรคเน่าเละเท่านั้น 

การให้น้ำ

จะมีการให้น้ำ 2 ระบบ คือ ให้โดยใช้ระบบสปริงเกอร์ และให้ด้วยมือโดยใช้สายยางรดสำหรับบางเนิร์สเซอรี่ที่อยู่ในพื้นที่ต่ำที่มีอากาศร้อนจำเป็นต้องเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในบรรยากาศด้วยสปริงเกอร์ และปูพื้นด้วยหินโม่หรือทรายเพื่อช่วยรักษาความชื้น เนื่องจากค่าจ้างแรงงานในไต้หวันสูงมาก เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้แรงงานที่อยู่ในครัวเรือน ดังนั้นการวางระบบน้ำแบบสปริงเกอร์จะช่วยได้อย่างมาก การให้น้ำปกติวันละ 1 ครั้ง ในฤดูร้อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้ง/วัน

โดยส่วนใหญ่ช่วงที่มีการเจริญเติบโตด้านลำต้นในช่วงฤดูฝน ซิมบีเดียมจะต้องการน้ำมากจนกระทั่งถึงฤดูร้อน ควรให้น้ำมากในต้นฤดูฝนและค่อยๆ ลดลงเมื่อถึงปลายฤดูร้อน ซึ่งลำลูกกล้วยโตเต็มที่พอดี

การเปลี่ยนกระถาง

การเปลี่ยนกระถางจะกระทำช่วงฤดูฝนหลังการออกดอก หรือเมื่อวัสดุปลูกเดิมยุบตัว การเปลี่ยนกระถางควรแยกให้ต้นใหม่มีลำลูกกล้วย 2-3 ลำ ที่มีใบและรากที่ยังสดอยู่ ซึ่งจะออกดอกในอีก 2 ปีถัดมา โดยที่มีดผ่าหรืออุปกรณ์สำหรับแบ่งหรือแยกควรผ่านการฆ่าเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส สำหรับต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะปลูกลงกระถางขนาด 1.5 นิ้ว เป็นเวลา 8 เดือน และย้ายปลูกในกระถางขนาด 2.5 นิ้ว เป็นเวลา 8 เดือน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นกระถางที่มีขนาดใหญ่ขึ้น 3 และ 6 นิ้ว ทุกๆ 8 เดือน ต้นกล้าจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะใช้เวลาปลูกเลี้ยงจนกระทั่งออกดอกใช้เวลา 3-4 ปี วัสดุปลูกที่ใช้ในไต้หวันจะมีหลายแบบ เช่น เปลือกไม้ หินโม่ รากเฟิน กากมะพร้าวสับ และเพอร์ไรท์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ปุ๋ยหมักจากเศษซากพืชและปุ๋ยเคมีเพิ่มด้วย (Chaung, 2001)

การดัดช่อดอก

โดยส่วนใหญ่จะใช้กับพันธุ์ยุโรปเท่านั้นเพราะดอกมีน้ำหนักมากและมีหลายดอกต่อช่อ ในขณะที่พันธุ์พื้นเมืองมีจำนวนดอกน้อยแต่มีเสน่ห์ที่ความหอมของดอกและรูปทรงของใบ ชาวไต้หวันจะนิยมซื้อซิมบีเดียมเป็นของขวัญให้กับผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อแสดงความเคารพต่อบุคคลที่ตนเองนับถือ โดยที่ซิมบีเดียมทั้งสองประเภทจะมีการใช้กระถางที่ต่างกันออกไป กล่าวคือประเภทพันธุ์ยุโรป จะนิยมปลูกในกระถางเซรามิกเคลือบขนาดใหญ่ ทรงโป่งตรงกลาง ส่วนพันธุ์พื้นเมืองจะนิยมใช้กระถางเคลือบทรงสูง การจัดตกแต่งมีตั้งแต่บุหน้าด้วย สแฟกนัมมอส หรือโรยด้วยหินเกล็ดสีขาว การดัดช่อดอก หรือตัดตกแต่งก่อนจำหน่าย ขึ้นอยู่กับขนาดตามความต้องการของตลาด การจำหน่ายซิมบีเดียมจะมีทั้งตลาดภายในท้องถิ่น และตลาดต่างประเทศ ตลาดท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ เทียนเว่ย ส่วนตลาดต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น และภาคกลางของประเทศจีน

การส่งซิมบีเดียมไปจำหน่ายมีหลายขนาด หากเป็นต้นขนาดเล็กอายุ 1.5-2 ปี จะมีลำลูกกล้วยประมาณ 3 ลำ ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่พร้อมออกดอก

สำหรับซิมบีเดียมที่ล้างรากส่งออก จะเอาต้นซิมบีเดียมที่สมบูรณ์และไม่มีดอกหรือมีดอกให้ตัดดอกออกเอาวัสดุปลูกเดิมออก แล้วนำไปผึ่งในที่อากาศแห้งก่อนบรรจุหีบห่อส่งไปยังประเทศปลายทาง เมื่อถึงประเทศปลายทางจะทำการใส่วัสดุปลูกใหม่และบำรุงต้นอีกครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน ต้นจึงดูดีและออกดอก และสามารถจัดจำหน่ายได้ หลังจากสลัดวัสดุปลูกเก่าออกจะนำมาล้างในน้ำสะอาด และจุ่มในสารละลายป้องกันกำจัดศัตรูพืช

การขนส่งไปยังประเทศปลายทางหากเดินทางโดยเครื่องบินจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน แต่หากเป็นเรือจะใช้เวลา 7-10 วัน เมื่อซิมบีเดียมไปถึงเนิร์สเซอรี่ปลายทาง จะนำไปบำรุงอีกครั้งใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือน จึงออกดอก และสามารถจำหน่ายได้ 

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.