องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

อัลสโตรมีเรีย

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

อัลสโตรมีเรีย (Alstroemeria pelegrina) มีชื่อสามัญว่า Peruvian lily หรือ Inca lily จัดอยู่ใน Family Alstroemeriaceae เป็นไม้ดอกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และจัดอยู่ใน 1 ใน 15 ชนิดของตลาดประมูลในเนเธอร์แลนด์ที่มียอดการจัดจำหน่ายสูงที่สุด ทั้งนี้สายพันธุ์อัลสโตรมีเรียทั้งหมดที่มีในปัจจุบันได้ถูกนำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์และอังกฤษ ทั้งสายพันธุ์ตัดดอกและสายพันธุ์ไม้กระถางมากกว่า 40 สายพันธุ์ โดยทั้งหมดได้มีการศึกษาและวิจัยถึงเทคนิคและวิธีการปลูกเลี้ยง รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการผลิตในเชิงการค้าที่สถานีวิจัยโครงการหลวงอินทนนท์ ซึ่งพบว่าอัลสโตรมีเรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ พืชสามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมบนที่สูงตั้งแต่ที่ระดับ 1,000 หรือ 1,200 เมตร ขึ้นไปได้เป็นอย่างดี และคุณภาพของดอกอัลสโตรมีเรียที่ผลิตได้ มีมาตรฐานของคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลาซึ่งลักษณะที่โดดเด่นของไม้ตัดดอกชนิดนี้คือ นอกจากจะมีความสวยงามแล้ว ดอกย่อยยังสามารถทยอยบานได้เกือบหมดทั้งช่อแล้ว ค่าตอบแทนของผลผลิตก็สูงจึงน่าจะเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่ควรจะได้รับการผลักดันให้มีการผลิตในระดับการค้าต่อไป

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

อัลสโตรมีเรียเป็นพืชที่สามารถชักนำให้เกิดตาดอกได้ในสภาพที่อุณหภูมิของวัสดุปลูกเย็นอย่างสม่ำเสมอ จะออกดอกก็ต่อเมื่อได้รับความเย็นมากระตุ้นระยะหนึ่ง ฉะนั้นพื้นที่ที่จะปลูกอัลสโตรมีเรียได้ดี จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีอากาศเย็นในฤดูหนาวคือ มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไป เพื่อที่การออกดอกจะมีความสมบูรณ์ เนื่องจากพืชชนิดนี้มีส่วนใต้ดินที่มีความโปร่งและร่วนซุย มีส่วนประกอบของอินทรีย์วัตถุสูง สามารถระบายน้ำระบายอากาศได้เป็นอย่างดี

การตลาด

คุณลักษณะของดอกอัลสโตรมีเรีย เมื่อนำไปใช้งานจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน กล่าวคือดอกย่อยที่ตูมก็สามารถที่จะพัฒนาไปเป็นดอกบานที่สมบูรณ์ได้ โดยเฉลี่ยดอกหนึ่งช่อจะมีดอกบาน 5 - 6 ดอก และดอกย่อยอีก 5 - 6 ดอก ดังนั้นในการเลือกใช้อัลสโตรมีเรียหนึ่งช่อ จะสามารถนำไปใช้ร่วมกับดอกไม้ชนิดต่างๆ ได้เป็นอย่างดีในแบบที่แปลกและแตกต่างจากดอกไม้ทั่วๆไป

การขยายพันธุ์

วิธีการขยายพันธุ์ : อัลสโตรมีเรีย สามารถขยายพันธุ์ได้ทั้งการชำ แบ่งกอและโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ อัลสโตรมีเรียที่ปลูกไปแล้ว 1 ปี จะมีการแตกกอเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นเบียดกันมากมีผลทำให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นจึงนิยมปลูกใหม่ทุกปี การแยกหน่อทำได้โดยตัดส่วนของลำต้นให้เหลือ 30 เซนติเมตร ขุดเหง้าทั้งหมดขึ้นมาจากดิน เขย่าดินหรือวัสดุปลูกที่ติดมากับต้นออก จากนั้นใช้มีดแบ่งกอให้มีส่วนของต้นเดิม 2-3 ต้น นำไปปลูกเลี้ยงในกระถางหรือถุงพลาสติกและอนุบาลไว้สักระยะหนึ่ง รอให้หน่อใหม่แตกแล้วจึงทำการย้ายปลูก

การอนุบาล : ภายหลังการแยกต้นออกจากเหง้า นำต้นกล้าที่แยกใส่ถุงเล็กๆ ทั้งหมด ต้องทำการอนุบาลโดยการเลี้ยงไว้ในบริเวณแปลง หรือในโรงเรือนหลังคาพลาสติกที่พรางแสงด้วยตาข่ายขนาด 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิและช่วยลดการคายน้ำของพืช เพื่อไม่ให้ต้นกล้าได้รับความเสียหายจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม และโรคแมลงรบกวน จนกว่าต้นกล้าจะมีความพร้อมที่จะนำไปปลูกในแปลงเพื่อตัดดอก

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ : ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขยายพันธุ์ ดำเนินการหลังจากอัลสโตรมีเรียเริ่มเก็บเกี่ยวในรุ่นที่สองหรือช่วงประมาณเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน เพราะช่วงนี้กอจะเริ่มเบียดกันแน่นหน่อข้างที่แตกออกก็จะเจริญเติบโตมีขนาดที่เหมาะจะแยกกอ เพื่อให้ต้นเจริญเติบโตอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะย้ายลงปลูกในกระถางต่อไป

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีการปลูก

การเตรียมแปลง : การเลือกพื้นที่แปลงปลูกและการเตรียมวัสดุปลูกให้มีความเหมาะสม ตั้งแต่เริ่มต้นจะเป็นขั้นตอนของความสำเร็จในการปลูกพืช วัสดุปลูกควรประกอบด้วยวัสดุที่มีอินทรีย์วัตถุสูงตั้งแต่ 5 - 15 เปอร์เซ็นต์ ถ้าบริเวณปลูกเดิมเป็นดินเหนียวต้องเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้มากขึ้น เช่น ทราย แกลบดิบ อาจใช้ปุ๋ยคอกที่สลายตัวได้ดีแล้วได้บ้าง

การเตียมดิน : ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกอัลสโตรมีเรีย ควรเป็นดินที่มีอินทรีย์วัตถุ มีความอุดมสมบูรณ์และในกรณีที่ดินขาดความสมบูรณ์ควรเติมด้วยวัสดุบำรุงดินเช่น แกลบดิบ ขุยมะพร้าว หรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และควรหว่านด้วยปูนไดโลไมท์สำหรับปรับสภาพของดิน การขุดพลิกดินและการตากดินและการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมจุลินทรีย์ในดิน จะช่วยลดการเข้าทำลายเชื้อราที่ทำให้พืชแสดงอาการเหี่ยวได้อีกทางหนึ่ง ควรตรวจสอบ pH ของดิน และปรับให้ได้ค่า pH ประมาณ 5.5 – 6.0 ความสามารถในการระบายน้ำที่ดีของวัสดุปลูกและพื้นที่ปลูก มีความสำคัญต่อการปลูกไม้ดอกทุกชนิด ถ้าหากบริเวณที่ใช้ปลูกมีการระบายน้ำไม่ดีต้องฝังท่อระบายน้ำใต้แปลงปลูกด้วย

เทคนิคการปลูก : หลังจากการเตรียมแปลงแล้ว ใช้ท่อเหล็กขนาด 1 นิ้ว เดินท่อน้ำเย็นใต้แปลงปลูกเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของดิน โดยการวางท่อให้ขนานกันใต้แปลงปลูก โดยระยะห่างของท่อประมาณ 50 เซนติเมตร ใช้ท่อด้านซ้ายเป็นท่อให้น้ำวิ่งไหลเข้าไปใต้แปลง และท่ออีกเส้นหนึ่งสำหรับวนน้ำออกมาทิ้ง สำหรับระยะการปลูกที่เหมาะสมจะใช้ระยะ 50x50 เซนติเมตร โดยปลูก 2 แถวบนแปลงปลูกที่วัดไว้ กว้าง 1 เมตร โดยที่อาจจะไม่ต้องยกแปลงถ้าพื้นมีการระบายน้ำดี ทางเดินระหว่างแปลงปลูกควรเป็น 60 เซนติเมตร การปลูกต้นลงแปลงต้องไม่ปลูกลึกเพราะจะทำให้เน่าง่าย หลังการปลูกควรจะคลุมแปลงด้วยกาบมะพร้าวสับขนาด 1x1 นิ้ว หรือเปลือกแกลบดิบ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิดินให้คงที่และสม่ำเสมอที่สุด เพราะอุณหภูมิวัสดุปลูกที่เย็นจะช่วยชักนำให้ต้นสร้างตาดอกอย่างต่อเนื่อง

การพยุงลำต้น : เนื่องจากอัลสโตรมีเรีย สามารถเจริญด้านความสูงได้ถึง 2 เมตร ดังนั้นจึงจำเป็นต้องช่วยพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม โดยใช้ตาข่ายที่ถักด้วยเชือกไนล่อนขนาด 0.4 มิลลิเมตร โดยขนาดของช่องตาข่าย 12.5x12.5 เซนติเมตร สำหรับชั้นล่าง 2 ชั้น และ 15x15 เซนติเมตร หรือ 20x20 เซนติเมตร สำหรับ 3 ชั้นบนสุด ซึ่งถ้าหากความสูงของต้นหรือความยาวก้านช่อมากกว่า 1 เมตร ก็สามารถเพิ่มจำนวนชั้นตาข่ายให้ถี่ขึ้นอีก เพื่อช่วยประคองก้านช่อดอกมิให้โค้งงอ

การดูแลรักษา

การจัดการด้านความเข้มแสง : การปลูกควรจัดเตรียมตาข่ายพรางแสงแบบปิด-เปิดได้อย่างสะดวก พืชชนิดนี้ต้องการแสงช่วงเวลา 8.00 - 10.00 น. และ 15.00 - 17.00 น.เต็มที่ จากนั้นต้องเลื่อนตาข่ายพรางแสงปิด เนื่องจากแสงแดดที่จัดและอุณหภูมิที่สูง จะทำให้ก้านช่อดอกงอพับและโค้งงอ ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ขนาดของตาข่ายพรางแสงที่แนะนำควรเป็นตาข่ายที่แสงสามารถส่องผ่านได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงวันสั้นควรติดตั้งระบบวันยาวเพื่อช่วยเพิ่มแสงประมาณวันละ 2 ชั่วโมง ที่ทำให้ความเข้มแสงประมาณ 40 ลักซ์ ซึ่งจะเป็นการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการออกดอกที่สมบูณ์และมีคุณภาพดี ซึ่งผลของการพรางแสงจะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ด้วย

การจัดการด้านอุณหภูมิ : อุณหภูมิเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการผลิตอัลสโตรมีเรีย และกล่าวได้ว่าเป็นพืชที่ต้องการอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับวัสดุปลูกควรอยู่ระหว่าง 16 - 20 องศาเซลเซียส และต้องอยู่อย่างนั้นเป็นเวลา 2 - 3 อาทิตย์ เพื่อให้รากมีการเจริญ สำหรับอุณหภูมิภายในโรงเรือนโดยเฉลี่ยตลอดฤดูปลูกที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 26 - 27 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นอุณหภูมิควรจะค่อยๆลดลงเป็น 21 - 25 องศาเซลเซียส ขึ้นกับความเหมาะสมของพันธุ์ดังนั้นในการปลูกช่วงฤดูแล้งต้องควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับที่ความร้อนจะไม่เป็นอันตรายต่อใบ อุณหภูมิที่สูงทำให้ต้นแตกหน่อมาก แต่ไม่เป็นผลดีต่อการเกิดดอกและมักจะให้ยอดที่ไม่มีดอก

การให้ปุ๋ย : การให้ปุ๋ยที่ถูกต้องสำหรับอัลสโตรมีเรีย คือ การให้ปุ๋ยน้ำซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ง่าย การให้ปุ๋ยพร้อมกับน้ำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ใช้ปุ๋ยสูตร CMU/RPF (ไม้หัว) ที่มีความเข้มข้นของธาตุอาหาร ดังนี้ ไนโตรเจน 100 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) โพเทสเซียม 100 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ฟอสฟอรัส 50 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) และผสมธาตุอาหารรอง เช่น เฟตติลอน คอมบี หรือยูนิเลทด้วยเพื่อป้องกันการขาดของธาตุอาหาร

การให้น้ำ : อัลสโตรมีเรีย เป็นพืชที่ต้องการความชื้นอย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ แต่ต้องไม่ชื้นจนทำให้อากาศในดินเสียไป วิธีปัจจุบันจะให้น้ำพร้อมกับปุ๋ย แต่ในช่วงที่ความชื้นสูงๆ การให้น้ำอาจจะต้องสังเกตความชื้นของวัสดุปลูกว่าพืชต้องการน้ำเมื่อไร เพราะการที่วัสดุชื้นมากเกินไปอาจเป็นสาเหตุการเข้าทำลายของเชื้อโรค

โรคและศัตรูของพืช

โรคที่มักจะเกิดกับอัลสโตรมีเรีย ได้แก่ โรครา โรคโคนเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อ Rhizoctonia sp.และโรคเหี่ยว ซึ่งเกิดจากเชื้อ Fusalium sp. ควรเลือกใช้ไตรโครเดอร์ม่าคลุกดินในระหว่างการเตรียมแปลง จะช่วยลดการเข้าทำลายของเชื้อได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากระบาดเป็นวงกว้างจะสร้างความเสียหายให้กับแปลงปลูก สำหรับแมลงศัตรูพืชที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ หนอนม้วนใบ แมลงหวี่ขาว และเพลี้ยอ่อน ที่จะทำให้ต้นมีการเจริญเติบโตที่ช้าลงและยังเป็นทางกระจายโรคไวรัส จะทำให้มีรอยด่าง ซึ่งถ้าพืชพบลักษณะอาการดังกล่าวจะทำให้มีการเจิญเติบโตที่ช้าลง แมลงที่พบว่ามักเข้าไปทำลายอัลสโตรมีเลีย ได้แก่ เพลี้ยไฟ มักเข้าทำลายในระยะที่มีช่อดอก เข้าทำลายกลีบดอกทำให้เหี่ยว กลีบมีสีน้ำตาล เพลี้ยไฟมักจะระบาดในช่วงที่อากาศร้อน สารเคมีที่ใช้สำหรับกำจัดเพลี้ยไฟ ได้แก่ คอนฟิดอร์ พอสล์ ควรป้องกันการระบาดของเพลี้ยไฟ โดยการควบคุมตั้งแต่ระยะแทงช่อดอก

การเก็บเกี่ยว

ระยะเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมของอัสลโตรมีเรีย : โดยช่อดอกเริ่มมีดอกบานบนช่อจำนวน 3-5 ดอก 

วิธีการเก็บเกี่ยว : ควรใช้มีดหรือกรรไกรที่มีความคมและสะอาดตัดช่อดอก เพื่อไม่ให้เกิดรอยแผลหรือการกระตุกก้านช่อดอกให้หลุดออกจากกอ หลังจากการตัดช่อดอกและควรแช่น้ำสะอาดทันที

 

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

เพื่อให้คุณภาพดอกมีคุณภาพดี หลังการเก็บเกี่ยวทำการคัดแยกเกรดการใช้สารเคมี เพื่อยืดอายุการใช้งาน จะทำให้คุณภาพของดอกเมื่อถึงมือลูกค้าหรือผู้ใช้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยแช่ในสารละลาย 8 HQS ความเข้มข้น 150 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ผสมกับน้ำตาลซูโคสความเข้มข้น 5 เปอร์เซ็นต์ (50 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร) แช่ไว้เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในห้องที่มีอุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส จะทำให้คุณภาพของดียิ่งขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.