องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ส้มป่อย

ชื่อวิทยาศาสตร์  Acacia concinna (Willd.) DC.

วงศ์    LEGUMINOSAE-MINOSOIDEAE

ภาคเหนือ ส้มป่อย ส้มขอน ภาคกลาง ส้มป่อย ภาคอีสาน ส้มป่อย ภาคใต้ -

ส้มป่อยเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย ลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นปกคลุม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน โคนใบและปลายใบมน ขอบใบและแผ่นใบเรียบ มีหูใบรูปหัวใจ ดอกเล็กสีขาวนวลเป็นช่อกระจุกแน่นทรงกลมบนแกนช่อดอก ผลเป็นฝักแบนยาว ปลายฝักแหลม สันฝักหนา มีหลายเมล็ด

สภาพนิเวศ : ขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และที่ราบเชิงเขา

การขยายพันธุ์ :  เพาะเมล็ดและปักชำกิ่ง

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวกลมกล่อม นิยมนำมาแกงกับปลา หมู หรือเนื้อ ผลแห้งใช้ในพิธีมงคล และขับไล่สิ่งชั่วร้าย ในอดีตชาวปางมะโอเชื่อว่าหากเผาผลส้มป่อยแล้วจะช่วยป้องกันลมพายุ

แหล่งที่พบ : พบปลูกในสวนหลังบ้าน และออกตามธรรมชาติในป่าและสวนเมี่ยง

สาระน่ารู้ : ผลของส้มป่อยมีสารกลุ่ม Saponins สูงถึง 20% นำมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง ใช้สระผมแก้รังแค ในภาคเหนือนิยมนำฝักส้มป่อยผสมกับขมิ้น ดอกคำฝอย ดอกสารภี แช่ในน้ำ เรียกว่า “น้ำขมิ้นส้มป่อย” ใช้สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ในประเพณีสงกรานต์ เป็นการแสดงความเคารพบูชา และขอขมาลาโทษ นอกจากนี้ฝักและใบมีรสเปรี้ยว นำมาต้มหรือบดรับประทานเป็นยาระบาย รากมีรสขม แก้ไข้ได้