องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บ่าห่อย(มะระขี้นก)

ชื่อสามัญ   Balsam pear, Bitter cucumber, Leprosy gourd 

ชื่อวิทยาศาสตร์  Momordica charantia L.

วงศ์   CUCURBITACEAE

ภาคเหนือ บ่าห่อย มะนอย มะไห่ ภาคกลาง มะระขี้นก มะร้อยรู ภาคอีสาน ผักไซ หมากระ ภาคใต้ ผักไซ ผักเหย

บ่าห่อยเป็นพืชเถาเลื้อย ลำต้นเลื้อยหรือพันตามต้นไม้ มีมือเกาะตามซอกก้านใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ขอบใบเว้าลึก 5 - 7 แฉก มีขนอ่อนปกคลุม ดอกเป็นช่อออกตามซอกใบและปลายยอด สีเหลืองอมส้ม ผลทรงรี ผิวขรุขระเป็นปุ่มปม รสขม ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีส้ม เมล็ดแบน มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสด

สภาพนิเวศ : ชอบขึ้นบริเวณที่มีดินร่วน ระบายน้ำดี มีอินทรียวัตถุสูง แสงแดดจัด

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ :  ยอดอ่อนและผลอ่อน มีรสขมเย็น นำมาลวกหรือนึ่งกินกับน้ำพริก เช่น น้ำพริกกะปิ น้ำพริกน้ำปู๋ น้ำพริกหนุ่ม หรือกินกับยำเทา เป็นส่วนประกอบในแกงแค ผลอ่อนนำมาผัดกับไข่ หรือใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น ส่วนรากนำมาต้มน้ำดื่มแก้โรคภูมิแพ้

แหล่งที่พบ : พบทั่วไปในสวนครัว รั้วรอบบ้าน ป่าเมี่ยงและป่ารอบชุมชน

เกร็ดน่ารู้ : บ่าห่อยเป็นสมุนไพรพื้นบ้าน มีสาร Monocidine สูง จึงมีรสขม ช่วยให้เจริญอาหาร ขับพยาธิ เป็นยาระบายอ่อน ๆ ลดน้ำตาลในเลือด และช่วยบรรเทาโรคเบาหวาน