องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

บ่ากิ๊ง

ชื่อวิทยาศาสตร์  Hodgsonia heteroclita (Roxb.) Hook. f. & Thomson

วงศ์   CUCURBITACEAE

ภาคเหนือ  บ่ากิ๊ง มะกลิ้ง   ภาคกลาง  มะกิ้ง มันเครือ   ภาคอีสาน  -    ภาคใต้  แตงขี้ไก่

บ่ากิ๊งเป็นไม้เถาเลื้อยยาวประมาณ 30 เมตรเกาะกับต้นไม้ขนาดใหญ่ ใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ มี 3-5 แฉก ขอบใบเรียบ หรือจักฟันเลื่อยห่าง แผ่นใบเกลี้ยง มีต่อมขนาดเล็กประปราย ก้านใบยาว 4-8 เซนติเมตร ที่โคนมีเกล็ดประดับคล้ายหนามสีดำ ยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร มือจับแยกเป็น 2-3 แฉก ดอกแยกเพศต่างต้น สีขาวครีม ออกตามซอกใบ ช่อดอกเพศผู้ยาว 15-35 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 10-20 ดอก ก้านดอกยาว 0.2-0.6 เซนติเมตร มีใบประดับติดห่างจากโคนประมาณ 0.5 เซนติเมตร ฐานรองดอกเป็นหลอด ยาว 7-12 เซนติเมตร ปลายบานออกคล้ายถ้วย ยาว 1-2 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมีขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.4 เซนติเมตร กลีบดอกยาว 3-5 เซนติเมตร สีเหลืองซีดด้านอก ชายครุยยาวได้ประมาณ 15 ซม. ห้อยลง บิดวน มีขน เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดใกล้ปากหลอด อับเรณูชิดกันเป็นทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 0.5-1 เซนติเมตร บางส่วนยื่นเลยหลอดกลีบ จานฐานดอกรูปแถบยาว 3-5 เซนติเมตร ติดกับหลอดกลีบประมาณกึ่งหนึ่ง ดอกเพศเมียออกเดี่ยวๆ ดอกคล้ายดอกเพศผู้ ก้านดอกยาว 2-3 เซนติเมตร ฐานรองดอกยาว 5-6 เซนติเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 5เซนติเมตร ยอดเกสรเพศเมียยาว 0.7-1 เซนติเมตร แยกเป็น 2 แฉก รังไข่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร มีตุ่มสีดำประปราย ออวุลมี 10-15 เม็ด ผลกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 15-20 เซนติเมตร ผิวเกลี้ยง สีเขียวอมน้ำตาลหรือสีเขียวอ่อนด้าน ก้านผลยาว 2-3 เซนติเมตร ผลกลมขนาดใหญ่ คล้ายฟักเขียว ผิวเกลี้ยง สีเขียวอมน้ำตาลหรือสีเขียวอ่อน ภายในมีเมล็ดขนาดใหญ่เรียงตัวเป็นวงกลม 6 เมล็ด

สภาพนิเวศ :  ชอบขึ้นในป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ระดับความสูง 800-1,000 เมตร เลื้อยพันอยู่กับต้นไม้ใหญ่ตามริมห้วย หรือบริเวณที่มีความชุ่มชื้น

การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

สถานภาพในชุมชนปางมะโอ

การใช้ประโยชน์ : ผลใช้เป็นอาหาร แกะเปลือกแข็งของเมล็ดแล้วขูดเอาเยื่อหุ้มสีขาวออก จากนั้นนำไปย่างไฟให้สุก มีรสหวานมัน เมล็ดให้น้ำมัน 50-60 % สีเหลืองฟางใช้ประกอบอาหารได้ ในประเทศจีนใช้เป็นสมุนไพร กินเป็นของว่าง หรือตำเป็นน้ำพริกบ่ากิ๊ง มีรสหวานมัน กลิ่นหอม ส่วนรากนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยลดไข้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ฤดูกาลใช้ประโยชน์ : ตุลาคม-ธันวาคม

แหล่งที่พบ : พบขึ้นตามต้นไม้ใหญ่ริมห้วย จัดเป็นพืชใกล้สูญพันธุ์จากชุมชน

เกร็ดน่ารู้ : พืชสกุลนี้มีสมาชิกเพียง 2 ชนิดทั่วโลก มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่ ภูฎาน สิขิม อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ภูมิภาคอินโดจีน บอร์เนียว และชวา ในไทยพบทั้งสองชนิดคือ มะกลิ้ง (บ่ากิ๊ง) H. heteroclita และน้ำเต้าผี H. macrocarpa (สารานุกรมพืชในประเทศไทย, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) จากการวิเคราะห์พบว่า ในเมล็ดของมะกลิ้งมีน้ำมันถึง 50-60%