องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

พีช

ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus persica

ลักษณะทั่วไป พีชเป็นไม้ผลเขตหนาวประเภทรับประทานผลสด ลักษณะโดยทั่วไปเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีอายุยาวนานหลายปี จะผลิใบปลายฤดูหนาว และออกดอกสีชมพู สวยงามมาก ในช่วงเดือนธันวาคม ถึงมกราคม พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้า คือพันธุ์ EarliGrande

รายละเอียดมาตรฐานคุณภาพ พีชแบ่งออกได้เป็น 3 เกรด ได้แก่

เกรดพิเศษ ผลต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ปราศจากโรค และแมลง มีน้ำหนักประมาณ 166 กรัมต่อผล

เกรด 1 ผลต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ปราศจากโรค และแมลง มีน้ำหนักประมาณ 125-165 กรัมต่อผล

เกรด 2 ผลต้องมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ไม่มีตำหนิ ปราศจากโรค และแมลง มีน้ำหนักประมาณ 100-120 กรัมต่อผล

ช่วงการส่งผลผลิตออกสู่ตลาด   :   เดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม

การปลูกและการบำรุงรักษา

ระบบการปลูกและการปลูก

การปลูกพีชต้องมีการเตรียมพื้นที่ที่ดี พื้นที่ที่ปลูกพีชเป็นพื้นที่สูงและถ้ามีความลาดชันเกินกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ควรปรับพื้นที่ให้เป็นแบบขั้นบันได หรือเป็นแบบขั้นบันไดเฉพาะต้น เนื่องจากดินบนที่สูงมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำกว่าการเตรียมหลุมปลูกขนาดของหลุมปลูกไม่ควรเล็กกว่า 0.7x0.7x0.7 เมตร ปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก 10-15 กิโลกรัม หรือเศษพืชและปูนขาวเพื่อให้ pH ของดินอยู่ระหว่าง 6.5-6.8 ถ้าขาดแคลนน้ำชลประทานช่วงปลูกที่เหมาะสมคือช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยอาจปลูกต้นตอก่อนแล้วทำการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีภายหลังหรือปลูกต้นพันธุ์ที่เปลี่ยนเป็นยอดพันธุ์ดีแล้ว สำหรับพื้นที่ที่มีน้ำชลประทานสามารถปลูกได้เมื่อต้นพีชมีขนาดพร้อมปลูก

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยแก้ต้นพีชนั้นต้องให้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์และควรใช้วัสดุคลุมดินส่วนปูนขาวต้องให้ทุกปี เพื่อลดความเป็นกรดของดิน การได้รับปุ๋ยของพีชอย่างถูกต้องตรงช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตต่างๆ และเพียงพอจะช่วยให้พีชเจริญเติบโตแข็งแรงและให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ติดผลสม่ำเสมอ ปุ๋ยสำหรับพีชแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ ปุ๋ยให้ในระยะที่พีชยังไม่ให้ผลผลิตและปุ๋ยที่ให้ในระยะที่พีชให้ผลผลิตแล้ว

1. การให้ปุ๋ยสำหรับพีชที่ยังไม่ให้ผลผลิต เป็นช่วงการเจริญเติบโตอายุ 1-2 ปี ควรให้ปุ๋ยครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งเช่น ทุก 30 วัน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 ในอัตรา 1:0:5 ประมาณ 50 กรัมต่อต้นต่อครั้ง เมื่อพีชโตขึ้นให้เพิ่มปริมาณปุ๋ยเป็นครั้งละ 100 กรัมต่อต้นต่อครั้ง โดยหว่านรอบทรงพุ่มในแนวพุ่มใบซึ่งบริเวณนี้จะมีรากอยู่มาก สำหรับปุ๋ยอินทรีย์จะใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุมโคนบริเวณทรงพุ่ม หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วควรพรวนดินกลบและให้น้ำทุกครั้งเพื่อให้ปุ๋ยละลาย

2. การให้ปุ๋ยในระยะที่พีชให้ผลผลิตแล้ว การให้ปุ๋ยในระยะนี้นับว่ามีความสำคัญมาก ปุ๋ยที่พีชได้รับจะนำไปบำรุงผลให้คุณภาพและสร้างกิ่งใหม่ที่จะให้ผลผลิตในปีต่อไป ปุ๋ยที่ใช้มี 2 ชนิด

-ปุ๋ยอินทรีย์ มีประโยชน์ช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างดิน ใส่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งในช่วงต้นพีชพักตัว

-ปุ๋ยเคมี มีความจำเป็นต่อพีชมาก โดยทั่วไปแนะนำให้ใส่อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งคือ

ช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่สำคัญมาก ต้นพีชผ่านการให้ผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว ต้นพีชต้องการอาหารเพื่อบำรุงต้นและสร้างตาดอกในกิ่งที่จะติดผลในปีต่อไป รวมถึงการเก็บสะสมอาการก่อนที่ต้นพีชจะพักตัว ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 0.5-1 กิโลกรัมต่อต้น ถ้าต้นพีชไม่สมบูรณ์อันเนื่องมาจากการให้ผลผลิตในช่วงที่ผ่านมาให้พิจารณาเพิ่มปุ๋ยสูตร 46-0-0 ปริมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อต้นบริเวณโคนต้น พร้อมปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 25 กิโลกรัม

ช่วงพีชพักตัวก่อนออกดอก ปุ๋ยที่ให้ในช่วงนี้ต้นพีชจะนำไปใช้ประโยชน์ในการสะสมอาหาร เพื่อให้กิ่งใหม่ที่สมบูรณ์ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพผลผลิตและความสมบูรณ์ของต้นที่จะให้ผลผลิตในปีต่อไป ควรใส่ปุ๋ยก่อนต้นพีชออกดอก 2-4 สัปดาห์ ประมาณเดือนธันวาคม โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ปริมาณ0.5-1 กิโลกรัมต่อต้น ควรพ่น ZnSO4 (5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร) ก่อนต้นทิ้งใบ

ช่วงผลพีชมีขนาดเล็ก หลังพีชตืดผลอายุ 2-4 สัปดาห์ ประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับ 46-0-0 และ 0-0-60 อัตรา 1:1:1 ปริมาณ 0.5-1 กิโลกรัมต่อต้น สำหรับปุ๋ย 46-0-0 จะช่วยบำรุงกิ่งและใบ มีผลทำให้การขยายขนาดของพีชให้ผลใหญ่ขึ้น

ช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังพีชติดผลอายุ 8-10 สัปดาห์ประมาณต้นเดือนมีนาคมควรใส่ปุ๋ย 15-15-15 ผสมกับ 0-0-60 ในอัตรา 1:0:3 ปริมาณ 200-300 กรัมต่อต้น เพื่อให้ผลพีชมีคุณภาพและรสชาติดี

นอกจากนี้ควรปรับ pH ของดินให้อยู่ระหว่าง 6.5-6.8 ด้วยปูนขาวอย่างสม่ำเสมอ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ก่อนการให้ปุ๋ยเคมีทางดิน อาจคลุมโคนต้นด้วยเศษวัชพืชเพื่อรักษาความชื้น

การให้น้ำ

น้ำมีความสำคัญต่อการพัฒนาผล คือช่วงหลังจากที่พีชติดผลในเดือนมกราคมจนถึงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 10-15 วัน จากนั้นจึงหยุดให้น้ำเพื่อให้รสชาติของผลดีขึ้น วิธีการให้น้ำสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ระบบน้ำหยดหรือระบบให้น้ำแบบพ่นฝอยหรือใช้แรงงานคนรด

การปลิดผล

โดยปกติพีชจะมีการออกดอกและติดผลมากกว่าที่ต้นจะสามารถเลี้ยงให้เป็นผลที่มีคุณภาพดีได้ ถึงแม้จะมีผลบางส่วนจะร่วงเองโดยธรรมชาติ เนื่องจากมีดารผสมเกสรไม่ดีหรือการพัฒนาของผลไม่สมบูรณ์ แต่ปริมาณผลยังมากไปจึงต้องปลิดผลบางส่วนทิ้งเพื่อให้ผลที่เหลืออยู่สามารถพัฒนาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีคุณภาพดี โดยจะทำการปลิดผลหลังจากติดผล 15-30 วันหรือหลังจากดอกบาน 2-3 สัปดาห์ ถ้าปลิดผลช้ากว่าที่กำหนดไว้ผล จะพัฒนาช้าทำให้คุณภาพต่ำ การไว้ผลจะพิจารณาจากความสมบูรณ์ของต้น โดยให้มีใบประมาณ 40 ใบ เพื่อเลี้ยง ผล 1 ผลหรือปลิดผลให้ห่างกัน 25-30 เซนติเมตร หลังจากปลิดผลแล้วทำการห่อด้วยถุงห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้เข้าทำลาย

การเก็บเกี่ยว

ในการเก็บเกี่ยวพีชนั้นจะใช้วิธีการดูสีผลเป็นหลัก โดยจะเก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นเหลืองและมีสีแดงเกิดขึ้นประมาณ 50-70 เปอร์เซ็นต์ของผล แล้วแต่พันธุ์โดยพันธุ์ EarliGrande จะเก็บเกี่ยวผลเปลี่ยนสีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ สำหรับพันธุ์ Tropic Beauty ต้องให้ผลสีแดงประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ พีชมีผลที่บางและมีผลที่อ่อนนุ่ม ดังนั้นการเก็บต้องทำด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้ช้ำเสียหาย โดยใช้มือจับผลแล้วค่อยๆบิดเล็กน้อย นำผลไปใส่ภาชนะที่สะอาดและมีวัสดุรองที่ป้องกันการช้ำของผล ขณะเก็บเกี่ยวต้องคัดแยกผลที่ถุงห่อผลขาดออกเพราะจะมีการทำลายของแมลงวันผลไม้ แล้วจึงนำไปคัดคุณภาพและบรรจุต่อไป

โรคและแมลงที่สำคัญ

โรคใบรู (Shot hole)

สาเหตุเกิดจาก เชื้อรา Stigmina carpophilla ลักษณะอาการเป็นจุดสีน้ำตาลบนใบ ขอบแผลมีสีเข้ม จุดมักหลุดหล่อนทำให้เป็นรู โรคใบรูที่เกิดจากเชื้อราแตกต่างจากที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือ จุดที่เกิดจากเชื้อรามีขนาดใหญ่และมักหลุดออกไปหมด ส่วนที่เกิดจากแบคทีเรียมักมีเนื้อเยื่อที่เป็นโรคติดค้างอยู่บริเวณขอบแผล โรคนี้จะสร้างสปอร์บนแผลที่เป็นโรคและเข้าทำลายใบโดยแพร่ระบาดได้ดีในสภาพชื้นฝนตก จึงพบการระบาดของโรคนี้มากในฤดูฝน การป้องกันกำจัดควรเน้นการป้องกันก่อนที่โนคจะระบาด โยพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราอย่างสม่ำเสมอในฤดูฝน ได้แก่ แมนโคเซป คาร์เบนดาซิม และคลอโรธาโรนิล

โรคใบรูจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial shot hole)

สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris pv. Pruni (E.F. Sm. Dows.) ลักษณะอาการสังเกตได้จากใบพีชมีลักษณะเป็นจุดชุ่มน้ำต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล โดยเกิดในลักษณะกระจายบนใบ เนื้อเยื่อสีน้ำตาลที่จุดบนใบจะแห้งแยกออกจากเนื้อเยื่อปกติและหลุดล่อนออกทำให้เป็นรู มีลักษณะคล้ายแมลงกัดกิน จุดที่เกิดมักเป็นจุดกลมหรืออาจเชื่อมกันและเมื่อหลุดออกจะทำให้มองเห็นเป็นแผลกว้าง อาการที่เกิดบนกิ่งจะทำให้เกิดอาการ Canker มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อสีเขียวเข้ม ขนานไปตามความยาวของกิ่งต่อมาจะมีสีแกมน้ำตาลและมักยุบตัวลง เชื้อถ้าทำลายใบอ่อนที่แตกใหม่จะทำให้ใบเริ่มเน่าดำตรงบริเวณเส้นใบก่อนที่ใบจะเน่าและแห้ง เมื่อเชื้อเข้าทำลายผลจะเกิดเป้นจุดสีน้ำตาลและเป็นแผลแตกที่ผิวผล แผลมักเชื่อมกันและมักมียางไหลออกมา ผลพีชสุกที่เป็นโรคมักจะมีเนื้อเยื่อรอบจุดเป็นวงสีเขียว เชื้อแบคทีเรียจะแพร่ระบาดได้ดีเมื่อถูกน้ำฝนและเชื้อจะเข้าทางขอบล่างของใบ สามารถป้องกันกำจัดได้โดยการฉีดพ่นสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ เพื่อป้องกันส่วนที่อ่อนของพีช ในกรณีที่โรคระบาดมากอาจฉีดพ่นสลับด้วย สเตปโตมัยซิน

โรคราสนิม (Rust)

เกิดจากเชื้อรา Tranzschelia discolor ลักษณะเป็นจุดเหลืองกระจายทั่วไปด้านใต้ใบมีกลุ่มราสนิมเกิดมากมาย จุดสีสนิมมักแตกออกและมีลักษณะคล้ายฝุ่นสีน้ำตาลแพร่กระจายรอบแผล จุดสีสนิมเมื่อเชื่อมกันจะทำให้แห้งเป็นจุดแห้งตาย ลักษณะอาการบนกิ่งจะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มเกิดกระจายบนกิ่ง ต่อมาจะสร้างกลุ่มสปอร์สีสนิมบนแผลที่แตก ส่วนบนผลจะเป็นจุดนูนสีน้ำตาลเชื่อมกันรูปร่างไม่แน่นอน เชื้อราจะพักตัวในกิ่งและใบที่ตายแล้วและแพร่ระบาดเข้าทำลายต้นพีชในสภาพอากาศที่ร้อนและมีความชื้นสูง ป้องกันกำจัดฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไพพิโคนาโซล

โรคราแป้ง (Powdery mildew)

เกิดจากเชื้อรา Sphaerotheca pannosa., Oidium sp. ลักษณะอาการเกิดที่ใบและยอดอ่อน ปรากฏเป็นสีม่วงจำนวนมาก ต่อมาจะเกิดเชื้อราสีขาวและใบจะชะงักการเจริญเติบโต ขนาดไม่สม่ำเสมอ ใบหงิกงอ ขาดวิ่น มีสีเหลืองซีด เชื้อราหากเข้าทำลายใบที่โตแล้วทำให้เป็นจุดสีเหลืองซีดหรือขอบใบสีม่วง จากนั้นเชื้อราจะเจริญปกคลุมทั่วไป ทำให้ใบเหลืองและร่วง หากเกิดในระยะต้นกล้าใบล่างๆที่เป็นสีม่วงจะชะงักการเจริญเติบโต เชื้อราแป้งที่พบในผลจะเห็นเป็นจุดเดียวหรือหลายจุดเชื่อมกันบนผล จุดมักขยายโตขึ้นทำให้เนื้อเยื่อแห้งผิวแตก การแพร่ระบาดของเชื้อราจะพักตัวในตาใบ เมื่อเจริญเติบโตก็แสดงอาการของโรคและสร้างสปอร์แพร่ระบาดทางลม ป้องกันกำจัดได้ด้วยการพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราระยะแตกใบอ่อนด้วยกำมะถัน หรือสารดูดซึมชนิดใหม่ เช่น ไทรอดิมีฟอน, มัยโคบูทานิลและไพราไซฟอส และควรฉีดพ่นที่ผลพีชเป็นระยะๆ

แมลงที่สำคัญ

สำหรับแมลงศัตรูที่สำคัญของพีช คือ แมลงวันผลไม้ แต่สามารป้องกันกำจัดได้เช่นเดียวกับไม้ผลทั่วๆไป โดยการห่อผลพีชหลังทำการปลิดผล สำหรับแมลงอื่นๆ เช่น เพลี้ยอ่อน ไรแดงและหนอนกินดอกและผลไม่พบการระบาดมากนัก สามารป้องกันกำจัดพ่นด้วยสารเคมีเมื่อพบการระบาดของแมลง

นอกจากนี้ธาตุอาหารรองก็มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของพีช เช่น ธาตุสังกะสี (Zn) ต้นพีชจะแสดงอาการขาดธาตุนี้โดยใบอ่อนจะเหลืองและมีขนาดเล็ก สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ซิงค์ซัลเฟต (Zinc sulphate) ทางดินหรืออาจฉีดพ่นที่ใบด้วยซิงค์ซัลเฟตเฮปตะไฮเดรท (Zinc sulphate heptahydeate) ในอัตรา 250 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตรหรือหากแสดงอาการธาตุเหล็ก (Iron) สามารแก้ไขโดยฉีดพ่นที่ใบด้วยไอรอนซัลเฟต (Iron sulphate) ในอัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 100 ลิตร