องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน - HKM

ฟรีเซีย

ชื่อสามัญ   Freesia

ชื่อวิทยาศาสตร์    Freesia spp.

ฟรีเซีย (Freesia spp.) เป็นไม้ดอกเมืองหนาวประเภทหัว มีสีสันสวยงาม กลิ่นหอม มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปแอฟริกาตอนใต้ ตามประวัติฟรีเซียถูกค้นพบโดย Christian Ecklon และได้ตั้งชื่อพืชนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่นักสรีระวิทยาชาวเยอรมันชื่อ Dr. Friedrich Heinrich Thoedor Freese ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางพืชสวน

การปลูกฟรีเซียเป็นพืชการค้าเริ่มตั้งแต่ปี 1873 แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายจนกระทั่งปี 1945 ฟรีเซียได้กลายมาเป็นไม้ดอกที่สำคัญ และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบ เช่น การนำมาปลูกริมขอบแปลง ปลูกลงในแปลง ปลูกเป็นไม้กระถาง แต่ที่ได้รับความนิยมที่สุด ได้แก่ การทำเป็นไม้ตัดดอก ในปัจจุบันพื้นที่กว่า 600 เฮกตาร์ ในทวีปยุโรปใช้ปลูกฟรีเซีย เนเธอร์แลนด์มีการปลูกฟรีเซียในโรงเรือน โดยมีพื้นที่ปลูกถึง 293 เฮกตาร์ และเป็นผู้นำในการผลิต ในปี ค.ศ. 1989/90 ผลิตหัวพันธุ์ฟรีเซียส่งขายทั้งสิ้น 178 เฮกตาร์ รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่นที่ผลิตหัวพันธุ์ฟรีเซีย ผลิตเป็นพื้นที่ 62 เฮกตาร์ ในปี ค.ศ. 1989

ลักษณะทางสัณฐานวิทยา

ฟรีเซียเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอยู่ในวงศ์ Iridaceae เช่นเดียวกับไอริส และแกลดิโอลัส มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Freesia spp. และมีชื่อสามัญเช่น Freesia, Freesie (เยอรมัน), Andblommejie หรือ Flissie (แอฟริกัน) มีจำนวนชุดโครโมโซม n = 11

หัว

เป็นแบบ corm มีความสูงมากกว่าความกว้าง มีลักษณะเป็นรูปกรวย เกิดจากการแปรรูปของโคนต้นใต้ดิน โดยขยายตัวออกด้านข้างเกิดเป็นหัวใหม่ซ้อนอยู่บนหัวเก่าซึ่งเหี่ยวแห้งไป ที่บริเวณโคนของหัวมีการสร้างหัวย่อย (cormlet) ซึ่งเกิดจากการแปรรูปของตาที่โคนปล้อง หัวย่อยมีโครงสร้างเหมือนกับหัวใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ที่หัวมีโคนใบห่อหุ้มอยู่เป็นชั้นๆ และเมื่อหัวแก่แล้วโคนใบดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นแผ่นแห้ง ทำหน้าที่ปกป้องหัวพันธุ์ไว้ เรียกว่า tunic

ราก

มี 2 ชุด ชุดแรกเป็นระบบรากฝอย (fibrous roots) เป็นรากที่เล็ก ยาว เรียว ไม่หยั่งลงในดินมากนัก รากชุดที่สอง เป็นระบบรากที่มีขนาดใหญ่ และเจริญหยั่งลึกลงในดินมากกว่าระบบรากฝอยเรียกว่า contractile root

ใบ

เป็นรูปดาบ (sword) เรียว ยาว การจัดเรียงตัวที่ฐานมีลักษณะคล้ายพัด

ดอก

มีกลิ่นหอม ไม่มีก้านดอก มีกลีบดอกเป็นแบบกลีบรวม (tepal) ที่ฐานกลีบรวมเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกจากกัน มีอยู่ 2 กลุ่ม คือพวกกลีบดอกซ้อน และกลีบดอกชั้นเดียว นอกจากนี้ในบางชนิดอาจมีลายเส้นหรือมีขนที่กลับดอก มีหลายสี เช่น ขาว ชมพู แดง เหลือง ทอง ส้ม ม่วง ม่วงอมน้ำเงิน และน้ำเงิน ในแต่ละดอกมีเกสรตัวผู้ 3 อัน ก้านชูเกสรเพศเมียแตกแขนงออกเป็น 3 แขนง ที่ปลายยอดเกสรเพศเมีย (stigma) แยกออกเป็น 2 แฉก รังไข่มีรูปร่างเป็นวงรี โดยมีผนังของช่องว่างที่ใช้ในการบรรจุเมล็ด (carpel) แบ่งออกได้เป็น 3 carpels

ช่อดอก

มีลักษณะเป็นแบบ spike มีก้านช่อเรียวยาว และหักมุมขวาบริเวณปลายช่อดอกออกทางแนวนอน เรียงตัวเป็นแถวเรียงเดี่ยว บานจากโคนไปปลายช่อ ใน 1 ช่อมีอย่างน้อย 10 ดอก นอกจากช่อดอกหลักแล้ว ในร่องใบของช่อดอกหลัก ยังเกิดกิ่งข้างที่ให้ช่อดอกได้ด้วย

ผล

มีลักษณะเป็นผลแห้งแตก (capsule) แบ่งออกได้เป็น 3 พู เมล็ดที่อยู่ภายในมีลักษณะกลมเป็นมัน

วงจรการเจริญเติบโต

ฟรีเซียเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีอายุหลายปีโดยมีวงจรการเจริญเติบโต (growth cycle) ประกอบด้วย 3 ระยะคือ ระยะการเจริญเติบโตทางใบ (vegetative phase) ระยะการเจริญเติบโตทางดอก (reproductive phase) และระยะพักตัว (dormancy) (ฉันทนา, 2533)

การเจริญเติบโตเริ่มต้นจากหัวที่พ้นระยะพักตัว และเมื่อได้รับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจึงเริ่มมีการเจริญเติบโตของราก (ฉันทนา และคณะ, 2540) ในระยะแรกของการเจริญเติบโตมีการสร้างระบบรากฝอยขึ้นมาก่อนโดยเกิดรอบๆ โคนของหัวเจริญแผ่ออกไม่หยั่งลึกลงในดินมากนัก (Imanishi, 1993) และต่อมามีการแทงหน่อใบที่ประกอบด้วยใบอ่อนห่อซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆขึ้นเหนือดิน (ฉันทนา และคณะ, 2540) ซึ่งใบชุดแรกที่โผล่พ้นออกมามีขนาดสั้น แผ่นใบหนา เรียกว่า sheath leaf เรียงตัวแบบสลับ (alternate phyllotaxis) ใบที่เจริญออกมาก่อนมีขนาดสั้นกว่าใบที่เกิดภายหลัง ซึ่งมีลักษณะคล้ายดาบ (ปิยะมาศ, 2544) ใบมีการเจริญเติบโตได้ระยะเวลาหนึ่งจึงเริ่มมีการสร้างตาดอก โดยตาที่อยู่บริเวณปลายยอดซึ่งเป็นตาใบ มีการเปลี่ยนแปลงการเจริญไปเป็นตาดอก และพัฒนาเป็นช่อดอกการสร้างใบหยุดลง เมื่อใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้วช่อดอกมีการยืดตัวแทงออกมา (ฉันทนา และคณะ, 2540) เมื่อต้นออกดอกได้ระยะหนึ่งช่อดอกเริ่มเหี่ยวแห้งไป เมื่อช่อดอกหมดอายุแล้วใบเริ่มเหี่ยวแห้งในขณะที่ส่วนของลำต้นใต้ดิน คือ หัวแม่ และรากเริ่มเหี่ยวแห้งเช่นเดียวกัน (ปิยะมาศ, 2544) บนพื้นที่สูงของประเทศไทยสามารถปลูกฟรีเซียได้ราวเดือนตุลาคม และดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ หลังออกดอกแล้วมีการสร้างหัวขึ้นใหม่ใต้ดิน และขยายขนาดใหญ่ขึ้น (โสระยา, 2544) เมื่อสร้างหัวใหม่มีรากอีกชุดที่มีขนาดใหญ่กว่าหยั่งลึกลงในดินมากกว่าคือ contractile root ทำหน้าที่หาอาหารและน้ำแทนรากฝอยที่เสื่อมสลายไป และยังช่วยในการยึดลำต้น (Imanishi, 1993) ต่อมาหัวเข้าสู่ระยะพักตัวประมาณเดือนพฤษภาคม เมื่อเก็บหัวขึ้นมาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หัวค่อยๆ พ้นระยะพักตัวเมื่อได้รับอุณหภูมิสูง และการพักตัวสิ้นสุดลงประมาณเดือนสิงหาคม

แถบประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพืชชนิดนี้ หัวฟรีเซียงอกในฤดูใบไม้ร่วงและออกดอกในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอุณหภูมิต่ำอยู่ในช่วง 8-10 องศาเซลเซียส ต่อมาในฤดูร้อนต้นเริ่มเหี่ยว (senescence) และหัวเข้าสู่การพักตัว อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนมีผลทำให้หัวเข้าสู่ระยะพักตัวและเริ่มงอกออกมาใหม่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (Imanishi, 1993)

ในช่วงการเจริญเติบโตมีอยู่ช่วงหนึ่งที่พืชสร้างหัวใหม่เพื่อใช้ในการสืบสายพันธุ์โดยเกิดการแปรรูปของส่วนโคนลำต้น บริเวณเหนือหัวเก่าขึ้นมาโดยปล้องจะขยายตัวออก ใน 1 หัวมีกี่ปล้องขึ้นอยู่กับจำนวน sheath leaf ถ้าต้นใหญ่ sheath leaf มากก็มีปล้องบริเวณหัวมาก หัวใหม่นั้นเริ่มเกิดบนหัวเก่าในช่วงที่ตาดอกเริ่มได้รับการกระตุ้นภายใต้สภาพอากาศเย็น และเพิ่มขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ต้นแม่ออกดอกตาที่อยู่บนสุดเริ่มพัฒนาเพื่อเข้าสู่วงจรของการเจริญเติบโตต่อไป ซึ่งเมื่อตาเหล่านี้หยุดพัฒนาหัวเข้าสู่ช่วงพักตัว หัวซึ่งผ่านอุณหภูมิสูงมาช่วงหนึ่ง จะพ้นระยะการพักตัว และใบเริ่มมีการพัฒนาและเจริญเติบโตเป็นเช่นนี้เรื่อยไป (Imanishi, 1993)

ขนาดของหัวแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับพันธุ์ และความสมบูรณ์ในช่วงสร้างหัวในขณะที่หัวย่อย (cormlet) พัฒนามาจากตาข้างที่อยู่ล่างสุดของหัวใหม่ที่กำลังพัฒนา หัวย่อยเกิดจากลำต้นใต้ดินบวมพองออกโดยถูกสร้างหลังจากออกดอก และสุกแก่พร้อมกันกับหัวใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นใต้ดิน (โสระยา, 2542)

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ฟรีเซียเป็นพืชที่ต้องการแสงเต็มที่ เหมาะสำหรับการปลูกกลางแจ้งโดยฟรีเซียจะให้ดอกหลังจากที่ได้รับอากาศเย็นจัดจึงเหมาะที่จะปลูกบนที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป เนื่องจากฟรีเซียเป็นไม้ดอกประเภทหัว การปลูกในดินที่มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายจะทำให้ได้หัวที่สมบูรณ์

การตลาด

ลักษณะที่เด่นของฟรีเซีย คือ ดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม โดยนำมาใช้งานดอกที่ตูมจะค่อยๆ บานทีละดอกจากดอกที่อยู่ล่างสุดขึ้นไป ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในการจัดดอกไม้ร่วมกับดอกไม้ชนิดต่างๆ หรือแม้กระทั่งการจัดโดยใช้ฟรีเซียเพียงอย่างเดียวก็มีความสวยงามเป็นอย่างมาก ในขณะที่การปลูกเพื่อทำเป็นไม้กระถางการบานของดอกบนต้นจะใช้เวลานานเป็นเดือน

การขยายพันธุ์

ฟรีเซียสามารถขยายพันธุ์จากหัวพันธุ์ที่เรียกว่า คอร์ม (corm) หรือหัวย่อยที่มีขนาดเล็กที่เรียกว่า คอร์มเมล (cormel) หรือจากการปลูกด้วยเมล็ดซึ่งนิยมใช้สำหรับงานปรับปรุงพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ โดยทั่วไปนิยมปลูกจากคอร์ม (corm) และคอร์มเมล (cormel)

การเตรียมแปลงปลูกและวิธีปลูก 

การเตรียมพื้นที่

บริเวณที่ปลูกฟรีเซียควรเป็นที่ๆ น้ำท่วมไม่ถึง ควรยกแปลงสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ขนาดของแปลงปลูกด้านบนควรกว้างประมาณ 80 เซนติเมตร มีร่องทางเดินระหว่างแปลงกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อให้การจัดการที่สะดวก ดินที่เหมาะสำหรับการปลูกฟรีเซียควรมีลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย ซึ่งมีการระบายน้ำและอากาศได้เป็นอย่างดี มีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง การเติมปุ๋ยหมักที่สะอาดจะช่วงปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดียิ่งขึ้น การขุดพลิกดินและตากแดดเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ก่อนการปลูก จะช่วยลดปริมาณศัตรูพืชโดยที่แสงแดดจะทำลายไข่ และตัวอ่อนของแมลงและไส้เดือนฝอย

เทคนิคการปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสมของฟรีเซีย คือ 20x20 เซนติเมตร ซึ่งพื้นที่ 1 ตารางเมตร จะปลูกฟรีเซียได้ 100 หัว การปลูกจะปลูกให้ลึก 3 นิ้ว จากระดับผิวดินถ้าปลูกตื้นเกินไปจะทำให้ต้นล้มง่าย หลังจากปลูกประมาณ 1 เดือน ฟรีเซียจะมีใบประมาณ 2-3 ใบ มีความสูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร ต้องใช้ตาข่ายสำหรับการพยุงลำต้นให้ตั้งตรง ขนาดช่องตาข่ายที่เหมาะสม คือ 15x15 เซนติเมตร ใช้ประมาณ 2 ชั้น แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 20 เซนติเมตร โดยชั้นบนสุดจะช่วยพยุงช่อดอกให้ตั้งตรง การคลุมแปลงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ฟางข้าว หรือแกลบดินซึ่งเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น จะช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของวัชพืช ลดการสูญเสียความชื้นจากดิน และป้องกันไม่ให้อุณหภูมิในแปลงสูงซึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตของพืชลดลง

การดูแลรักษา 

ฟรีเซียเป็นพืชที่ชอบแสงแดดเต็มที่ ซึ่งการปลูกกลางแจ้งจะทำให้ฟรีเซียเจริญเติบโตได้เต็มที่ เนื่องจากเวลาที่เหมาะสม ในการปลูกฟรีเซียตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝน การปลูกภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติกจะช่วยป้องกันน้ำฝนที่จะทำให้ต้นพืชเสียหายได้

การให้ปุ๋ย

การให้ปุ๋ยแก่ฟรีเซียจะเริ่มให้ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากปลูก เนื่องจากช่วงแรกๆ ฟรีเซียจะใช้อาหารที่สะสมในหัวเป็นส่วนใหญ่ มูลนิธิโครงการหลวงได้พัฒนาสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมกับไม้ดอกประเภทหัวโดยมีความเข้มข้นของธาตุอาหาร ดังนี้

- ไนโตรเจน  100 ส่วนต่อล้าน

- ฟอสฟอรัส   50 ส่วนต่อล้าน

- โพแทสเซียม  100 ส่วนต่อล้าน

โรคและแมลงศัตรูพืช

โรคที่มักก่อให้เกิดความเสียหายแก่ฟรีเซีย ได้แก่

โรคเน่าที่เกิดจากเชื้อรา Fusarium sp.

โดยจะทำให้หัวดอกเน่าเสียหาย สามารถเข้าทำลายพืชในทุกระยะการเจริญเติบโต อาการของการเข้าทำลายสังเกตได้จากต้นและใบของพืชจะเริ่มมีสีเหลืองและเหี่ยว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไม่ให้ผลผลิตหรือถ้าเกิดในระยะที่ออกดอกจะทำให้ดอกเหี่ยวไม่ได้คุณภาพ และเชื้อโรคสามารถแพร่ขยายกับพันธุ์พืชและน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูก

การแก้ไข เลือกหัวพันธุ์ที่สะอาดไม่มีตำหนิหรือแสดงอาการของโรค ดินที่ปลูกจะต้องไม่มีเชื้อโดยทำการย้ายแปลงปลูกไปยังที่ใหม่ที่ยังไม่เคยปลูกพืชนี้ ถ้าจำเป็นต้องปลูกซ้ำที่เดิมควรทำการฆ่าเชื้อ เช่น การอบดินด้วยสารเบซามิก-จี ก่อนปลูกหลังจากปลูกควรราดด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อรา เช่น เบนเลทผสมกับแคปแทน หรือดาโคนิลผสมกับรอฟรัลเพื่อควบคุมการระบาดของโรค และที่สำคัญน้ำที่ใช้ในการเกษตรจะต้องสะอาด

แมลงที่มักก่อให้เกิดความเสียหายแก่ฟรีเซีย ได้แก่

เพลี้ยไฟมักเข้าทำลายฟรีเซียในระยะแทงช่อดอก ซึ่งจะทำให้ช่อดอกเสียหาย โดยที่เพลี้ยไฟจะขูดแทะกลีบดอกทำให้กลีบดอกเป็นรอบด่าง

การแก้ไข โดยการพ่นสารเคมีเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยไฟ เช่น คอนฟิดอร์

หนอนกัดกินใบและต้นพืช 

โดยมักพบการเข้าทำลายของหนอนในทุกระยะการเจริญเติบโตของฟรีเซีย สาเหตุเกิดจากผีเสื้อกลางคืนวางไข่ไว้ที่ต้นพืช ฟักตัวเป็นหนอนตัวเล็กๆ กัดกินส่วนต่างๆ ของพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตผลผลิตเสียหาย

การแก้ไข โดยการตรวจแปลงบ่อยๆ ถ้าพบปริมาณเล็กน้อยก็ให้จับทำลาย แต่ถ้าระบาดมากก็ให้พ่นด้วยสารเคมีที่ทางศูนย์อารักขาของมูลนิธิโครงการหลวงแนะนำอย่างเคร่งครัด 

การให้น้ำ

ฟรีเซียเป็นพืชที่ต้องการความชื้นมากแต่ไม่ถึงกับแฉะ ควรรดน้ำในตอนเช้าเพื่อให้ใบของพืชแห้งในตอนเย็นป้องกันการระบาดของโรค การรดน้ำด้วยสายยางปลายฝักบัวฝอยละเอียดเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด การให้น้ำแบบน้ำหยดก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพแต่ต้นทุนค่อนข้างสูง ซึ่งน้ำที่ใช้รดฟรีเซียจะต้องเป็นน้ำที่สะอาด มีสภาพความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสม

การเก็บเกี่ยว 

ระยะการเก็บเกี่ยว ที่เหมาะสมสำหรับฟรีเซีย คือ ดอกล่างสุดยังตูมอยู่และเห็นสีชัดเจน ซึ่งจะสะดวกในการจัดการในด้านการคัดบรรจุและการขนส่ง

วิธีการเก็บเกี่ยว จะใช้กรรไกรหรือมีดที่ลับคม ตัดช่อดอกโดยให้เหลือใบติดอยู่กับต้น 4-6 ใบ ซึ่งจะทำให้หัวของฟรีเซียมีความสมบูรณ์มากขึ้น การตัดดอกควรตัดในตอนเช้าและแช่ก้านช่อดอกในน้ำทันที การเก็บรักษาดอกฟรีเซียไว้ห้องเย็นจะช่วยรักษาคุณภาพของดอกไม้ขณะรอการขนส่งหรือรอการจำหน่ายได้เป็นอย่างดี การใช้สารเคมียืดอายุการบานเช่น 8-HQS ความเข้มข้น 150 มิลลิกรัม ต่อลิตรร่วมกับน้ำตาลซูโครส 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในช่วงการเก็บรักษาในห้องเย็นจะช่วยอายุการใช้งานของฟรีเซียยาวนานยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง :

มูลนิธิโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน). 2549. คู่มือการผลิตไม้ตัดดอกและไม้ตัดใบ. มูลนิธิโครงการหลวง. เชียงใหม่. 375 หน้า.